หัวข้อบทความวันนี้ ยกมาจากพาดหัวหนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ที่ทำรายงานพิเศษนักรบอาสาอเมริกันจัดตั้ง “แนวหน้านานาชาติต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist International Front= AIF) ว่ากันว่า เพื่อรวบรวมทหารนานาชาติสู้รบทหารพม่ามาอยู่ด้วยกันในรัฐชิน สหภาพพม่าใกล้ชายแดนอินเดีย
อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว ระลึกถึงคราวทำข่าว กะเหรี่ยง KNU ที่ “มาเนอปลอว์” เมื่อสี่ห้า สิบปีก่อนและเมื่ออ่านถึงยุทธศาสตร์การหาทุนสนับสนุนของเขาทำให้นึกถึงเอ็นจีโออเมริกันที่อ้างว่า ตามหาทหารอเมริกันสูญหายในสงคราม (Missing In Action) หรือ MIA เมื่อนำสองเรื่องนี้มารวมกัน ก็บอกได้ถึงเป้าหมายของหนุ่มอเมริกันผู้ก่อตั้ง IAF ในรัฐชิน
ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ ที่มาเนอปลอว์ และเอ็นจีโอ-MIA เมื่อสี่สิบปีก่อน ที่นักแสวงโชคชาติตะวันตกมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากผลสงครามเวียดนามและสงครามกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่า
หลายปีหลังจากอเมริกาถอนตัวออกจากเวียดนามในปี 1973 มีรายงานว่าทหารอเมริกันเกือบสามพันคนอยู่ในบัญชีผู้สูญหายขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นที่วิตกกังวลของรัฐบาลวอชิงตันตลอดถึงคนรักและครอบครัวผู้สูญหาย
กองทัพสหรัฐตั้งหน่วยงานปฏิบัติพิเศษตามหา MIA ในเวลาเดียวกันมีปัจเจกชน คณะบุคคลรวมตัวกันปฏิบัติการค้นหาทหารอเมริกันผู้สูญหายในสงครามเวียดนาม เมื่อมีผู้ปรารถนาดี มีจิตสาธารณะออกตามหาผู้สูญหายโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
คนอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวญาติมิตรของผู้สูญหาย รู้สึกซาบซึ้งและศรัทธาผู้เสียสละ พากันบริจาคเงินค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ให้เอ็นจีโอ-MIA ที่ได้รับความสนใจจากสื่อในสหรัฐทุกครั้งที่เอ็นจีโอ-MIA เคลื่อนไหวใกล้ประเทศเวียดนาม หนังสือพิมพ์ ทีวีในสหรัฐพาดหัวตัวไม้ยกให้เป็นข่าวใหญ่
ประมาณปี 2530 เอ็นจีโอ-MIA แจ้งว่า มีภารกิจตามหาผู้สูญหายในประเทศลาวใกล้ชายแดนเวียดนาม สำนักข่าวรอยเตอร์สมอบหมายให้ผู้เขียนติดตามทำข่าว ส่วนสำนักข่าวเอพีมอบหมายให้ มอลลี่ ย่ง คนไทยเชื้อสายไต้หวันทำข่าวนี้เช่นกัน พวกเราเตรียมเสบียงเครื่องแต่งกายสำหรับเดินป่าในประเทศลาว เวลานั้นคอมมิวนิสต์ลาวยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
เอ็นจีโอ-MIA นัดพบกับผู้เขียน และมอลลี่ที่ริมโขงแห่งหนึ่งในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี พวกเราเช่าเรือรอตั้งแต่เช้ามืด ประมาณแปดโมงเช้า เรือเอ็นจีโอ-MIA ออกจากท่าเรือแห่งหนึ่ง เรือพวกเราแล่นตามไปคาดว่าน่าจะถึงกลางแม่น้ำโขง เห็นคณะเอ็นจีโอ-MIA ปล่อยเรือขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ยาวประมาณหนึ่งฟุตลงในน้ำแล้วหันหัวเรือกลับ
ด้วยความอยากรู้ตามประสานักข่าว พวกเราบอกให้คนขับเรือตามไปดูสิ่งนั้น ในนาทีนั้นเอง เรือตำรวจน้ำลาวมุ่งหน้ามาทางเรา โชคดีที่เรือหน่วยตรวจการแม่น้ำโขง(นปข.) ของไทยเร็วกว่า ตีวงอ้อมมาคุ้มกันเรือนักข่าว ก่อนเรือลาวมาถึงนปข.ประกบเรากลับท่าเรือโขงเจียมอย่างปลอดภัย
หัวหน้าหน่วย นปข.โกรธมากที่พวกเราล้ำน่านน้ำลาวซึ่งเสี่ยงถูกคอมมิวนิสต์ลาวจับ นปข.สอบสวนเราและกล่าวว่า ต้องเสียปรับหรืออาจถูกดำเนินคดี บังเอิญหัวหน้า นปข.พูดสำเนียงทองแดง ผู้เขียนเลยพูดกันเป็นภาษาใต้ และขอตัวออกไปส่งข่าวก่อนค่อยกลับมาเสียค่าปรับ ส่วนมอลลี่ ถือหนังสือเดินทางไต้หวัน ถูกสอบสวนอยู่นาน และเสียค่าปรับสี่ร้อยบาท
หลังจากนั้น เราพบว่าในเรือเด็กเล่นที่เอ็นจีโอ-MIA ปล่อยลงน้ำ มีสต๊ิกเกอร์ติดอยู่ด้านหนึ่งของธนบัตร 100 ดอลลาร์ พร้อมด้วยข้อความเขียนว่า“ผู้พบเห็น หรือ มีข้อมูล MIA ที่เชื่อถือได้ ให้มารับรางวัลหนึ่งล้านดอลลาร์ คืนนั้นพวกเอ็นจีโอ-MIA เมาหัวราน้ำในบาร์แห่งหนึ่ง สรวลเสเฮฮาเรื่องผู้สื่อข่าวถูกจับ
นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมว่า เอ็นจีโอฝรั่ง สร้างข่าวหาเงินกับผู้บริจาคที่ไม่รู้ความจริง เนื่องจากสื่อส่วนใหญ่ปั่นกระแสดราม่าจนชาวบ้านเข้าใจว่า เอ็นจีโอ
เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในภารกิจต่างๆ ดังนั้น เมื่ออ่านบทความนักรบอาสาอเมริกัน จัดตั้งหน่วย “แนวหน้านานาชาติต่อต้านฟาสซิสต์” ในรัฐชิน จึงนึกถึงการทำข่าว
กะเหรี่ยง
สี่สิบกว่าปีก่อน มาเนอปลอว์ ฐานที่มั่นกะเหรี่ยง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสาละวินในพม่า ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มาเนอปลอว์ เป็นฐานที่มั่นสำคัญ และเป็นกองบัญชาการสหพันธ์กะเหรี่ยงแห่งชาติหรือ KNU นายพลโบเมียะ ประธาน KNU มีบ้านพักหลังใหญ่เป็นเรือนปูนกึ่งไม้อยู่ห่างชายฝั่งแม่น้ำประมาณ 500 เมตร
ผู้สื่อข่าวต้องการสัมภาษณ์ โบเมียะ ต้องนั่งเรือไปหาที่ มาเนอปลอว์ บ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวพักแรมอยู่ที่นั่นหลายวัน และทุกครั้งที่ไปมาเนอปลว์ พบเห็นชาวตะวันตก
นอนค้างคืนในเรือนรับรองหลังใหญ่รวมกับผู้สื่อข่าวหลายครั้งที่เห็นฝรั่งแบกปืนอาก้าเดินแถวเข้าป่าไปรบแนวหน้าร่วมกับทหารกะเหรี่ยงครั้งละห้าคนบ้าง สามคนบ้าง
ฝรั่งพวกนั้นไม่ยอมให้ถ่ายภาพ หรือพูดกับสื่อ พวกเราจึงได้ข่าวปะติดปะต่อจากทหารกะเหรี่ยงบ้าง นายพลโบเมียะ บ้าง ว่า เป็นนักรบอาสา เป็นที่ปรึกษาทางทหารจากออสเตรเลียบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งฝรั่งพวกนั้นรำคาญเราพิมพ์ข่าวกับเครื่องพิมพ์ดีดเสียงดัง (ตอนนั้นยังไม่มี Laptop) ขณะที่พวกเขานอนพักผ่อน จากสำเนียงพูดบอกได้ว่าไม่ใช่ออสเตรเลีย และตลอดเวลากว่าสิบปีที่พบเห็นฝรั่งนักรบอาสาไม่พบว่า พวกเขาได้รับบาดเจ็บหรือล้มตายแม้แต่รายเดียว
ดังนั้น เมื่ออ่านบทความที่นักข่าวสาว เข้าไปสัมภาษณ์นักรบอาสาอเมริกัน ถึงรัฐชินในพม่า โดยส่วนตัวรู้สึกว่า พฤติกรรมคล้ายกับเอ็นจีโอ-MIA และชาวตะวันตกที่พบเจอใน มาเนอปลอว์เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว เพราะตอนหนึ่งระหว่างให้สัมภาษณ์เขาพูดว่า ก่อตั้ง“แนวหน้านานาชาติต่อต้านฟาสซิสต์” ใหม่ๆ ผมหาเงินบำรุงได้ 1,000 ดอลลาร์ภายในยี่สิบชั่วโมง”
อาซาด เป็นชื่อจัดตั้ง นักรบอาสาวัย 24 ปีสัญชาติอเมริกัน ว่ากันว่าเขาเป็นหนึ่งในนักรบต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นในพม่าอย่างมีนัย เขาทิ้งอเมริกาไว้เบื้องหลังเดินทาง 8,000 ไมล์จากรัฐทางใต้อเมริกามาสู่สมรภูมิรบที่เต็มไปด้วยความรุนแรงคร่าชีวิตพลเรือนหลายพันคนในสหภาพพม่า
อาซาด เดินทางไปรัฐชิน ตะวันตกพม่า เพื่อร่วมทำสงครามกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในสงครามยืดเยื้อ หน่วยรบเล็กๆของเขากำลังเติบโตขึ้นและหวังชัยชนะในไม่ช้า
“ผมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความคน เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว กลับบ้านไปใช้ชีวิตปรกติ” อาซาด กล่าวกับเทเลกราฟ ณ ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งในรัฐชิน “ผมไม่ได้มาที่นี้เพราะถูกปลุกเร้าให้เข้าสู่สงคราม ผมไม่ได้มาที่นี้เพื่อเพิ่มความขัดแย้ง หรือเป็นนักท่องเที่ยวผจญภัย” อาซาด กล่าว
..“ผมมาด้วยวาระจำเพาะเพื่อทำให้นักรบต่างชาติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน..ผมมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นคน เพื่อความเชื่อมโยงต่อกันในกระบวนการความคิดสากล”
กองร้อยของอาซาดเป็นชุดเล็กๆ แต่สำเนียงภาษานานาชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมกันต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สับสนวุ่นวาย เมื่อทหารยึดอำนาจ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งยูเอ็น รายงานว่าคร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 5,350 คนและเป็นผู้พลัดถิ่น 3.3. ล้านคน (ตามบทความในเทเลกราฟ)
บัดนี้รัฐบาลทหารโอดครวญว่าสูญเสียอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน อาซาดเป็นผู้นำนักรบต่างชาติหน่วยเล็กๆที่จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกพม่าเรียกว่า “แนวหน้านานาชาติต่อต้านฟาสซิสต์” หรือ AIF
“AIF เป็นยุทธศาสตร์ในห้วงเวลาสำคัญ เป็นการจัดวางตำแหน่งที่ดี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน นี่เป็นการร่วมกันปฏิวัติ เพื่อชัยชนะและศักยภาพของการส่งปัจจัยบำรุงจากภายนอกมารวมกัน..” ถึงจุดนี้เขากล่าวว่า สามารถรณรงค์หาเงินบำรุงได้ถึง 1,000 ดอลลาร์ภายใน 24 ชั่วโมง
อาซาดกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้ผ่านการฝึกทหารมาก่อน แต่เคยร่วมรบแนวหน้ากับกองกำลังเคิร์ดในซีเรีย 4 ปี และหลังจากนั้นกลับไปพักผ่อนที่บ้านสองเดือน ก่อนตัดสินใจเดินทางมารัฐชิน เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน เขาสู้รบแนวหน้า และจัดตั้งหน่วยฝึกทหารเพื่อทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วย Sniper
“ผมตั้ง AIF ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน” อาซาดเน้นกับเทเลกราฟ และเสริมว่า “ผมสนับสนุนสงครามในยูเครนแต่ไม่รู้สึกผูกพันถึงแม้มีเพื่อนๆรบอยู่ที่นั่นก็ตาม” อาซาด กล่าวสรุป
พิเคราะห์จากบทสัมภาษณ์อนุมานได้ว่านักแสวงโชคหนุ่มอเมริกันได้แรงบันดาลใจ จากการปั่นกระแสของสื่อตะวันตก ที่ประโคมข่าวว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังล่มสลาย จึงเป็นโอกาสทองของนักแสวงโชคที่จะสร้างตัวจากวิกฤติการเมืองพม่า ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกจัดตั้งกองกำลัง IAF ในรัฐชิน
เนื่องจากว่า ทางตะวันออกพม่าใกล้ชายแดนไทยมีขาใหญ่อดีตนายทหารอเมริกัน เดวิด อูแบงก์ จัดตั้ง Free Ranger for Burma ปลุกปั่นกลุ่มชาติพันธุ์ทำสงครามกับทหารพม่ามานานแล้ว
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี