กรณีคุณแม่ วัย 25 ปี ร้องเรียนเหตุที่พาลูกน้อยวัย 1 ขวบ 4 เดือนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้กับกรุงเทพมหานคร จากอุบัติเหตุลื่นล้ม ศีรษะฟาดพื้นในห้องน้ำปูดบวม แต่นางพยาบาลได้จ่ายยาให้ผิด โดยให้เด็กทานยาที่เป็นยากรดสำหรับใช้ทาภายนอกร่างกายจนมีอาการสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวห้องผู้ป่วยอาการหนัก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ระหว่างการสอบบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ให้หยุดงานทันที หากมีความผิดจริง จะมีโทษทางวินัยสูงสุดคือ ไล่ออก
มีการแถลงว่า ในขั้นตอนการจ่ายยาตามปกติ ยาจะจัดวางแยกกันอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่า บรรจุภัณฑ์และสียาทั้ง 2 ตัวใกล้เคียงกัน ส่วนความเสียหายในค่าใช้จ่ายที่อาจต้องมีการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ทางโรงพยาบาลรับจะดูแลผู้ป่วยเด็กรายนี้ ในเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาเต็มที่ และรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นคำร้องขอการเยียวยารักษาระยะยาวตาม มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยตรงต่อไป
ในทางกฎหมายนั้น โดยหลักทั่วไป การกระทำความผิดพลาดที่ส่งผลต่ออนามัย ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่น ถือเป็น “ละเมิด”ตามความในมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นบททั่วไปที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และอาจเป็นความผิดในคดีอาญา ที่ประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจและต้องรับโทษทางอาญา
ในกรณีความผิดพลาดของโรงพยาบาลนี้ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) จะมีขั้นตอนในการเรียกร้องค่าเสียหาย เอาผิดจากผู้กระทำเพิ่มเติมแยกต่างหากจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่ผู้เสียหายอาจจะยังไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นกระบวนการเยียวยา ไกล่เกลี่ยเบื้องต้น
โดยปกติขั้นตอนมาตรฐานการจ่ายยาไปให้คนไข้จะมีขั้นตอนมาตรฐาน คือ 1) แพทย์สั่งยา 2) เจ้าหน้าที่ห้องยาจัดยา 3) เภสัชกรตรวจและจ่ายออกไปให้ผู้ป่วย(หรือญาติ) หรือพยาบาลบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อจ่ายให้แก่คนไข้
โรงพยาบาลจะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไต่สวนหาตัวเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรผู้กระทำผิด และชี้มูลการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการลงโทษวินัย ในเบื้องต้น ก่อนดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลในเขตอำนาจในเบื้องต้นก่อน (ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561)
มูลการกระทำความผิดอาจเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือองค์กรที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรืออาจเป็นการกระทำความผิดส่วนตัวในทางวิชาชีพ พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 หรือ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
หากมีการชี้มูลว่าความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำก็ต้องได้รับโทษทางวินัย 5 สถาน ตามลำดับความร้ายแรง (1) ภาคทัณฑ์ (2) ตัดค่าจ้าง(3) ลดค่าจ้าง (4) ปลดออก (5) ไล่ออก (ตามข้อ 11ของ ประกาศ)
หากมีการชี้มูลว่าความผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่ อันเป็นพฤติการณ์ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้กระทำก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายอีกด้วย
หากมีการชี้มูลว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับวินัยของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิชาชีพด้านเวชกรรมหรือ เภสัชกรรม กรณีนี้เจ้าหน้าที่อาจต้องรับโทษด้านวิชาชีพเฉพาะขององค์กรวิชาชีพด้วย เช่น สภาวิชาชีพเภสัชกรรม หรือสภาวิชาชีพเภสัชกรรม สภาพยาบาล ระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
ความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องสาธารณสุข ในระยะหลังได้เกิดเพิ่มขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
กรณีนี้นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนไข้ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์แล้ว อาจยังมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประเทศไทยได้รับความเชื่อถือทางสาธารณสุขที่มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ และนำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมากอีกด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี