nn ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties :UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์สหราชอาณาจักร
ต้องยอมรับว่าการจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงก็ต้องเกิดจากความร่วมมือและลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจากทุกภาคส่วน ซึ่ง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวของประเทศ ได้ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน ของ กนอ. ภายในปี ค.ศ.2050 (I-EA-T Carbon Neutrality 2050) เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในการขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality 2050 ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมศุลกากร บริษัท เวสท์ แมนเนจเม้นท์ สยามจำกัด (WMS) และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ โดวะอีโค่ ซิสเต็มส์ จำกัด (Dowa Eco Systems)จากประเทศญี่ปุ่น เผาทำลายสารทำความเย็นที่จับกุมได้จากการลักลอบนำเข้าประเทศกว่า 10,000 ถัง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่าเตาเผาที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบด (Fluidized Bed) ที่ กนอ.ได้รับความช่วยเหลือด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เตาเผาพร้อมระบบผลิตไอน้ำภายใต้โครงการอนุรักษ์พลังงานและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจากองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ NEDO แห่งประเทศญี่ปุ่น และบริหารโดยบริษัท เวสท์ แมนเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ซึ่งใช้เงินลงทุน 420 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ โครงการบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ หรือ BPEC เพื่อเผาทำลายสารทำความเย็นที่กรมศุลกากรจับกุมได้ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10,000 ถัง
ทั้งนี้ กนอ.ได้อนุญาตให้บริษัทฯ เผาสารทำความเย็นดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่ต้องควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% โดย บริษัท โดวะ อีโค่ ซิสเต็มส์ จำกัด และ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ได้พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่นมาดำเนินการที่ประเทศไทยจนประสบผลสำเร็จ
สำหรับการเผาทำลายสารทำความเย็นที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงครั้งนี้รวมประมาณ 147 ตัน ซึ่งในการเผาล่าสุด (30 พ.ย.2565) เพียงวันเดียวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วกว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน เกินครึ่งของเป้าหมายปี 2566 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2 ล้านตันของคาร์บอน ทั้งที่ยังไม่ผ่านไตรมาส 1 ด้วยซ้ำ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญมากและต่างชาติก็ให้ความชื่นชมว่าเป็นครั้งแรกของโลก และที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในที่สุด
นายวีริศ กล่าวอีกว่า บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด เป็นโรงงานต้นแบบในการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ WMS โดยมีการบริหารจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำมากำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถนำความร้อนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไอน้ำ รวมถึงผลิตไฟฟ้าได้ ปัจจุบันสามารถจัดการได้ทั้งของเสียอันตรายและไม่อันตราย รวมถึงสารทำความเย็นด้วย นอกจากนี้ยังศึกษาและพัฒนาการจัดการไฮบริดแบตเตอรี่จนสามารถดำเนินการติดตั้งเตาเผาสำหรับจัดการไฮบริดแบตเตอรี่ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับเตาเผาฟลูอิดไดซ์เบด เป็นระบบเตาเผาที่ใช้ทรายเป็นตัวกลางในการนำความร้อน โดยหลักการในการเผาทำลายสารทำความเย็นจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บสารทำความเย็นจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น ระบบทำความเย็นในรถยนต์ โดยจะดูดสารทำความเย็นใส่ไว้ในถังเก็บ ก่อนที่จะส่งมากำจัดที่เตาเผา ก๊าซร้อนที่เกิดขึ้นจากห้องเผาจะถูกส่งไปยังหม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำ ก่อนจะส่งต่อเข้าสู่ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศของเตาเผา ด้วยการควบคุมอัตราการป้อนสารที่กำหนด จะทำให้เตาเผาสามารถกำจัดสารทำความเย็นได้มากกว่า 99.99% สามารถตรวจวัดได้จากอัตราการระบายมลพิษทางอากาศที่ปล่องระบายอากาศของโครงการ ทั้งนี้ เตาเผาฟลูอิดไดซ์เบด สามารถเผาของแข็งได้ประมาณ 150 ตันต่อวัน และเผาของเหลวได้ประมาณ 123 ตันต่อวัน
ขณะที่นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดี กรอ. กล่าวว่าตั้งแต่ ปี 2558 มีการทดลองเผาสารทำความเย็นด้วยการควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% ซึ่งในที่สุดการกำจัดสารทำความเย็นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นจริง โดยที่บริษัทฯ สามารถรับสารทำความเย็นที่คงค้างทั้งหมดของกรมศุลกากร จำนวนมากกว่า 10,000 ถัง มาเผาทำลายที่เตาเผาครั้งนี้ โดยความร่วมมือของจัดการสารทำความเย็นของหลายหน่วยงานถือเป็นต้นแบบที่แท้จริงในการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันหาวิธีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนเพื่อเป็นการส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อไป
นายยาซุฮารุ ยะใน ประธานกรรมการ บริษัท Dowa Eco systems จำกัด (บริษัทโดวะ อีโคซิสเต็ม จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด และ บริษัทบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด กล่าวว่า การจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้ง กนอ., กรอ. กรมศุลกากร และพันธมิตรในทุกภาคส่วน DOWA Eco Systems Ltd. โดยการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเพื่อช่วยพัฒนามาตรฐาน เทคโนโลยี และขีดความสามารถในการจัดการขยะของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากลหรือดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
สำหรับมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราจะไม่เพียงแต่จำกัดการปล่อย CO2 ของเราเท่านั้น แต่จะรับผิดชอบจัดหาวัสดุและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการประหยัดพลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยีในการทำลายสารทำความเย็น Freon ในเอเชีย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี