ในขณะที่กำลังเขียนคอลัมน์นี้ แถวบ้านในรัฐอินเดียน่าระงมไปด้วยเสียงพลุเนื่องในวาระวันเกิดลุงแซม ซึ่งก็คือวันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี ปีนี้ตรงกันวันจันทร์และถือเป็นวันหยุดประจำชาติ โดยทั่วไปแล้วคนอเมริกันจะกินดื่มมีปาร์ตี้ปิ้งย่างกันในสวนหลังบ้าน พอถึงช่วงกลางคืนก็จุดพลุและดอกไม้ไฟเป็นการเฉลิมฉลอง แต่ละเมืองก็จะมีขบวนพาเหรดหรือจุดพลุฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นที่สนุกสนาน
ในวาระวันเกิดลุงแซมทั้งที เลยของดการลอกคราบลุงไว้สักหนหนึ่ง หันมาคุยเรื่องเบาๆ กันบ้างดีกว่า ปีนี้ลุงแซมก็อายุครบ 241 ปีแล้ว นับวันจะยิ่งแก่กล้าอาคมและความแสบสารพัดจนชาวโลกระอา จุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความเป็นชาตินั้นมาจากเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวหรอกที่ทำให้กลายมาเป็นชาติ แต่เหตุการณ์นี้เหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลามากกว่า เหตุการณ์นั้นเรียกว่า บอสตัน ที ปาร์ตี้ ซึ่งไม่ได้เป็นงานเลี้ยงน้ำชางามหรูแต่อย่างใด แต่ก่อนจะเล่าถึงงานเลี้ยงน้ำชาอันแปลกประหลาดนี้คงต้องเล่าท้าวความนิดหนึ่ง ตั้งแต่ก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามาแย่งชิงแผ่นดินของอินเดียนแดง
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้รับมอบหมายจากราชสำนักสเปนออกเดินทางสำรวจโลก โดยมีเป้าหมายคือทวีปเอเชีย แต่ไม่รู้ทำอีท่าไหนมาโผล่ทางตะวันตกของยุโรป เลยแจ็ตพอตกลายเป็นคนค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ.1492 ไปแบบฟลุ้คๆ แล้วความซวยก็มาเยือนอินเดียนแดงเมื่อชาวยุโรปหลายชาติกรูกันเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่แห่งนี้อย่างคับคั่งแถมยังทำสงครามกับเจ้าบ้านดั้งเดิมคืออินเดียนแดงเพื่อผลักดันให้ออกไปจากแผ่นดินเกิดเสียอีก
ในบรรดาชาติที่อพยพไปสู่ดินแดนใหม่นั้น พวกอังกฤษล่องเรือมากันเพียบ แถมรัฐบาลอังกฤษส่งคนในปกครองโดยเฉพาะนักโทษ และทาสผิวดำชาวแอฟริกันเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก แล้วขยายไปกินแดนที่เคยอยู่ในปกครองของชาวยุโรปชาติอื่นจนสามารถจัดตั้ง "สิบสามอาณานิคม" ของอังกฤษได้ขึ้นในปี ค.ศ.1607 - 1733 โดยที่ 13 อาณานิคมยุคแรกรุ่นประกอบไปด้วยเวอร์จิเนีย แมรีแลนด์ คอนเนตทิคัต โรดไอแลนด์ เดลาแวร์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย นิวแฮมป์เชียร์ แมสซาชูเซตส์ นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา และจอร์เจีย
หลังจากตั้งเป็นสิบสามอาณานิคมแล้วก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยดูจากจำนวนประชากรคือ จำนวนประชากรในสิบสามอาณานิคมจาก 2,000 คนในปี ค.ศ.1625 เพิ่มมาเป็น 2,400,000 คนในปี ค.ศ.1775 ชาวอาณานิคมยังอยุ่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในเวลานั้น แต่พูดตรงๆก็เหมือนลูกเมียน้อยเราดีๆ นี่เอง เพราะอังกฤษไม่ค่อยจะดูดำดูดีเท่าไหร่ เรียกเก็บภาษีก็แสนแพง ซ้ำกดขี่ข่มเหงเนืองๆ จนกระทั่งเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสและอินเดีย ผลปรากฎว่าถึงแม้ผู้ดีอังกฤษจะชนะ แต่หมดเงินไปมหาศาลหรือพูดภาษาชาวบ้านคือหมดตูดนั่นเอง
เมื่อหมดตูดก็ต้องหันมารีดเลือดกับปู ด้วยการหันมารีดไถชาวอาณานิคมในแผ่นดินใหม่ให้มากที่สุด ใช้การออกภาษีสารพัดรวมทั้งเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นในการรีดเงินมาโปะที่เสียไปในสงคราม ชาวอาณานิคมทั้ง 13 จึงโวยลั่นเพราะเห็นๆอยู่ว่าไม่เป็นธรรมกับพวกตนแต่อย่างใด ฝ่ายอาณานิคมอ้างว่าในเมื่อไม่มีผู้แทนของอาณานิคมทั้ง 13 นั่งอยู่ในสภาของอังกฤษ อังกฤษก็ไม่ควรเก็บภาษีหมู่เฮาเลยแม้แต่เซนต์เดียว เพราะการกระทำที่ว่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของอังกฤษเองนะจ๊ะ
แต่ไม่ว่าจะโวยจะต้านอย่างไร เหล่าผู้ดีอังกฤษตรางูไม่สนใจไม่รู้ไม่ดูไม่แคร์ เพราะยังคงยืนยันถึงสิทธิ์ของรัฐบาลอังกฤษในการเก็บภาษีชาวอาณานิคมและยังคงมีการบัญญัติกฎหมายต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในเวลานั้นชาวอาณานิคมก็กัดฟันคำรามใส่อังกฤษและพระเจ้าจอร์จที่ 3 แล้ว แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่สงครามจริงๆคือ เหตุการณ์ที่เรียกว่างานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน หรือ Boston Tea Party ในปี ค.ศ.1773 นี่แหละ
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์อันลือลั่นนี้ รัฐบาลอังกฤษส่งเสริมให้ชาวอาณานิคมปลูกชาขายกันอย่างกว้างขวาง ต่อมาบริษัทอินเดียตะวันออกของรัฐบาลอังกฤษเกิดถังแตกขึ้นมาเพราะขายใบชาไม่ได้เลยชาวูบกันทั้งประเทศ รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมายลดภาษีใบชา ทำให้พ่อค้าใบชาในสิบสามอาณานิคมได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนกระทั่งในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1773 ชาวอาณานิคมที่บอสตันราว 100 คนปลอมตัวเป็นอินเดียนแดงแล้วบุกขึ้นเรือสินค้า 3 ลำของรัฐบาลอังกฤษ จากนั้นโยนหีบใบชาทิ้งทะเล อดคิดไม่ได้ว่าทำไมอินเดียนแดงถึงซวยขนาดนี้ ถูกปล้นแผ่นดินแล้วยังใม่วายถูกคนขาวใส่ร้ายอีกต่างหาก
เมื่อเจอชาวอาณานิคมลูบคม ผู้ดีอังกฤษถึงกับเต้นผาง ชะช้า..ไอ้เด็กเมื่อวานซืนบังอาจมาท้าทายอำนาจข้าได้อย่างไร ในยุคนั้นอังกฤษเกรียงไกรด้วยการมีอาณานิคมที่นั่นที่นี่ทั่วโลก ทั้งที่ประเทศเป็นเกาะขนาดเท่าแมวดิ้นตาย การแข็งข้อครั้งนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษส่งทหารเข้าปราบปรามโดยส่งโทมัส เกจนำทหารเข้ายึดอาวุธของฝ่ายอาณานิคมในเดือนเมษายน ค.ศ.1775 แต่ปรากฎว่าชาวบ้านร้านถิ่นลุกขึ้นมาจับปืนมีดพร้าขึ้นมาไล่อัดพวกอังกฤษอย่างสุดใจขาดดิ้น หลังจากนั้นชาวอาณานิคมก็เริ่มวางแผนการรบด้วยการจัดตั้งกองทัพภาคพื้นทวีป นำขบวนโดยจอร์จ วอชิงตัน
หันมามองฝั่งอังกฤษ พระเจ้าจอร์จที่ 3 แต่งตั้ง วิลเลียม โฮว์ มาปราบกบฏอาณานิคม โดยระดมทหารบกและทหารเรืออังกฤษร่วมกับทหารพันธมิตรชาติเยอรมันและอินเดียนแดงบางเผ่าในอเมริกาเป็นกองทัพขนาดประมาณมหึมาจำนวน 320,000 คน ในขณะที่ฝ่ายอาณานิคมประกอบไปด้วยทหารของกองทัพภาคพื้นทวีป ซึ่งก็คือชาวบ้านชาวช่องทั้งหลายลุกมาจับปืนร่วมกับทหารพันธมิตรชาติฝรั่งเศส สเปน ดัตช์ และอินเดียนแดงบางเผ่า มาจัดทัพโดยมีกันทั้งหมดแค่ 156,000 คน น้อยกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด แต่หัวใจนั้นเต็มร้อย
เนื่องจากรบแบบมวยวัด ฝ่ายอาณานิคมเลยกลายเป็นไก่รองบ่อนในช่วงแรก เมื่อตั้งหลักได้ก็ลุกฮือขึ่นขับไล่ทหารอังกฤษออกจากบอสตันได้ ระหว่างที่กำลังรบกันนัวเนียนี่เอง สภาภาคพื้นทวีปแต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วยจอห์น อดัมส์ โรเจอร์ เชอร์แมน โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน เบนจามิน แฟรงคลิน และโทมัส เจฟเฟอร์สัน จัดทำคำประกาศอิสรภาพขึ้นมา โดยเจฟเฟอร์สันร่างขึ้นแล้วส่งให้สภาภาคพื้นทวีปในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1776 อีกสองวันต่อมา สมาชิกสภาภาคพื้นทวีปทั้ง 56 รายลงนามรับรอง "คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา" และนำไปตีพิมพ์ประกาศต่อสาธารณชน โดยมีประโยคหนึ่งในคำประกาศอิสรภาพที่ถือเป็นหัวใจสำคัญนั่นคือ
"We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness."
เราถือว่าความจริงนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือมนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข
ชาวอเมริกันจึงถือกันว่าวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันชาติ โดยเริ่มต้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ.1776 อันเป็นวันที่โธมัส เจฟเฟอร์สันประกาศ "คำประกาศอิสรภาพ" ในฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย และประเทศใหม่ได้ขนานนามเป็นครั้งแรกว่า “สหรัฐอเมริกา”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี