ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนด มาตรการใหม่ ให้ต้อง ยืนยันตัวตนก่อนฝากเงินผ่านตู้อัตโนมัติ (เครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (Cash Deposit Machine : CDM) ตามจำนวนยอดเงินฝากสูงสุดแต่ละครั้ง ของทุกธนาคารและสถาบันการเงิน
กรณีนี้รวมถึงตู้อัตโนมัติของตัวแทนธนาคารหรือแบงก์กิ้งเอเย่นต์ (Banking agent) (ปัจจุบัน ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นธนาคารเสมือน หรือแบงก์กิ้งเอเย่นต์ซึ่งได้รับอนุญาตตาม ธปท.) ด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ให้ปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นี้เป็นต้นไป
หากมองย้อนไปในอดีต การทำธุรกรรมทางการเงิน เบิก-ถอนเงินหรือฝากเงินจะต้องเดินทางไปยัง (สำนักงาน) ธนาคารในช่วงวันทำการเท่านั้น (ยกเว้นกรณีของโทรเลขธนาณัติที่ต้องไปที่สำนักงานไปรษณีย์โทรเลข) ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ต้องรอต่อคิวยาวกัน ยังไม่รวมการกรอกแบบฟอร์ม แสดงหลักฐานประจำตัว บัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนแก่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานธนาคาร
ปัจจุบันในยุคดิจิทัลแตกต่างกันมาก เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ทางการเงิน (ฟินเทค Fin-tech) ธนาคารออนไลน์ (Internet Banking) และ โมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ สร้างความสะดวกสบายรวดเร็วให้แก่คนในยุคนี้อย่างมาก ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปธนาคาร ผ่านหลายรูปแบบทางเลือก โดยอาจทำธุรกรรมทางการเงินโดยระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารบนสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว หรือทำธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านตู้อัตโนมัติเมื่อต้องการใช้เงินสด โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาทำการ หรือเลือกที่จะทำธุรกรรมทางการเงินโดยผ่านร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์ ก็สามารถกระทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การยืนยันตัวตน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญเหมือนเช่นในอดีต เพียงแต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยวิธีการยืนยันตัวตนแบบ NDID (National Digital ID) เป็นที่นิยมใช้ในวงการฟินเทค เพราะทำให้สามารถกระทำได้ด้วยตนเองโดยแอปธนาคาร สถาบันการเงิน ผ่านสมาร์ทโฟนหรือผ่านตู้อัตโนมัติ
การยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมฝากเงินสามารถกระทำได้ที่หน้าตู้อัตโนมัติของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีหลายแบบ คือ
ตู้อัตโนมัติที่เป็นเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น และตู้อัตโนมัติที่เป็นเครื่องรับฝาก-ถอน-อัปเดตสมุดเงินฝากในตู้เดียว (eCRM 3in1 : e-Smart Cash Recycling Machine)
ธปท. ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้กำหนดมาตรการเป็นแนวปฏิบัตินี้ เพื่อแก้ปัญหา กระทำผิดฐาน “ฟอกเงิน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้วยการนำเงินสดที่ได้จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด การพนัน การคอร์รัปชั่น รวมถึงการหลอกลวงทางการเงิน มาฝากผ่านตู้อัตโนมัติ เข้า “บัญชีม้า” (บัญชีม้าในที่นี้ หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่นำมาใช้เป็นช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถ่ายโอนเงินการรับเงินการโอนเงิน ซึ่งเงินที่ได้มาจากการกระทำผิด
จุดประสงค์การเปิดบัญชีม้าคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้กระทำผิดได้ เพื่อนำเงินไปใช้สนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผิดกฎหมายหรือกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยที่ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดที่นำเงินมาฝากได้
แนวปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 41 ประกอบ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส 19/2562 เรื่องหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know Your Custumer : KYC) สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงิน ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562) โดยคาดหวังว่า จะช่วยขจัดปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งได้บังคับใช้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว (ข้อมูลจาก ผลการประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายรายภาคธุรกิจ กุมภาพันธ์ 2562 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
วิธียืนยันตัวตนผ่านตู้อัตโนมัติ มีสองรูปแบบคือ รูปแบบแรก ผู้ฝากเงินต้องกรอกหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตนเอง หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัส OTP (One-Time Password) ในข้อความอัตโนมัติบนสมาร์ทโฟน บนจอภาพของตู้อัตโนมัติ แล้วใส่เงินสดชนิดธนบัตรลงในช่องฝากเงินตามคำแนะนำที่ปรากฏบนจอภาพ ทั้งนี้ วงเงินฝากสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
อีกรูปแบบหนึ่งคือ ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตนร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN) โดยสอดบัตรเข้าไปที่ช่องรับบัตรบนตู้อัตโนมัติ แล้วกรอกรหัสส่วนตัวบนจอภาพของตู้อัตโนมัติ แล้วใส่เงินสดชนิดธนบัตรลงในช่องฝากเงินตามคำแนะนำที่ปรากฏบนจอภาพ ทั้งนี้วงเงินฝากสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
อย่างไรก็ตาม การฝากเงินที่ธนาคารโดยผ่านเคาน์เตอร์หรือพนักงานธนาคาร ในปัจจุบันยังถือว่ามีช่องโหว่ตรงที่เจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้ผู้ฝากเงินกรอกเพียงชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ โดยไม่ได้ถูกตรวจสอบความถูกต้อง หากผู้ฝากเงินใช้นามแฝง ชื่อปลอม และหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง จะไม่สามารถตรวจสอบย้อนถึงความถูกต้องได้เลย
ดังนั้น การออกกฎและระเบียบเกี่ยวกับการฝากเงินควรทำให้ครอบคลุมให้หมดทุกด้าน และทุกมิติ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี