สังคมการเมืองภาคใต้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว พรรคการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดคือพรรคกิจสังคม ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของนโยบายเงินผัน ถนนคึกฤทธิ์ สะพานคึกฤทธิ์ บุกเบิกความเจริญไปสู่ชนบทแบบทันตาเห็น โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ได้รับค่าตอบแทนค่าจ้างแรงงานในการขุดดิน ถางป่า ฟันไม้ อย่างทั่วหน้า ไม่เหมือนปัจจุบัน การพัฒนาชนบท ทุกชิ้นงานเงินลงทุนทั้งหมดจะตกไปอยู่ในกลุ่มผู้รับเหมา ใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงาน ชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อยมาก การกระตุ้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านก็ไม่เกิดขึ้น
พรรคกิจสังคม เป็นพรรคการเมืองที่มีกำลังภายในสูง โดดเด่น แม้จะมีเสียง สส.แค่ 18 เสียงก็ยังสามารถผลักดัน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างสง่างาม กระนั้นก็ตามในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แกนนำพรรคกิจสังคมรุ่นหลัง ไม่สามารถนำพาพรรคไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ สุดท้ายก็กลายเป็นตำนาน ถนนคึกฤทธิ์ สะพานคึกฤทธิ์ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ฝากไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง
วิกฤตพรรคการเมืองของชาวปักษ์ใต้ในขณะนี้กำลังเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังคณะกรรมการบริหารพรรคในปัจจุบันตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย แลกกับเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ได้เติบโตในภาคใต้ต่อจากพรรคกิจสังคม เป็นที่นิยมชื่นชอบสมาชิกพรรคปราศรัยเก่ง มีนักเรียนนอก นักเรียนทุนคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจน้ำดี นักคิดนักเขียน เข้าเป็นสมาชิกมากมาย กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทรงคุณภาพ
แต่ล่าสุด ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสียงพี่น้องชาวใต้ถึงพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พบว่า ร้อยละ 54.19 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 14.58 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 12.98 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ร้อยละ 41.37ระบุว่า ไม่เลือก, ร้อยละ 41.15 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ, ร้อยละ 17.48 ระบุว่า เลือก
ผลสำรวจนี้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ก็รู้อยู่แก่ใจ แต่เมื่อเลือกที่จะไปหามเกี้ยวให้แพทองธาร ชินวัตร ก็ต้องพร้อมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก เลือกตั้งครั้งต่อไปได้สส.แค่ไหนก็แค่นั้นพร้อมร่วมรัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร โอกาสที่จะผลักดันพรรคประชาธิปัตย์ให้กลับมาเป็นสถาบันการเมืองก็คงเกิดขึ้นยาก และอาจต้องปิดฉากลงเหมือนพรรคกิจสังคมที่ชาวปักษ์ใต้เคยชื่นชมมาก่อนเหมือนกับที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้
อย่างไรก็ตามบทบรรณาธิการฉบับอังคารที่แล้ว ตั้งชื่อหัวข้อว่า “พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวันตาย” สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนี้อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินใจว่าประชาธิปัตย์ตายไปจากเวทีการเมืองตราบใดที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในทางการเมือง แต่ควรปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เลือกตั้งหนต่อไปก็จะได้รู้กันว่าประชาธิปัตย์จะได้ สส.น้อยหรือมากกว่าเดิมจากจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะผลโพลในวันนี้ กับอีก3ปีข้างหน้าอาจจะแตกต่างกันก็ได้ใครจะไปรู้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี