nn เศรษฐกิจไทยปี 2566 คงต้องยอมรับว่าเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้พอสมควร...ซึ่งผลกระทบแน่นอนว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นการส่งออกสำคัญของสินค้าไทย แต่ไม่เพียงแค่ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ปัจจัยภายในประเทศก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง ที่ขณะนี้แม้จะมีการเปลี่ยนมือแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงสะท้อนมาจากภาคเอกชนไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ที่ประกอบไปด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย และล่าสุด คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย...ก็ได้ออกมาย้ำอีกว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น ตนทราบมาว่า มีการรวมเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล รวม 9 พรรคและคาดว่าจะมีพรรคการเมืองและวุฒิสภาให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยได้
แต่สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องมีเสียงเพียงพอและเข้มแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความต่อเนื่องหากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันหอการค้าฯ ยังมีความมั่นใจว่าประเทศน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป โดยหอการค้าไทยมองว่าไทยควรมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันประเทศมีประเด็นความท้าทายสำคัญหลายประการ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้น การลงทุนยังคง wait and see ท่ามกลางความผันผวน ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง รวมถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงรอบด้านของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่
ทั้งนี้ ข้อเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันทีคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเผชิญกับปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดลบต่อเนื่อง 8-9 เดือน
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของปี ทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว การเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต
ส่วนในระยะกลางต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินว่าภัยแล้งน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้า ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย-EU และอีกหลายฉบับ
โดยเอกชนมองว่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมากขึ้น
ส่วนในระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วนถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะรูปแบบการค้าของโลกจะเปลี่ยนไป วันนี้เห็นได้ชัดว่ามาตรฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทาง BCG และ ESG ให้มีรูปแบบและมาตรฐานสากล
“เศรษฐกิจภายในประเทศต้องยอมรับว่ายังคงน่ากังวล โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชนที่สะท้อนจากการซื้อสินค้าคงทนตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณว่าประชาชนไม่มีรายได้และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีเช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมาเช่น โครงการคนละครึ่ง เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาชนให้กลับมา ขณะที่คุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนว่าจะสามารถนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด”
ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนำเอานโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบทันทีนั้น หอการค้าฯ มองว่าในหลักการสามารถทำได้ แต่ต้องประเมินผลความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจให้ชัดเจนและรอบด้านเพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล
สภาหอการค้าไทย มีข้อคิดเห็นว่า1.การอัดฉีดเม็ดเงินไปยังกลุ่มผู้มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปน่าจะอยู่ราว 50 ล้านคน หากใช้เงิน 1 หมื่นบาทต่อคนจะต้องใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งในหลักการการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าวเข้าถึงมือประชาชนโดยตรงจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยหอการค้าฯประเมินว่า ทุกๆ 1-1.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 1% ดังนั้น โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2.5-3% เกิดเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3-4 รอบ แต่อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังมีข้อเป็นห่วงจากหลายฝ่าย ทั้งที่มาของแหล่งงบประมาณว่าจะมาจากแหล่งใด จะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยแค่ไหนซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในส่วนนี้ โดยหอการค้าฯ ขอให้มีการพิจารณาแนวทางการใช้นโยบายที่จะช่วยสนับสนุนและจูงใจผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น โดยปัจจุบันร้านค้าขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการขยายฐานภาษีและจัดเก็บรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
2.พิจารณาการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่เดือดร้อนหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูงจนเกินไป และนำงบประมาณบางส่วนไปใช้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน หรือการลงทุนในสาธารณประโยชน์จะเกิดความคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่าและไม่สร้างภาระทางการคลังของประเทศ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี