สร้อยเพชรซึ่งมีจี้เพชรสีน้ำเงินขนาดเท่าไข่ไก่ล้อมรอบด้วยเพชรขาวใสเจียรนัยวาววับโชว์เด่นเป็นสง่าอยู่บนแท่นเตี้ยๆ ที่หมุนช้าๆ ในตู้กระจก ดึงดูดสายตาทุกคู่ น้อยครั้งจะเห็นเพชรขนาดใหญ่งามแปลกตาแบบนี้ อีกทั้งยังเป็นเพชรสีน้ำเงินที่ได้ชื่อว่าหายากนักหนา จับตาด้วยประกายจากเหลี่ยมการเจียรนัยอย่างวิจิตรบรรจงมานานนับศตวรรษ กว่าจะมาตั้งวางให้ผู้คนในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนี่ยนในวอชิงตันดีซี ได้ชื่นชมความงาม
เพชรขนาด 45.52 กะรัตเม็ดนี้ ไม่เพียงแต่ราคามหาศาลเท่านั้น หากความเป็นมาก็น่าสนใจ เพราะเชื่อว่าใครครอบครองต้องประสบความหายนะ ราวกับต้องคำสาปลึกลับที่ส่งต่อมาหลายศตวรรษ
เรื่องราวของเพชรปริศนาได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในปีค.ศ. 1660 ว่าเพชรโฮปมาจากพระนลาฏเทวรูปในวัดริมแม่น้ำโคเลอรูน ในอินเดีย พ่อค้าฝรั่งเศสลักลอบนำเข้าปารีสใน ค.ศ. 1668 และนำมาขายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งยินดีซื้อเพชรเม็ดงามนี้ไว้อย่างเต็มพระทัย
แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีโอกาสใส่เพชรนี้เพียงครั้งเดียวก่อนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาด ทรงมอบเพชรให้แก่มาดาม เดอ มงเตสปอง แต่ไม่นานนางกลายเป็นที่เกลียดชังของราชสำนักจนท้ายที่สุดถูกขับออกจากราชสำนัก หลังจากขายเพชรให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว ฌอง แบ็ปติส ตาแวร์นิเยร์ พ่อค้าก็เสียชีวิตอย่างลึกลับที่รัสเซีย นับเป็นการสังเวยครั้งแรกให้แก่อาถรรพ์เพชรน้ำงามสีน้ำเงินเม็ดนี้
ปี ค.ศ. 1792 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส หัวขโมยบุกเข้าปล้นเพชรบางส่วนที่เหลืออยู่จากราชวังที่ปิดตาย เพชรถูกตัดให้เล็กลงอีกเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอย จากนั้นสูญหายไปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 หลังการปล้นเพชรครั้งประวัติศาสตร์ที่คลังเก็บสมบัติแห่งชาติ
เพชรถูกขายต่อให้กับช่างเจียระไนเพชรในอัมสเตอร์ดัมส์ ลูกชายของช่างคลุ้มคลั่งจนฆ่าตัวตาย ช่างคนนั้นคือ วิลเฮล์ม ฟาลส์ ซึ่งมีจุดจบอย่างน่าเศร้าเช่นกันหลังมรณกรรมของลูกชายตัวเอง
จากนั้นเพชรถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ จนในปี ค.ศ. 1939 เฮนรี ฟิลิปโฮป เจ้าของมรดกบริษัทการธนาคารซื้อเพชรสีน้ำเงินเม็ดนี้ไว้ จึงกลายเป็นเพชรประจำตระกูลโฮป และได้ชื่อว่า "เพชรโฮป" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ลอร์ดฟรานซิส เพลแฮม คลินตัน โฮป รับมรดกตกทอดมาจากพ่อ แต่กลับล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว ภายหลังภรรยาหย่ากับฟรานซิสและใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นจนเสียชีวิต เธอกล่าวโทษว่าเคราะห์ร้ายของตัวเองเป็นเพราะเพชรโฮปนั่นเอง
ต่อมา เพชรเม็ดนี้ตกอยู่ในมือของพ่อค้าเพชรในลอนดอนชื่ออดอฟล์ เวล ซึ่งอดอฟล์ก็ขายต่อให้กับไซมอน แฟรงเกล พ่อค้าเพชรชาวอเมริกาอีกทีหนึ่ง อีกครั้งที่เพชรโฮปได้เดินทางไปทั่วโลก ผ่านพระหัตถ์ของเจ้าชายคานิตอฟสกีแห่งรัสเซีย ซึ่งทรงได้มอบเพชรเป็นของกำนัลแก่นางละครที่โฟลีส์ แบแย แต่อีกไม่กี่วันต่อมา พระองค์ก็ยิงนางจนเสียชีวิต ส่วนเจ้าชายถูกพวกกบฏแทงสิ้นพระชนม์ตามไปติดๆ
หลังจากนั้นเพชรไปอยู่ในครอบครองของชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ ไซมอน มอนธะริเดส สุดท้ายประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิตทั้งครอบครัว ถึงปี ค.ศ. 1908 ปีแยร์ การ์ตีเย พ่อค้าเพชรชาวปารีสขายเพชรโฮปผ่านทางสุลต่านอับดุล-ฮามิด
สุลต่านแห่งตุรกีทรงมอบเพชรเม็ดนั้นให้แก่พระสนม แต่ไม่นานนักอาณาจักรของพระองค์ถึงกาลล่มสลาย ตอนทหารของพระองค์กระทำรัฐประหารนั้น กระสุนปืนพลาดไปถูกสนมนางนั้นจนตาย ส่วนสุลต่านถูกเนรเทศ ขันทีผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาเพชรเม็ดดังกล่าวถูกจับแขวนคอ พระองค์จึงถูกเรียกว่าเป็น"ราชาที่ถูกเพชรสาป"
จากนั้นพ่อค้าเพชรแฟรงเกลก็ขายเพชรให้กับโซโลมอน ฮาบิบ ชาวกรีก เป็นเงิน 400,000 ดอลล่าร์ ฮาบิบเอาเพชรออกขายในงานประมูลเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ พ่อค้าเพชรโรสนัวเป็นผู้ซื้อไป ปลายปีถัดมา ฮาบิบเสียชีวิตจากเรืออัปปาง
ในปีค.ศ.1910 เพชรเม็ดนี้ถูกนำไปเสนอขายให้แก่เอวาลีน แมคลีน ภรรยาของเจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เธอดัดแปลงตัวเรือนโดยล้อมเพชรสีขาวขนาดใหญ่รอบเม็ด และสามารถใส่เป็นทั้งจี้และเข็มกลัดได้ และขายในราคา 154,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แม่สามีของเธอเสียชีวิตหลังจากซื้อเพชรมาได้ไม่นาน ใน ค.ศ. 1918 ลูกชายวัย 9 ขวบถูกรถชนเสียชีวิต นายแมคลีนกลายเป็นคนติดเหล้า หลังเหตุการณ์นี้ เธอจึงหย่าขาดจากสามี ส่วนสามีเองมีอาการทางจิต เข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่นั่น หลังจากนั้นไม่กี่เดือนลูกสาวคนเดียวของครอบครัวนี้ปลิดชีพตัวเองโดยใช้ยานอนหลับ
บริษัทเครื่องประดับแฮร์รี่ วินสตัน เป็นผู้ซื้อเครื่องเพชรทุกชิ้นของเธอต่อจากทายาทรวมถึงเพชรโฮปด้วย ต่อมาปี ค.ศ. 1958 ได้บริจาคเพชรเม็ดนี้ให้แก่สถาบันสมิธโซเนียนในวอชิงตัน เพชรเม็ดนี้จึงถูกนำมาจัดแสดงในตู้โชว์จนถึงปัจจุบัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี