“2,605,660,173 บาท” เป็นมูลค่าความเสียหายจาก“หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ)”โดยมาเป็น “อันดับ 1” ของเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับ “ภัยออนไลน์” ตามข้อมูลจากระบบแจ้งความออนไลน์เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.comของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่1 มี.ค. 2565-10 ก.พ. 2567 และในเดือน ก.ค. 2567ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว พบมูลค่าความเสียหายจากพฤติการณ์ “ซื้อของไม่ได้ของ-ซื้อของได้ไม่ตรงปก” แบบนี้แล้ว 149,775,304 บาท
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “การซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตเร็ว” ดังข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในไทยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่เกือบ 6 ล้านล้านบาทขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ตั้งแต่ปี 2561-2566 ยอดการจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจ 1,713 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.41 จาก 1,459 ราย ในปี 2565 และทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 2,270.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.12 จาก 1,922.56 บาท ในปี 2565 เป็นต้น
และเพื่อเป็นการป้องกันเหตุ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้ออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567” เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 ก.ค. 2567 ซึ่งสาระสำคัญคือ “ยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้” โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
นอกจากนั้น กฎหมายยังกำหนดให้ “ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทาง ต้องระบุ ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อน 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า” เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนโดยประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป
ในวงเสวนาหัวข้อ “Cybersecurity at the Age of Fake News : Are You Ready for the Next Threat?” เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ซึ่งจัดขึ้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NST Fair Thailand) ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้กล่าวถึงกฎหมายใหม่ของ สคบ. ว่า น่าจะทำให้ปัญหาซื้อของไม่ได้ของ-ซื้อของได้ไม่ตรงปกลดลง ทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีคำถามย้อนกลับจากผู้เข้าฟังเสวนาเช่นกัน ว่า “แล้วจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ค้าออนไลน์บ้างหรือไม่?” เพราะอีกด้านหนึ่ง พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ก็เคยเจอ “ลูกค้าประเภทที่แกะสินค้าแล้วพบว่าแม้จะตรงปกแต่ไม่พอใจก็ปฏิเสธไม่รับสินค้า-ไม่จ่ายเงินแล้วให้ส่งคืน” ซึ่ง พล.อ.ต.อมร ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างมุมของผู้ค้าที่เจอลูกค้าซึ่งตอนแรกอยากซื้อสินค้าแต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจ กับมุมของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงในการซื้อ-ขายสินค้า ที่ฝ่ายหลังพบปัญหามาก ทำให้ สคบ. ต้องหามาตรการแก้ไข
“ในการคุ้มครองก็คงอาจจะต้องมีในฝั่งของแม่ค้าด้วยว่าถ้าเกิดเขาแกะของแล้วใช่จริงแล้วยังจะคืนอีกเนื่องจากแค่ว่าเปลี่ยนใจไม่อยากจ่ายเงิน ก็คงต้องมีเรื่องแบบนี้ที่จะต้องตามแก้กันต่อไปด้วย คงเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง” พล.อ.ต.อมร กล่าว
พล.อ.ต.อมรยังกล่าวด้วยว่า การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ หากซื้อผ่านแพลตฟอร์มจะมีการป้องกันระดับหนึ่ง อย่างแพลตฟอร์ม 2 เจ้า ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย หากซื้อมาแล้วได้สินค้าไม่ตรงกับที่ประกาศขาย สามารถไปทำเรื่องขอส่งคืนสินค้าและรับเงินได้ที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง แต่ที่ปรากฏเป็นคดีความกันมากๆ พบว่าบางครั้งเป็นการตกลงซื้อ-ขายกันเองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อเห็นโฆษณาสินค้าที่ถูกใจ ประกอบกับมีการโพสต์ข้อความเชียร์ไว้จำนวนมาก (ซึ่งอาจเป็นหน้าม้าก็ได้) ทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะถามหาความรับผิดชอบได้ยาก
อีกทั้งการตกลงซื้อ-ขายสินค้ากันเองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ในบางกรณีอันตรายยิ่งกว่าสูญเสียทรัพย์สิน เพราะถึงขั้นล่อลวงไปฆาตกรรมโดยนัดพบกันในสถานที่ลับตาคน เนื่องจากไม่มีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางในการคัดกรอง ถึงกระนั้น การใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ แนะนำให้เลือกแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในประเทศไทย ต้องระมัดระวังอย่าเห็นแก่ของถูก
เพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดปัญหาขึ้นจะได้รับการคุ้มครอง!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี