พรรคประชาธิปัตย์นั้น หากจะว่าไปก็เหมือนภาพสะท้อนของการเมืองในบ้านเรา ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ถ้าเปรียบเป็นระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนเด็กไม่ยอมโต
วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 91 ปี เป็นการรำลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยผ่านคณะราษฎรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 โดยนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนายใหญ่ ศวิตชาต และนักการเมืองมีชื่อในยุคนั้นอีกหลายคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะราษฎรของนายปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาทิ นายเลียง ไชยกาล นายฟอง สิทธิธรรม และนายสมบุญ ศิริธร เป็นต้น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคประชาธิปัตย์นับเอาวันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันเกิดพรรคอันตรงกับ“วันจักรี” และก็เป็นไปตามที่ถูกบันทึกว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยม
วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 ก่อนหน้าวันรัฐธรรมนูญหนึ่งวัน พรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นคนที่ 9 คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นักการเมืองจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วัย 58 ปี อดีตสส.ประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัยและอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ผันตัวเองจากการเล่นการเมืองท้องถิ่นและเป็นอดีตประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาลงสมัคร สส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2544 โดยได้รับเลือกเป็น สส.สมัยแรก รวมเวลาที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ 22 ปี และปีนี้พรรคประชาธิปัตย์มีอายุ 77 ปี
ระบอบประชาธิปไตยนั้น คือระบอบการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุดังนี้ประชาธิปไตยจะหยั่งรากแข็งแรงเจริญเติบโตผลิดอกออกผลได้หรือไม่จึงอยู่ที่ประชาชน และเช่นเดียวกับพรรคการเมือง ถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมั่นคงถาวร พรรคการเมืองนั้นก็จะเติบโตยืนอยู่ได้ ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะแปรปรวนแค่ไหนก็ตาม
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคการเมืองนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาประชาชนจะมีความรู้สึกว่าต่างอยู่กันอย่างเป็นเอกเทศ ประชาชนก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้างของพรรคการเมือง ซึ่งเรามักจะได้ยินอย่างคุ้นหูจากนักการเมืองหรือ สส.มาตลอดว่า พวกเขามาจากพี่น้องประชาชนและเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นว่า นักการเมืองส่วนใหญ่มุ่งแต่แสวงหาอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยแท้
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองใหญ่ เป็นพรรคเก่าแก่ และมีอายุมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยซึ่งขณะนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 82 พรรค และก็โดยธรรมชาติของพรรคการเมืองใหญ่ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ นอกจากจะมีขึ้นมีลงตามกระแสนิยมทางการเมืองที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว การเข้าออกของสมาชิกในบ้านหลังนี้ก็ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือแม้แต่นายใหญ่ ศวิตชาต อดีตสส.นครสวรรค์หลายสมัย และเคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกๆ ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค รวมทั้งเป็นสส.นครสวรรค์ของพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมานับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งพรรค ก็ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองท่านนี้ ถึงจะร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในแรกเริ่มเมื่อปี 2489 มาก็ตาม แต่ก็ได้ถอนตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และในเวลาต่อมาก็ได้จัดตั้งพรรคกิจสังคม จนพรรคกิจสังคมได้เป็นรัฐบาลในปี 2518 โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายใหญ่ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์และมักจะถูกกล่าวถึง ก็คือ “กลุ่ม 10 มกรา” ของนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ หรือนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ สองอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังเกิดความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาตั้ง“พรรคประชาชน” แต่พรรคนี้ก็ไปไม่รอด ซึ่งการเกิดกลุ่ม“10 มกรา”ก็เพราะมีสาเหตุมาจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 10 มกราคม 2530 โดยฝ่ายนายเฉลิมพันธ์และนายวีระ พ่ายแพ้ต่อกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ที่เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค และนายพิชัยได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 4 ของพรรคประชาธิปัตย์สืบต่อจาก พ.อ.ถนัด คอมันตร์
อย่างที่กล่าวมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นบ้านหลังใหญ่นักการเมืองที่เดินเข้าออกพรรคนี้จึงมีอยู่ไม่ขาดสาย เหมือน“น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี“หุ่นเชิด”ของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้ออกมาก่อตั้งพรรคประชากรไทย หรือแม้แต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน ก็เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน หรือรวมไปถึงนายสุชาติ ตันเจริญ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายนพดล ปัทมะ ที่เป็น สส.พรรคเพื่อไทยในเวลานี้ ก็ล้วนแจ้งเกิดทางการเมืองมาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น
การลาออกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสาธิต ปิตุเตชะ รวมทั้งใครต่อใครอีกหลายคนที่ลาออกและประกาศจะลาออกอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ในปี 2562 หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ก็มีสมาชิกพรรคที่มีชื่อเสียงระดับขุนพลของพรรคลาออกเป็นจำนวนมากไล่เลียงชื่อ ให้เห็นเป็นสังเขป ก็มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค,นายกษิต ภิรมย์, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายกอร์ปศักดิ์สภาวสุ, นายกรณ์ จาติกวณิช หรือ นายอรรถวิชช์สุวรรณภักดี เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ“เฉลิมชัย ศรีอ่อน”จะกลับมาผงาดได้ดังเดิมหรือไม่ หลังจากอยู่ในสภาพขาลงมาตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 จนมาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นั้นไม่ใช่เพราะ“คำโต” ที่พูดๆ กัน ว่าจะฟื้นจิตวิญญาณประชาธิปัตย์ หรือฟื้นอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ให้กลับคืนมาได้อย่างไร
พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาอยู่ในอ้อมอกของประชาชนได้ ก็คือ ไม่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกแปลกแยกเหมือนต่างคนต่างอยู่ ต้องทำให้ประชาชนพึ่งได้ ในยามนี้มีทางเดียว พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็งเพื่อควบคุมและตรวจสอบรัฐบาล ในยามที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านที่อ่อนหัดด้อยประสบการณ์ และหมกหมุ่นอยู่กับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมทั้งการแก้กฎหมายมาตรา 112 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพรรคก้าวไกล
สำคัญที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ต้องไม่ใช่“พรรคอะไหล่”เพื่อรอเสียบเป็นรัฐบาลหรือหมอบคลานเข้าไปขอเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวเท่านั้น !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี