** สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์...ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เดือนพฤษภาคม 2568 ...ทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของประชาชน ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนยังมีแนวโน้มการบริโภคผลไม้ใกล้เคียงกับปี 2567 โดยเฉพาะทุเรียนที่ยังคงครองความนิยมสูงสุดในช่วงฤดูกาลผลไม้ ในขณะที่การบริโภคผลไม้พร้อมทานเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่
พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของประชาชน ในภาพรวมพบว่า ประชาชนยังคงเลือกซื้อผลไม้จากตลาดค้าปลีก อาทิ ตลาดสดและตลาดนัดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 40.58 % รองลงมาคือ การซื้อผลไม้จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสัดส่วน 20.89 % และเป็นแหล่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากการสำรวจในปีก่อนหน้า (ปี 2567 อยู่ที่ 16.86 % ) ตามด้วยการเลือกซื้อจากรถขายผลไม้และรถเข็นขายผลไม้ คิดเป็นสัดส่วน 19.94 % สำหรับสัดส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลไม้จากแหล่งต่าง ๆ มากที่สุด ได้แก่ ด้านความสะดวก ที่ 29.03 % โดยเฉพาะจากรถขายผลไม้ ร้านสะดวกซื้อ และแพลตฟอร์มออนไลน์ รองลงมาคือ ด้านการเลือกซื้อด้วยตนเอง ที่ 26.57 % ซึ่งพบมากในตลาดสด ตลาดนัด และตลาดค้าปลีก ส่วนด้านราคา อยู่ที่ 23.27 % เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลไม้จากแหล่งจำหน่ายในราคาประหยัด นอกจากนี้ ผลการสำรวจพบว่าประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มเลือกซื้อผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตในเขตเมืองที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้นประเภทผลไม้ที่ประชาชนนิยม ในภาพรวมพบว่า สัดส่วนผลไม้ทั่วไปที่ประชาชนนิยมมากที่สุดคือ ส้ม ที่ 9.72 % ตามด้วยแตงโม 9.06 %กล้วย 7.18 % และมะม่วง 6.52 % ในขณะที่ผลไม้ตามฤดูกาลอย่างทุเรียนได้รับความนิยมเป็นอันดับแรกที่ 14.14 % ตามด้วยเงาะ ที่ 10.48 % และมังคุด 9.07 % สอดคล้องกับการบริโภคจากผลการสำรวจในปี 2567
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อผลไม้ แต่ละชนิดของประชาชน ได้แก่ ปัจจัยด้านรสชาติ 73.05 % รองลงมาคือ ปัจจัยด้านราคา 11.96 % และปัจจัยเพื่อการบำรุงสุขภาพ 10.56 % ความนิยมในการบริโภคผลไม้ในแต่ละรูปแบบ ในภาพรวมพบว่า ผลไม้ทั้งผลยังคงเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 53.93 % รองลงมาคือ ผลไม้ตัดแต่งและบรรจุพร้อมรับประทาน 31.18 % และผลไม้สดที่จัดชุดขายแต่ยังไม่ผ่านการตัดแต่ง 14.90 % และเมื่อพิจารณาตามอายุพบว่า กลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ยังคงนิยมการซื้อผลไม้ทั้งผลเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 75.13 % สะท้อนถึงความคุ้นเคยกับรูปแบบการบริโภคแบบดั้งเดิม ขณะที่กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 – 29 ปี มีแนวโน้มซื้อผลไม้ตัดแต่งพร้อมทานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการพิจารณาตามกลุ่มระดับรายได้ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้นมีแนวโน้มเลือกซื้อผลไม้ตัดแต่งพร้อมทานเพิ่มมากขึ้น ความถี่และค่าใช้จ่ายในการบริโภคผลไม้ต่อเดือน จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อผลไม้อย่างน้อยเดือนละครั้ง ที่ 41.09 % และทุกสัปดาห์ 34.56 %
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายภาคพบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนการซื้อผลไม้ทุกวันสูงที่สุดอยู่ที่ 13.56 % และซื้อทุกสัปดาห์ ที่ 37.04 % ซึ่งมากกว่าภาคอื่นที่โดยรวมมีแนวโน้มซื้อผลไม้ในลักษณะรายเดือนเป็นหลัก สะท้อนรูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเขตเมืองที่อาจให้ความสำคัญกับความสดใหม่ ความสะดวก และการซื้อในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น และค่าใช้จ่ายของการบริโภคผลไม้ในภาพรวมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการบริโภคผลไม้ไม่เกิน500 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามกลุ่มระดับรายได้ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มใช้จ่ายในการซื้อผลไม้มากขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนถึงกำลังซื้อที่มากขึ้น และอาจรวมถึงการเลือกบริโภคผลไม้ที่มีราคาสูงขึ้นหรือเป็นผลไม้พรีเมียมมากขึ้น
แนวโน้มการบริโภคผลไม้ของประชาชนในปี 2568 จากผลการสำรวจพบว่า ในภาพรวมยังคงบริโภคผลไม้ในปริมาณใกล้เคียงกับปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 47.16 % ขณะที่ประชาชนบางส่วนมีแนวโน้มจะบริโภคผลไม้ลดลง ที่ 17.83 % และมีแนวโน้มจะบริโภคเพิ่มขึ้น 13.48 % โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคผลไม้ของประชาชนมากที่สุด ได้แก่ ด้านความสะดวกในการเลือกซื้อผลไม้ ที่ 30.84 % ตามด้วยด้านราคา 26.93 % และด้านรายได้ 24.40 % เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้ลดลง พบว่า ปัจจัยด้านรายได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุด ที่ 42.30 % รองลงมาคือ ปัจจัยด้านราคาที่ 34.74 % และปัจจัยด้านความสะดวก ที่ 15.71 % ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านคุณภาพ ที่ 29.44 % และปัจจัยด้านราคาที่ 29.03 % ขณะที่ปัจจัยด้านรายได้มีสัดส่วนเพียง 9.88 % ความแตกต่างดังกล่าวอาจสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มการบริโภคผลไม้ลดลงอาจเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือมีข้อจำกัดด้านรายได้ จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านรายได้และราคามากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคเพิ่มขึ้นมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางและสูงที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านคุณภาพมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาจำแนกตามรายได้ที่พบว่า ผู้มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป มีแนวโน้มการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้น 33.33 % ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท เป็นกลุ่มรายได้ที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้ลดลงมากที่สุด ที่ 21.56 % อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีกลุ่มประชาชนบางส่วนที่ยังไม่สามารถประเมินแนวโน้มการบริโภคผลไม้ในปี 2568 ได้ คิดเป็น 21.54 % สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของพฤติกรรมผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยที่ผันผวนบางประการ อาทิ รายได้ที่ไม่แน่นอน และภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มนี้อาจส่งผลต่อภาพรวมของตลาดในระยะต่อไป
** กระบองเพชร**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี