nn ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 สามารถขยายตัวได้กว่า 15% อาจทำให้หลายคนเริ่มคาดหวังว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะทำได้ดีกว่า 2.6-2.8% ด้วยเหตุที่ภาคการส่งออกนั้นคิดเป็นกว่า 60% ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึงกระนั้นก็ต้องดูตัวเลขสุดท้ายคือ ตัวเลขการส่งออกทั้งปี’67 ว่าจะขยายตัวได้มากแค่ไหน
Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย...ระบุว่าการส่งออกเดือน ก.ค. 2567 เติบโต 15.2% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี สอดคล้องกับการขยายตัวของหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวเด่นชัดขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยพลิกกลับมาขยายตัว ทั้งยังเติบโตได้ในอัตราสูงสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มูลค่าการส่งออกต่างทำสถิติสำคัญในเดือนนี้ อาทิ มาเลเซีย (ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 18 เดือน) สิงคโปร์ (12.4% สูงสุดในรอบ 3 เดือน) และเกาหลีใต้ (13.9% สูงสุดในรอบ 6 เดือน) ปัจจัยหลักจากเติบโตของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นตามความต้องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และการลงทุน Data Center ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งบทบาทของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการส่งออกของหลายประเทศไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี การส่งออกในระยะข้างหน้าอาจถูกกดดันด้วยปัจจัยเสี่ยง จากสัญญาณการอ่อนแรงลงของภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Flash Manufacturing PMI) เดือนส.ค. ของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งหดตัวลงพร้อมกันเป็นเดือนที่สองแล้ว ขณะที่ข้อมูลของจีนล่าสุดเดือน ก.ค. ให้ภาพการลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ภาวะการค้าระหว่างประเทศยังคงถูกกดดันจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างเป็นอุปสรรคที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2567 ยังฟื้นตัวได้จำกัด
ขณะเดียวกัน SCB EIC ธ.ไทยพาณิชย์ฯ...คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทรงตัวในปีนี้และจะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2568 คงประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่ 2.7% โดยมีมุมมองเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอ ตัวลงจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน อินเดีย และอาเซียน 5 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อยเป็น 2.8% จากเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนที่จะขยายตัวดีขึ้นบ้างส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายหลังการเลือกตั้งใหญ่ของหลายประเทศที่เกิดขึ้นภายในปีนี้
นโยบายการเงินโลกจะลดความตึงตัวลงในระยะข้างหน้า โดย SCB EIC ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มลดดอกเบี้ยและลดมากกว่าที่เคยมองไว้ โดยปรับลดในทุกรอบประชุมที่เหลือ 3 ครั้งของปีนี้ รวมเป็น 75 BPS เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐ เข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง 50 BPS ในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. หลังจากเริ่มลดครั้งแรกไปในไตรมาส 2 ด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 10 BPS ในไตรมาส 4 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ 0.25% ตลอดปีนี้หลังจากปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพตลาดการเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินในโลก โดย BOJ จะกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 1 และสิ้นปีหน้า
สำหรับ SCB EIC คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.5% และปรับลดมุมมองเศรษฐกิจปี 2568 เหลือ 2.6% หลังภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาใกล้เคียงที่ประเมินไว้ แต่แรงส่งเศรษฐกิจรายองค์ประกอบต่างไปบ้าง โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังได้แรงส่งหลักจาก 1.ภาคท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผลจากการทำตลาดของภาครัฐและการเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน Winter schedule และ 2.แรงสนับสนุนจากการบริโภคเอกชนตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวชั่วคราว อย่างไรก็ดี มุมมองต่อการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงมาก โดยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนยานพาหนะ สอดคล้องกับอุปสงค์ตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่หดตัว ท่ามกลางปัญหาหนี้ค้างชำระและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามมองไปข้างหน้าภาคการผลิตและการส่งออกจะยังฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นการบริโภค (โดยเฉพาะสินค้าคงทน) และการลงทุนในระยะสั้นที่แผ่วลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจึงยังมีทิศทางเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายรัฐบาล SCB EIC จึงปรับลดมุมมองเศรษฐกิจปี 2568 เหลือ 2.6% (เดิม 2.9%)จากการบริโภคเอกชนที่จะเติบโตชะลอลงท่ามกลางกำลังซื้อเปราะบางและหนี้สูง รวมถึงทิศทางการลงทุนภาคเอกชนที่แผ่วลง
สำหรับเงินเฟ้อ ประเมินเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวต่ำลงอยู่ที่ 0.6% (เดิม 0.8%) ในปีนี้ สะท้อนความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐชะลอการทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศตลอดปีโดยเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้ากรอบได้ในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงเดียวกันของปีก่อนภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าครองชีพด้านราคาพลังงานให้อยู่ในระดับต่ำหลายด้าน
SCB EIC คงมุมมอง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้เหลือ 2.25% จากความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ความเปราะบางเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ชะลอลง นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่ได้มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt deleveraging) สำหรับปี 2568 ภาวะการเงินโลกจะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐ และนโยบายเศรษฐกิจของไทยเอง SCB EICจึงยังคงมุมมองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเหลือ 2%
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี