การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 วาระแรก ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.นี้
โดยงบประมาณ 3,780,600 ล้านบาทที่กระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งงบรายจ่ายประจำ งบลงทุน งบชำระหนี้ของรัฐ ซึ่งในปีนี้ หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดเรียงตามลำดับ 1-10 คือ
1.งบกลาง 632,968 ล้านบาท ลดลงจากปี 2568 จำนวน 209,032 ล้านบาท 2.กระทรวงการคลัง 397,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 8,197 ล้านบาท 3.กระทรวงศึกษาธิการ 355,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 14,333 ล้านบาท
4.กระทรวงมหาดไทย 301,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2568 จำนวน 6,852 ล้านบาท 5.กระทรวงกลาโหม 204,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 4,713 ล้านบาท 6.กระทรวงคมนาคม 200,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 7,403 ล้านบาท 7.กระทรวงสาธารณสุข 177,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 5,673 ล้านบาท 8.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 140,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 8,058 ล้านบาท 9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 130,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 7,483 ล้านบาท 10.กระทรวงแรงงาน 68,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2568 จำนวน 21.5 ล้านบาท
สถานการณ์ปัจจุบัน หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ว่าจะผ่านสภาหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าว ความขัดแย้งระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลคือเพื่อไทย
กับภูมิใจไทย ผ่านกรณีการทำคดี ฮั้วเลือก สว. ที่ถูกมองว่า นี่คือ “สงครามตัวแทน” ของ“ขั้วแดง” กับ “ขั้วน้ำเงิน”
ขณะที่แกนนำของทั้งสองพรรค ต่างก็ออกมายืนยันว่า สส.ของพรรค จะยกมือผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณอย่างแน่นอน
ประเด็นเรื่อง ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จะ“ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” อาจจะไม่น่ากังวลมากนัก เพราะดูจากสถานการณ์ทางการเมืองแม้ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย นับวันจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น แต่สิ่งที่สังคมน่าจะให้ความสนใจมากกว่านั้นคือ ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณ ที่เป็นเงินมาจากภาษีของประชาชนคนไทยนั้น จะถูกใช้จ่ายไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้การใช้เงินงบประมาณ รั่วไหล ไร้ประสิทธิภาพ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ประเทศไทยของเรายังคงติดกลุ่มประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูง และมีในทุกระดับ ไม่ว่าจะหน่วยงานท้องถิ่น หรือระดับชาติ
ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ด้วยแล้ว ยิ่งไม่เห็นโครงการ หรือมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเลยในการแก้ปัญหานี้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับเห็นความพยายามอย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือ นักโทษคดีคอร์รัปชั่น ผ่านกฎระเบียบต่างๆ ให้ได้รับโทษน้อยจริงๆ น้อยกว่า คำพิพากษาของศาลมาก จนคนในสังคมพูดกันทั่วว่า “โกงแล้วติดคุกไม่นานก็ได้ออกมาใช้เงินแล้ว” ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างชัดเจน
ดังนั้น ต่อให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณผ่านมาเป็นกฎหมายออกมาใช้ ก็ต้องเตรียมใจยอมรับกันเถิดว่า ภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน มันจะต้องเกิดการรั่วไหล ไปสู่กระเป๋าของคนโกง อยู่ที่ว่ามากหรือน้อยแค่นั้นเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี