วัดเจดีย์ หรือวัดไอ้ไข่ หรือวัดเจดีย์ไอ้ไข่ ตั้งอยู่ที่ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เดิมเป็นวัดร้างเชื่อกันว่าสร้างมานานนับ 1,000 ปี มีเพียงเจดีย์โบราณเก่าเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2500 มีการบูรณะวัดเจดีย์ขึ้นมาใหม่พระเข้ามาจำวัดชาวบ้านใกล้เคียงจึงมาปฏิบัติศาสนกิจวัดเจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานของ “พ่อท่าน” พระพุทธรูปเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่ยังเป็นวัดร้าง
จากเรื่องราวเสียงที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรได้สมหวังจากรูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9-10 ขวบ ที่ตั้งอยู่ในศาลาในวัดเจดีย์ ที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ จนกลายเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านละแวกใกล้วัดไปจนถึงแทบทุกจังหวัดในภาคใต้ที่เชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” ทั้งโชคลาภและค้าขาย
ทั้งมีการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่าสถานที่ตั้งวัดเจดีย์นั้นเมื่อก่อนได้มี หลวงปู่ทวดเกจิอาจารย์ดังสายปักษ์ใต้ได้มาปักกลด เดินธุดงค์อยู่บริเวณนั้น ส่วนไอ้ไข่นั้นเป็นวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9-10 ขวบ เป็นลูกศิษย์ซึ่งติดตามหลวงปู่ทวด
ทุกวันนี้ผู้คนทั่วทุกสารทิศพากันไปกราบไหว้ไอ้ไข่บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งจัดทัวร์ไปเที่ยวนครศรีธรรมราชโปรแกรมที่ขาดไม่ได้ คือ กราบไหว้ไอ้ไข่ที่วัดเจดีย์ เพื่อขอพรตามใจปรารถนา คนที่มากราบไหว้บางส่วนอาจเป็นหน้าเดิมๆ เพราะได้สิ่งที่สมหวัง จึงมาเเก้บน แรงศรัทธาไอ้ไข่ทำให้เที่ยวบินเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวจากวันละ 14 เที่ยวบิน เป็นกว่า 30 เที่ยว มีสายการบินเปิดตัวเพิ่มขึ้น โรงแรมในจังหวัดมีอัตราเข้าพักร่วมร้อยละ 90อำเภอใกล้เคียงได้รับอานิสงส์อย่างทั่วหน้าในช่วงวันหยุด4-7 กันยายน พ.ศ. 2563 มีเงินสะพัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช 800 กว่าล้านบาท ในอดีตที่เป็นวัดร้างมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่เศษ ทอดกฐินได้ปีละ 2-3 พันบาท ปัจจุบันมีเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ ทอดกฐินได้ปีละ 20 กว่าล้านบาท เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มเข้ามาขอพร
ไอ้ไข่กันมากขึ้น บางคนสมหวังดังใจหมายบริจาคเงินถึง7 หลัก วันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีคนเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่าหมื่นคน
วัตถุมงคล “ไอ้ไข่วัดเจดีย์” แต่ละรุ่นได้รับแรงศรัทธาจากผู้คนจำนวนมาก นำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ล่าสุดรุ่น “ยอดทรัพย์ 64” ซึ่งจัดสร้างโดยวัดเจดีย์เองมีเหรียญวัตถุมงคลไอ้ไข่วัดเจดีย์ แบบและขนาดต่างๆวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างศาลาประดิษฐานพ่อท่านเจ้าวัดอุโบสถเสนาสนะ และพัฒนาวัดเจดีย์ต่อไปอีกทั้งเชิดชูไอ้ไข่เปิดจองตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563รับเหรียญจริงเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ปรากฏว่ากระแสจองเหรียญไอ้ไข่วัดเจดีย์รุ่นนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วสารทิศ
แรงศรัทธากับชื่อเสียงไอ้ไข่ที่โด่งดังไปทั่วภูมิภาค ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต่างต้องการวัตถุมงคลไอ้ไข่มาบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลจึงไม่น่าแปลกใจที่มีวัตถุมงคลไอ้ไข่ที่ไม่ได้ออกมาจากวัดเจดีย์ ให้บูชาตามร้านพระเครื่องและตามร้านค้าออนไลน์ สนนราคาที่ให้เช่าค่อนข้างจะสูงไม่นับไอ้ไข่ปลอมที่ตอนนี้มีกลาดเกลื่อน
ปัจจุบันมีการใช้ชื่อไอ้ไข่ไปเปิดเป็นวัดไอ้ไข่สาขาต่างๆ และจัดทำวัตถุมงคลให้เช่าบูชา เพราะวินาทีนี้สามารถหารายได้จากที่คนศรัทธาไอ้ไข่ ทำให้มีข้อถกเถียงและเรียกร้องสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่”
ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์จะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่า โอน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ประเภทของงานที่มีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานวรรณกรรมงานนาฏกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดีงานทั่วๆ ไป ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
ผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อสร้างสรรค์ผลงานแล้วเสร็จ โดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือแจ้งข้อมูล การรับจดทะเบียน หรือรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นการรับรองว่าผู้แจ้งข้อมูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงเรียกว่า เป็นการจดแจ้ง ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อให้เกิดสิทธิ์ เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบและใช้ประโยชน์ เมื่อต้องการขออนุญาตใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งต่างจากเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรที่ต้องมีการจดทะเบียน จึงจะได้รับสิทธิ์
จากฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่าวัดเจดีย์แจ้งผลงานเกี่ยวกับไอ้ไข่แล้วทั้งสิ้น 11 ผลงาน โดยแจ้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 จำนวน 10 ผลงาน ได้แก่ ผ้ายันต์ 4 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม รูปหล่อ 3 ผลงาน และเหรียญ 3 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม และล่าสุดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในปี พ.ศ.2563 เพิ่มอีก 1 ผลงาน ในประเภทงานวรรณกรรมหนังสือ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” กรณีไอ้ไข่ ที่แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์โดยวัดเจดีย์ในฐานะเป็นนิติบุคคล
สำหรับคำว่า ไอ้ไข่ จัดว่าเป็นคำสามัญ ไม่มีใครที่จะถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้คำนี้ หากมีการสร้างวัตถุมงคลและใช้คำว่าไอ้ไข่เหมือนกัน แต่รูปแบบและลักษณะของไอ้ไข่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ความเป็นเจ้าของสิทธิ์ของทางวัดเจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับไอ้ไข้นั้น ได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ตลอด 50 ปี ไม่ว่าจะมี
วัดไหนที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องนำผลงานของวัดเจดีย์ไปกระทำการใดๆ ก่อนได้รับอนุญาตไม่สามารถทำได้
การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย
วัดบางแห่งได้เอาความศรัทธา ความเชื่อมากำหนดเป็นกฎเกณฑ์ในการประกอบพิธีความเชื่อ การสะเดาะเคราะห์ต่างๆ เช่น กรณีปีชงที่ต้องใช้เครื่องสักการะของวัดเท่านั้นในการประกอบพิธี หากเป็นการซื้อนอกวัด ทางวัดจะไม่ประกอบพิธีให้
ไม่ว่า ไอ้ไข่ จะมีในวัดเป็นจำนวนหลายวัด และมีรูปปั้นตลอดจนเหรียญออกมาหลายรุ่น ที่ล้วนอ้างว่า เป็นของแท้ก็ตาม
ยังไม่สำคัญเท่า จิตวิญญาณของไอ้ไข่ และแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ว่าเป็นเช่นไร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี