สหรัฐฯเก้บภาษี36%...ไม่ได้สะเทือนแค่ภาคการส่งออก
** แบบนี้เรียกว่าไทยโดนไปเต็มๆรับไปแบบจุกๆ...เมื่อสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าจากไทยในอัตรา 36 % ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ที่สำคัญคืออัตรานี้สูงกว่าคู่ทางการค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะเวียดนาม (ที่เขาปิดดิลได้ก่อนเรา) ที่โดนเรียกเก็บ 20 % อินโดนีเซีย 32% และมาเลเซีย 25 %
เบื้องต้นได้เห็นตัวเลขความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภารส่งออกของไทยที่ประเมินโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) อยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท โดยสินค้าไทยที่จะได้รับกระทบหนัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก
โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากภาคการส่งออกคิดเป็น 55-60 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และตลาดสหรัฐฯ ปี 2567 มีสัดส่วน 18 % ของการส่งออกทั้งหมด มีอัตราการขยายตัวถึง 13.66 % และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) ตลาดสหรัฐฯ สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 19.16 % มีอัตราการขยายตัว 27.2 % โดยมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 27,098.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5,795.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกให้ทันกับเส้นตายจากขยายเวลา 90 วัน (9 ก.ค. 68) ที่จะจัดเก็บอัตราภาษีใหม่
ภาคส่งออกของไทยเป็นหัวจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีโซ่อุปทานขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ซึ่งอุตสาหกรรมในประเทศที่ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออก ได้แก่ วัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป อะไหล่เครื่องจักร วัสดุสิ้นเปลืองในการผลิต และภาคการส่งออกยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านเดินเรือ เครื่องบิน รถบรรทุก ศูนย์กระจายสินค้าตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ลัง พาเลท นอกจากนี้ภาคส่งออกยังเชื่อมโยง อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรตลอดจนผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตรกรรม เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ประมง ปศุสัตว์
ทั้งนี้ภาคการส่งออกและโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ยังมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน โดยมีการประมาณการเบื้องต้นว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 18 – 20 ล้านคน ดังนั้นเมื่ออัตราภาษีนำเข้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเรียกเก็บสูงกว่าประเทศคู่แข่งสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีผลอย่างมากต่อการลดลงทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ผลที่ตามมาคือการลดกำลังการผลิตซึ่งจะมีผลต่อแรงงานส่วนเกินทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจต้องสูญเสียตำแหน่งงานและ/หรืออาชีพ ผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเหล่านั้นทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนเท่าใด ยิ่งสัดส่วนมากผลกระทบก็ยิ่งสูง
ภาคแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออกและโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบเป็นทั้งผู้ผลิตขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภค ครัวเรือนแรงงานจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เมื่อภาคแรงงานในกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างย่อมส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการซื้อสินค้าประเภทถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน ยอดขายที่หดตัวนำมาซึ่งปัญหาสภาพคล่องในภาคธุรกิจ การเลิกจ้างต่อยอดไปถึงหนี้เสียหรือ NPL ของสถาบันการเงินอีกด้วย
ในงานแถลง Monetary Policy Forum 2/2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการระบุว่า มาตรการภาษีสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ไม่แรงและเร็วแบบช่วงโควิด (shock) แต่จะส่งผลระยะยาวในภาคการส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาคธุรกิจด้วย ส่วนข้อเสนอของไทยต่อสหรัฐนั้น ต้องดูความชัดเจนในรายละเอียด โดยเฉพาะการลดภาษีนำเข้าเพิ่มเติม จะกระทบภาคการผลิตแค่ไหน หากเป็นสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ก็จะกระทบน้อยลง
เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาล ถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทยเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรายย่อย SMEs ที่มีสัดส่วนการจ้างงานจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานการนำเข้าสินค้า การทุ่มตลาด แพลตฟอร์มการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ
ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ได้ประเมินสถานการณ์การจากการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐฯ ไว้ในหลายด้าน และไม่ว่าประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี ในอัตราเท่าใดหรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (technical recessione หรือไม่ แต่การเติบโตเศรษฐกิจไทย ครึ่งหลัง ปี 68 จะชะลอตัวลงแน่นอน จึงปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 69 จะขยายตัวที่ 1.7 % ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ
**กระบองเพชร**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี