สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำเสนอเรื่องราวจากวงเสวนา “ชี้วัดสถานะหญิงไทย 33 ล้านคน ประเทศไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง รัฐบาลทำอะไรอยู่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “งาน 8 มีนา วันสตรีสากล ยุคที่หญิงไทยยากจน ตกงาน เลี้ยงเดี่ยว ถูกทำร้าย หลอกอุ้มบุญ เร่ขายมดลูก For all women and girls ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง เข้าถึงสิทธิ เท่าเทียม เป็นธรรม เสริมพลังผู้หญิงเด็กหญิงทุกคน” จัดโดย มูลนิธิเพื่อนหญิง และภาคีเครือข่ายเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2568 โดยมีตัวแทนนักการเมืองหญิงจาก 4 พรรคการเมือง ร่วมให้มุมมอง
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ พรรคประชาชน กล่าวว่า พรรคประชาชนพยายามจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน เช่น ร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ ร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ร่างกฎหมายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ร่างกฎหมายลาคลอด ซึ่งพรรคประชาชนขอไว้ 180 วัน แต่จากการถกเถียงกันในที่ประชุมกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้อยู่ที่ 120 วัน แต่อย่างน้อยก็ขยับจากของเดิมคือ 90 วัน
ทั้งนี้ การเพิ่มวันลาคลอดไม่ใช่เพียงการสงเคราะห์ผู้หญิงแต่เป็นสิทธิที่ผู้หญิงควรได้รับและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง เพราะการมีลูกคือบุคลากรในการพัฒนาประเทศ ร่างกฎหมายการศึกษาที่จะพยายามทำให้ถ้วนหน้ามากขึ้น ส่งเสริมสิทธิของนักเรียนและครู การผลักดันให้เพิ่มการบรรจุผู้หญิงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย สถานีตำรวจบางแห่งมีอัตรากำลังแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ส่งผลต่อการดำเนินคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือความรุนแรงในครอบครัว เช่น การให้ปากคำที่ผู้หญิงอาจไม่สบายใจที่ต้องเล่าเรื่องให้เจ้าหน้าที่ผู้ชายฟัง
“มีกฎหมายเรื่องลาปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างก้าวหน้าอยู่พอสมควรแล้วก็มีการถกเถียงในสภาเหมือนกัน แต่เราก็ใส่เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.แรงงาน ฉบับใหม่หลังจากที่เราถูกปัดตกไปเราก็ยื่นใหม่ เราก็ปรับคำ ปรับมาตราและยังคงยืนยันเรื่องลาปวดประจำเดือน เป็นคนหนึ่งเหมือนกันที่ถ้าประจำเดือนมาในวันแรกคือเดินไม่ได้เลย อาการมาครบ ปวดหัวไมเกรน เดินท้องเกร็ง ปวดหน้าอก ปวดทุกอย่าง การทำงานวันที่ประจำเดือนมาวันแรกมันยากมาก เรามองว่าการที่เรามีสิทธิ์เอาไว้ก็เป็นการที่ช่วยผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีขึ้น และเป็นการรับรองสิทธิ์ซึ่งร่างกายเราอาจไม่เหมือนกัน” ศศินันท์ กล่าว
พลอยทะเล รัศมีแสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง “การพัฒนาจิตใจ – จิตใต้สำนึก” จากปัญหาการทำร้ายร่างกายโดยเฉพาะในครอบครัว ซึ่งหลายครั้งที่เห็นในข่าว แฟนหรือสามี-ภรรยา ฝ่ายชายไปมีคนอื่น ฝ่ายหญิงไปจับได้แล้วแต่กลับถูกฝ่ายชายทำร้ายร่างกาย การที่เชื่อว่าเราสามารถทำร้ายคนที่เราบอกว่ารักหรือคนในครอบครัวของเราได้ ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูเรื่องจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก หรือแม้แต่คนที่ทำงานจนลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังต้องคิดอยู่
“ถ้าย้อนกลับไปในอดีต คนเราเลือกที่จะไม่ทานเนื้อสัตว์เพราะกลัวบาปกรรม เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีวิทยาศาสตร์เข้ามา แต่ปัจจุบันคนเราเลือกทำหรือไม่ทำอะไรเพราะมีผลวิจัยจากวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นคงจะต้องมีการเชื่อมเรื่องพวกนี้เข้าไปให้ทุกคนได้แตะถึงและรับทราบว่าการที่เราจะทำเรื่องที่ผิด-เรื่องที่ถูก ต้องมีกระบวนการในการคิด ในการกระทำอย่างไร ก็คงอาจเป็นเรื่องนี้ที่สำคัญและน้อยคนที่จะพูดถึงเพราะเรื่องแบบนี้ไม่สามารถจะนำเข้าสู่สภาได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจความรู้สึก” พลอยทะเล กล่าว
รัดเกล้า สุวรรณคีรี ที่ปรึกษารองนายรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เล่าถึงการไปดูงานที่ ออสเตรเลีย แล้วพบตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับมิติทางเพศ (Gender Data)” ใช้ข้อมูลสื่อสารกับทั้งฝ่ายการเมืองและสังคมให้เห็นความสำคัญเรื่องผู้หญิงหรือประเด็นทางเพศ เพราะหากผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและมั่นใจที่จะออกมาทำงานที่มีมูลค่ามากขึ้น ก็สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าได้
“ข้อมูลจะเป็นตัวที่บ่งบอกให้นักการเมืองหรือผู้ผลักดันนโยบาย หรือข้าราชการ หรือทุกคน เห็นเป็นในรูปเดียวกันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ผู้หญิงจะต้องมาสู้แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มเล็กๆ แต่จริงๆ เป็นเรื่องของประเทศชาติเป็นเรื่องของความมั่นคง เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เขา (ออสเตรเลีย) สร้างเป็นหน่วยงานต่างหากขึ้นมาเลยที่จะดูแลในเรื่องการเก็บสถิติและเขียนนโยบาย – ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศในมิติของเพศ และเหมือนเป็นหน่วยงานกลางที่เหมือนแจกตัวชี้วัดให้หน่วยงานต่างๆ แล้วก็คอยตามด้วย ซึ่งอันนี้เข้มแข็งและเขาให้ความสำคัญมาก” รัดเกล้า กล่าว
ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมองการพัฒนาผู้หญิงใน 2 ด้าน คือ 1.ความเท่าเทียม ซึ่งในยุคนี้ไม่เฉพาะผู้หญิงแต่เป็นทุกเพศ อย่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง กับ 2.เศรษฐกิจดิจิทัล อย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนหนึ่งคือต้องการเปิดทางไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ การเข้าใจการใช้สื่อเพื่อทำมาหากินได้มากขึ้น เพราะเราไม่สามารถหลีกหนีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ
ส่วนเรื่องปัญหาความรุนแรง ด้านหนึ่งพบว่าทางกระทรวงยุติธรรมกำลังขับเคลื่อนเรื่องการสัมภาษณ์เหยื่อ อาจสัมภาษณ์แล้วบันทึกเทปไว้เพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ทำให้เหยื่อบอบช้ำ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่จะขอความร่วมมือสื่อไม่ฉายภาพซ้ำๆ หรืออธิบายรายละเอียดของความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบ
“วันนี้เราไม่มีอะไรบอกสื่อมวลชนได้ที่จะทำให้ลด คิดดูว่าสื่อมีหลายสิบสื่อ อาจจะเป็นร้อยด้วยซ้ำ ในทางตรงเราไม่สามารถไปควบคุมได้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต จะบอกว่าควรจะอย่างไรเพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า จริงๆ ความรุนแรงต่อให้ไม่ได้เป็นเหยื่อ ถ้าเราได้ฟังความรุนแรงทุกวันมันก็จะทำให้สุขภาพจิตไม่ดีด้วย” ทพญ.ศรีญาดา กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี