สำนักข่าวซินหัวรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน ว่าเท็ต ซาน แอนเดอร์เซน คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สเมียนมา จากการประกวดมิสยูนิเวิร์สในเมืองย่างกุ้ง คืนวันศุกร์ที่ 7ผ่านมา เท็ต ซาน แอนเดอร์เซน นักออกแบบสาว เจ้าของแบรนด์ เซนต์ สตูดิโอ ซึ่งมีอิทธิพลสูงต่อวัฒนธรรมเมียนมา กล่าวว่า เธอมีเป้าหมายจะชนะการประกวดเป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของเมียนมาที่ ตูซาร์ วินท์ ลวิน สาวงามจากเมียนมา เคยผ่านเข้ารอบ 20 คน นับเป็นอันดับสูงสุดของนางงามชาวเมียนมาในเวทีประกวดนางงามจักรวาล
เท็ต ซาน เป็นหนึ่งในสาวงาม 52 คน ที่สปอนเซอร์จากเมืองใหญ่ส่งเข้าประกวด เธอเป็นผู้แทนจากเขตย่างกุ้งเหนือ ผู้ได้รับเลือกเป็น มิสยูนิเวิร์สเมียนมาที่จะเป็นตัวแทนประเทศเมียนมา เข้าประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 73 ในเม็กซิโก ซินหัวรายงานด้วยว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2024 นับเป็นครั้งที่ 11 ของเมียนมา ที่จัดการประกวดรายการนี้ ตั้งแต่มีการประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมาครั้งแรก ในปี 2013 และผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเมียนมาก่อนหน้าเธอคือ อัมรา โบ สาวงามจากเชียงตุง ตะวันออกรัฐฉาน
เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงซินหัวสื่อจีน เพียงสำนักเดียว ที่เสนอข่าวประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมา ว่า มีสปอนเซอร์ จากเมืองใหญ่ ในเมียนมา ส่งสาวงามเข้าประกวดถึง 52 คนแสดงให้เห็นว่า 52 เมืองใหญ่ทั่วประเทศเมียนมาอยู่ในภาวะปกติ หรือไม่ก็รัฐบาลกลางเนปิดอว์ควบคุม สถานการณ์ได้ ซึ่งซินหัวต่างกับสื่อโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น สำนักข่าววีโอเอและวิทยุเอเชียเสรี ตลอดถึงสื่อในเครือข่ายอย่างสำนักข่าวอิระวดี ที่ปั่นกระแสเลวร้ายโจมตีรัฐบาลทหารเมียนมาฝ่ายเดียว
ตัวอย่างเช่น ในขณะที่สำนักข่าวซินหัวของจีน เสนอข่าวประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมา สำนักข่าวอิระวดีเสนอข่าวโจมตี พลเอกมิน อ่อง หล่าย ประธานคณะผู้บริหารแห่งรัฐ ว่า ย่ำยีคุณค่าพุทธศาสนาที่ พลเอก มินอ่อง หล่าย ถวายรถเมอร์เซเดส เบนซ์ และรถเบนท์ลีย์แด่พระราชาคณะและมหาเถรสมาคม โดยสำนักข่าวอิระวดีภาษาอังกฤษโปรยข่าวว่า “หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้ปวารณาตัว เป็นอุปถัมภ์พุทธศาสนาได้ย่ำยีใจกลางของศาสนาพุทธ โดยการถวายรถเบนซ์และBentley ให้พระเถระระดับสูง ในพิธีถวายพาหนะในเมืองร่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.
อิรวะดี ให้รายละเอียดว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย ถวายรถยนต์หรูเป็นพาหนะแด่พระสังฆราชซึ่งเป็นพระราชาคณะสูงสุดในมหาเถรสมาคมเมียนมา ว่า พระสังฆราชองค์นี้
ออกมาสนับสนุนเผด็จการทหาร และต่อต้านขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อไม่นานมานี้ โดยให้เหตุผลว่า การรัฐประหารมีขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม หลังการประกาศสวามิภักดิ์กับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ เป็นสังฆราชของชเวยินนิกายา ซึ่งเป็นองค์กรสงฆ์ที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับสองของเมียนมา และ 1 ใน 9 องค์กรสงฆ์ของเมียนมา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากโจมตี เรื่องถวายรถเบนซ์แด่พระสังฆราชแล้ว สำนักข่าวอิระวดียังเสนอบทความโจมตีพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปว่า สนับสนุนทหารในการฆ่าประชาชน และจำแนกพระเถระชั้นผู้ใหญ่ว่า พระรูปไหนสนับสนุนรัฐบาลทหารพระเถระชั้นผู้ใหญ่ กลุ่มไหนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ถือเป็นเรื่องไม่บังควรไม่เหมาะสมสำหรับสื่อที่เสนอข่าวปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังในศาสนาและทำให้ความน่าเชื่อถือความเป็นสื่อหมดไป
ที่ผ่านมา อิระวดีเป็นต้นตอข่าวลือข่าวลวงแพร่หลายใส่ร้ายรัฐบาลทหารเมียนมาที่ไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันได้ ไม่ว่า จะเป็นข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายิงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์กองทัพเมียนมาตกมาแล้ว 28 ครั้งข่าวเครื่องบินรบเมียนมาทิ้งระเบิดใส่งานแต่งงานของแกนนำกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF)ในรัฐคะฉิ่น ทำเด็กเล็กและชาวบ้านตายสี่สิบกว่าราย หรือข่าวเครื่องบินรบกองทัพเมียนมาทิ้งระเบิดในหมู่บ้านในรัฐยะไข่ และตามมาด้วยกองทัพเมียนมายิงปืนใหญ่และลุยเข้าไปในหมู่บ้านฆ่าข่มขืนชำเราตลอดถึงเผาประชาชนทั้งเป็น ที่สำนักข่าวอิระวดีมักอ้างว่าได้รับข่าวจากผู้เห็นเหตุการณ์และข่าวบอกเล่าต่อๆ กันมา และเมื่อสื่อตะวันตกนำไปขยายความแพร่หลายจึงมักจะปิดท้ายข่าวว่า ไม่สามารถยืนยันข่าวนี้จากรัฐบาลทหารเมียนมาและแหล่งข่าวอิสระที่เชื่อถือได้
โลกภายนอกรวมทั้งผู้เสพข่าวในประเทศไทย จึงทึกทักเอาว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ รัฐบาลพลเอกมิน อ่อง หล่าย กำลังล่มสลาย และสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมาลุกลามไปทั่วทุกหัวระแหง หากมีคำถามว่าในประเทศเมียนมามีการสู้รบกันไหม? คำตอบคือในประเทศเมียนมามีการสู้รบกันจริงแต่การสู้รบประปราย ส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาสู้รบกันมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในอนาคตอันใกล้นี้
กล่าวคือ พื้นที่สู้รบส่วนใหญ่อยู่รัฐที่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐยะไข่ รัฐมอญ เป็นต้น ซึ่งในรัฐต่างๆ เหล่านี้มีการสู้รบเพื่อปกครองตนเองมาตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษปี 2492 ในเบื้องต้นกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้สู้รบต่อต้านป้องกันไม่ให้ทหารเมียนมารุกล้ำเข้ามาในเขตปกครองของแต่ละกลุ่ม แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นในราวทศวรรษ 2535 อิทธิพลและการสนับสนุนจากพรรคอมมิวนิสต์จีนค่อยๆ หมดไป เป็นเหตุให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องพึ่งพาตนเองจากการค้ายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายตลอดถึงขายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหาปัจจัยมาใช้เลี้ยงกองทัพ
เมื่อปัจจัยจำนวนมากมายมหาศาล หลั่งไหลเข้าสู่กลุ่มชาติพันธุ์ จากการค้ายาเสพติด และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดความแตกแยกแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันเองภายในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงกล่าวได้ว่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่สู้รบกันเองภายในไม่ได้ข้ามไปในเขตอิทธิพลของรัฐบาลกลางเมียนมาไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์โกก้าง คะฉิ่น ฉาน (ไทใหญ่) กะเหรี่ยง มอญ คะยาและชาติพันธุ์อื่นๆ ล้วนแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่ายชาติพันธุ์ไทใหญ่ ก็แตกแยกออกเป็นไทใหญ่เหนือ ไทใหญ่ใต้มอญก็แตกแยกออกเป็นมอญใหม่ มอญกู้ชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตกอยู่ขณะนี้ ก็แตกแยกออกเป็น 5 กลุ่ม เป็นกะเหรี่ยง KNU กะเหรี่ยง DKBA กะเหรี่ยง BGF กะเหรี่ยง KNLA และกะเหรี่ยง Kawthoolei ทั้ง 5 กลุ่มเป็นอิสระต่อกันในบางครั้งก็สู้รบแย่งชิงผลประโยชน์กันเอง จึงพูดได้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่สู้รบกันเองภายในไม่ค่อยมีรายงานรบกับทหารเมียนมา
หลังจาก พลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่า ซีไอเอ เข้าไปฟื้นฟู KNU ที่ล่มสลายไปตั้งแต่ปี 2545 ให้กลับมามีกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาร่วมกับ PDF ที่จัดตั้งโดยซีไอเอเช่นกัน ข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาจึงถูกปั่นให้เป็นข่าวใหญ่ตลอดเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเองก็พอใจที่สื่อตะวันตกปั่นกระแสสงครามกลางเมืองในเมียนมาได้สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ต่อไป
“พลเอกตาน ฉ่วย กับ พลเอกมิน อ่อง หล่าย นอนตีพุงสบายใจอยู่ในเนปิดอว์” แหล่งข่าวผู้คุ้นเคยกับกองทัพเมียนมากล่าวกับแนวหน้าและอธิบายว่าเมื่อสื่อส่วนใหญ่รายงานว่าการสู้รบรุนแรงในเมียนมา รัฐบาลทหารก็ใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมอยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่รีบจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่าสถานการณ์ภายในไม่ปลอดภัยสำหรับการเลือกตั้ง แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การปั่นกระแสของสื่อตะวันตกเข้าทางรัฐบาลทหารเมียนมา “เมื่อสื่อปั่นกระแสว่าการสู้รบรุนแรงทั่วประเทศรัฐบาลก็เพิ่มงบประมาณใช้ในกองทัพมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครตรวจสอบได้”
ข่าวสปอนเซอร์เมืองใหญ่ๆ 52 เมืองส่งสาวงามเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับข่าวพลเอกมิน อ่อง หล่ายถวาย Mercedes และ Bentley ให้ มหาเถรสมาคมเมียนมา จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า สถานการณ์ในสหภาพเมียนมา ไม่ได้เลวร้ายดังที่สื่อส่วนใหญ่รายงาน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี