เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้ “เดอะพีค เรสซิเดนซ์” คอนโดฯพักอาศัยบนเนินเขา ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต้องรื้อถอน โดยศาลปกครองชั้นต้น ตัดสินว่า ที่ดินแปลงที่ก่อสร้างเดอะพีค เรสซิเดนซ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายป่าไม้ ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก.
สำหรับโครงการนี้ ได้มีชาวบ้านหาดกะตะน้อย ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1863 เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ที่ตั้งของโครงการอยู่ในพื้นที่ป่า ความลาดชันเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าไม้มีสภาพของป่าที่ไม่ผลัดใบไม่มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อน จึงเป็นการออกเอกสารสิทธิมิชอบส่งผลให้การอนุญาตการก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
โครงการนี้มีมากกว่า 400 ห้อง ได้ขายให้คนต่างชาติและคนไทยที่ต้องการซื้อเพื่อการลงทุนและเพื่ออยู่อาศัย โดยได้ขายเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียง 3-4 ยูนิตเท่านั้น ลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นคนต่างชาติ ที่มี จีน รัสเซีย และยุโรป
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามศาลชั้นต้น ส่งผลให้เจ้าของโครงการต้องรื้ออาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้หมดเพื่อคืนสภาพพื้นที่ป่าให้กลับมาเหมือนเดิมให้มากที่สุด ทั้งต้องดูแลไม่ให้มีการบุกรุกใหม่เกิดขึ้น
เจ้าของโครงการได้เยียวยาความเสียหายต่อลูกค้าโดยย้ายลูกค้าทั้งหมดในโครงการเดอะพีค เรสซิเดนซ์ ไปอยู่โครงการอื่นของบริษัท
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฟ้องบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และโรงแรมระดับ 5 ดาว ริมชายหาดฉางหลางตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เนื้อที่รวมกว่า 37 ไร่ให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองไหโล๊ะ ป่าเลนคลองปอ และป่าเลนคลองหละ เนื่องจากพบว่า การออกเอกสารสิทธิประเภท น.ส.3 ก. และโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อุทยานแห่งชาติ ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะมีผลตามกฎหมาย คือ บุคคลใดจะยึดถือครอบครอง หรือยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ไม่ได้
ประชาชนส่วนใหญ่ในอดีตมีความยากจน ไม่มีที่ทำกิน ทำให้ไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินว่างเปล่าของรัฐ รวมทั้งเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าด้วย รัฐเห็นว่า หากปล่อยให้ประชาชนเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยไม่มีขอบเขต จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติของป่าจึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมและคุ้มครองป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
กฎหมายแต่ละฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
จะกำหนดแนวเขตพื้นที่สำหรับที่จะทำการคุ้มครองหรือสงวนไว้ แต่การกำหนดแนวเขตดังกล่าวเป็นการกำหนดจากรูปแผนที่ หรือแผนผังระวางต่างๆ ของส่วนราชการ หากไม่ได้ออกไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่แท้จริงอาจทำให้เกิดปัญหาแนวเขตที่กฎหมายประกาศใช้ไปทับซ้อนกับพื้นที่ที่ประชาชนเข้าครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อน นอกจากนี้ พื้นที่เดียวกันแต่เอกสารที่หน่วยราชการแต่ละแห่งถือ อาจมีแนวเขตแสดงถึงพื้นที่ดินที่ต่างกัน
การบุกรุก และจับจองทำประโยชน์ ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบ ปรากฏเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง พื้นที่บางแห่งออกเอกสารสิทธิมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี บางครั้งได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างผิดกฎหมายมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายต่อหลายทอด เมื่อเป็นเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบมาตั้งแต่แรก ศาลมีอำนาจในการเพิกถอน
หากมีการซื้อขายที่ดินแปลงนั้น เพราะแม้จะมีโฉนดที่ดิน แต่การออกโฉนดที่ดินนั้นออกทับที่ในส่วนของพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวน คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่ามีเอกสารสิทธิที่ออกโดยสำนักงานที่ดิน การซื้อขายไม่น่ามีปัญหา แต่หากเบื้องหลังการได้มาไม่ถูกต้อง แม้จะมีการครอบครองเกิน 10 ปี ผู้ครอบครองไม่สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ โดยอาศัยเหตุครอบครองปรปักษ์ได้ ผู้ซื้อจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ซื้อต้องไปฟ้องคดีเพื่อเรียกเงินจากผู้ขาย หรือเเม้กรณีได้ที่ดินมาจากการขายทอดตลาด ผู้ซื้อจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ จะยกการซื้อจากการขายทอดตลาด เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมายันรัฐไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562 โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555 ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติ ที่จะโอนแก่กันมิได้ การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งการที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลย โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ผู้ที่ซื้อที่ดิน หรือได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใกล้อุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวน ควรตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินให้ดีๆ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี