เหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานนี้ สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพราะความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลเท่านั้น แต่เพราะอาคารหลังนั้นคือสำนักงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ และถึงแม้จะมีเหตุแผ่นดินไหว อาคารที่ได้มาตรฐานไม่ควรพังทลายได้ง่ายเช่นนี้ นี่จึงสะท้อนความย้อนแย้งของระบบราชการไทยได้อย่างชัดเจนและเจ็บลึก
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมหวนคิดถึงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เคยทำไว้เมื่อเกือบสิบปีก่อน เรื่อง Corruption in Thailand: A Study of Corruption and Anti-Corruption Reforms in Thailand’s Construction Sector ซึ่งศึกษาความเป็นไปของการคอร์รัปชันในวงการก่อสร้างของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับโครงการขนาดเล็กไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งในเชิงนโยบาย โครงสร้างระบบ และพฤติกรรมของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ตอนนั้น ผมหวังว่างานวิจัยนี้เมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นเพียง “เรื่องเก่า” ที่ใช้เตือนใจได้เท่านั้น แต่เมื่อเห็นภาพอาคารของหน่วยงานตรวจสอบถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา กลับรู้สึกว่าความจริงในวันนั้นยังเป็นจริงอยู่จนถึงวันนี้
งานก่อสร้างของภาครัฐในประเทศไทยมีวงจรชีวิตที่แน่นอน ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ จัดซื้อจัดจ้าง ก่อสร้าง ไปจนถึงการส่งมอบและตรวจรับแต่แทบทุกช่วงของวงจรชีวิตนี้ล้วนเปิดช่องให้การคอร์รัปชันแทรกตัวเข้าไปได้อย่างแนบเนียน ตั้งแต่การบิดเบือนผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อให้ดูจำเป็น ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่มีความจำเป็นเลย การแทรกแซงขอบเขตโครงการ (TOR) เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนหรือเครือข่ายทางการเมือง ไปจนถึงการกำหนดเงื่อนไขที่กีดกันคู่แข่งที่มีความสามารถ
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างปัญหาการล็อกสเปกและฮั้วประมูลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีการเรียกรับ “ค่าคอมมิชชั่น” ซึ่งบางกรณีสูงถึง 15-30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ ข้อมูลจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2543 ยังระบุชัดเจนถึง “เรตราคาใต้โต๊ะ” เช่น การเร่งรัดการอนุมัติงวดจ่ายอาจต้องจ่ายเพิ่ม 15 เปอร์เซ็นต์ การขออนุญาตเปลี่ยนวัสดุเป็นของด้อยคุณภาพจ่ายเพิ่มรายเดือน หรือแม้แต่การขอขยายระยะเวลาก่อสร้างก็มีการเรียกรับ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่างาน รวมไปถึงการให้ผลประโยชน์แฝงกับผู้มีอำนาจเพื่อแลกกับตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการ
กระบวนการคอร์รัปชันเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงเกินจริง แต่ยังกระทบต่อคุณภาพของโครงการโดยตรง เมื่อเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างจริง ผู้รับเหมาหลายรายเลือกใช้วัสดุด้อยคุณภาพ หรือดำเนินงานต่ำกว่ามาตรฐานที่ระบุไว้ในสัญญา โดยได้รับความร่วมมือหรือการเพิกเฉยจากวิศวกรที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน และเมื่อถึงช่วงการตรวจรับงาน ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยให้ผ่านทั้งที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐ แต่ยังส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานในระยะยาว
แม้ประเทศไทยจะมีองค์กรอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือการใช้ระบบ e-bidding เข้ามาช่วยเพิ่มความโปร่งใส แต่ผลการศึกษาพบว่ายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล การตรวจสอบแบบมีส่วนร่วม และกลไกการลงโทษที่ยังไม่เข้มแข็งมากพอ ยิ่งเมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองและระบบราชการที่ยังคงเต็มไปด้วยเครือข่ายอุปถัมภ์ ก็ยิ่งเห็นชัดว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จำเป็นต้องทำมากกว่าแค่การออกกฎหมายใหม่หรือสร้างหน่วยงานเพิ่มเติม
ถึงเวลาที่เราจะต้องจริงจังกับการเปิดเผยข้อมูลแบบครบวงจร ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทุกขั้นตอนของโครงการ ตั้งแต่ TOR ราคากลาง รายงานตรวจรับ ไปจนถึงการประเมินผลหลังโครงการเสร็จสิ้น ต้องปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ตรวจสอบย้อนหลังได้ พร้อมสร้างระบบคัดกรองผู้รับเหมาที่มีประวัติไม่ดี ไม่ใช่ปล่อยให้กลับมารับงานซ้ำๆ ได้อีก ต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ และสนับสนุนให้เกิดการติดตามจากภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง
ที่สำคัญคือต้องใช้เทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Big Data มาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง เช่น การเสนอราคาต่ำกว่าตลาดมากผิดปกติ หรือการชนะงานซ้ำซากโดยผู้รับเหมารายเดิม ขณะเดียวกันบทลงโทษก็ต้องเป็นจริง ไม่เลือกปฏิบัติ และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อสร้างแรงจูงใจใหม่ให้กับระบบ อย่างเช่นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นองค์กรภาคประชาชนพัฒนา ACT Ai ขึ้นมา และการเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ได้อย่างเป็นระบบ อย่างที่มีโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตั้งแต่เริ่มโครงการไม่ใช่เข้ากลางทาง หลังจากจัดจ้างผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้คุมงานเสร็จไปแล้ว เหมือนอย่างโครงการตึก สตง. นี้
นอกจากนี้ เรื่ิิองน่าเศร้านี้อาจเป็นผลของความเสื่อมโทรมของประเทศไทยในเรื่องการทุจริตต่างๆ ที่ลามมาถึงวิศวกร ที่มีคำกล่าวถึงความสำคัญของคุณภาพและมาตรฐานของแพทย์และวิศวกรว่า แพทย์นั้นหากประมาทเลินเล่อก็จะทำให้คนไข้ตายได้ 1 คน แต่ถ้าวิศวกรประมาทเลินเล่อ ทำผิดพลาดคนจะตายเป็นร้อย เกิดเป็นจริงขึ้นมา
เมื่อครั้งที่โรงแรมโรยัลพลาซ่า ที่โคราชถล่มลงมาเมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้คนเสียชีวิตถึง 137 คน และบาดเจ็บ 227 ราย จำเลยที่ 1 ที่ตำรวจตั้งข้อหาทันทีคือ วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างและเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างด้วย ส่วนจำเลยหมายเลข 2 เป็นเจ้าของโรงแรมและพวก ส่วนจำเลยอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 15 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการก่อสร้างได้ศาลฎีกาได้ตัดสินให้วิศวกรผู้ออกแบบและเป็นผู้เซ็นลงนามเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างด้วย มีโทษจำคุกตลอดชีวิต
เหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดมีกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาชีพวิศวกร ให้มีสภาวิศวกรขึ้น เพื่อให้มีองค์กรของวิศวกรที่มีอำนาจออกกฎเกณฑ์ช่วยดูแลกันเอง มิให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาทำหน้าที่ออกแบบ และ ควบคุมงานได้ มีการออกแบบจรรยาบรรณวิศวกร ห้ามมิให้วิศวกรไปลงชื่อต่างๆ โดยมิได้ปฏิบัติงานอย่างแท้จริง ซึ่งในกรณีอาคาร สตง. นี้ ก็มีวิศวกรผู้ลงนามออกมารับว่าเป็นลงนามเป็นผู้ออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง และมีวิศวกรอีกรายออกมาแจ้งความว่า มีผู้ปลอมแปลงลายเซ็นของตนไปใช้ในเอกสารของบริษัทผู้ควบคุมงาน
ถึงวันนี้เหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาเกือบเดือนแล้ว แต่ผลการสอบสวนของตำรวจก็ยังไม่ได้ชี้ตัวผู้ต้องหาได้แม้แต่รายเดียว ทำให้ประชาชนต่างก็พากันหวั่นเกรงว่าผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในโศกนาฏกรรมนี้อาจจะออกมาเป็นภัยธรรมชาติอันเป็นเหตุสุดวิสัย อีกเช่นเคย
ตึกที่ถล่มลงมาไม่ได้กระทบเพียงชีวิตของคนจำนวนมากและอาคารหนึ่งหลังเท่านั้น แต่มันกระทบถึง “ความศรัทธา” ที่กำลังถล่มลงตามไปด้วย เพราะภัยที่เราเผชิญไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นจากระบบที่ล้มเหลวถ้าเราไม่กล้าเผชิญหน้ากับต้นเหตุของปัญหา วันหนึ่งสิ่งที่ถล่มอาจไม่ใช่แค่ตึก หากแต่เป็นรากฐานของประเทศทั้งประเทศ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี