ในยุคไทยรักไทย พวกทักษิณก็โจมตีฝ่ายที่ขัดขวางไม่ให้เขาได้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จในนามประชาธิปไตย และ “ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมา” นั่นย่อมหมายความว่าเขาเป็นพวกอำนาจใหม่
มาถึงยุคปัจจุบัน ทักษิณได้ครองอำนาจประเทศแทบเบ็ดเสร็จ ยกเว้นสถาบันทหารกับสถาบันกษัตริย์ แต่กระนั้นเขาก็ถูกโจมตีจากพรรคส้มว่าเป็นพวก “อำนาจเก่า”
คำว่า “พวก” อำนาจเก่านั้นไม่ได้หมายถึงทักษิณกับ “พรรคแดง” เท่านั้น แต่หมายถึงสถาบันทหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะทักษิณได้กลับประเทศอย่างเท่ๆ ก็เพราะพวกอำนาจเก่า
ทักษิณและพรรคแดงกลายเป็นพวกอำนาจเก่า และพรรคส้มเป็นพวกอำนาจใหม่
พรรคส้มก็เป็น “พวก” เช่นกันแต่พวกของพรรคส้มเป็นใคร หรือใครเป็นพวกกับพรรคส้ม คำตอบง่ายมาก ว่ากันตามข่าวและข้อมูลในโลกออนไลน์ก็ต้องบอกว่า คือประเทศมหาอำนาจตะวันตก กับพวกที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดน เรื่องนี้คนวงนอกอย่างผมไม่รู้แน่ชัด แต่ฝ่ายความมั่นคงรู้ดี
อีกคำหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชนก็คือ “เก่า” และ “ใหม่”
คำว่า เก่า นั้นให้ความรู้สึกนึกคิดว่าล้าหลัง ไม่ทันการณ์ หมดสภาพ ใช้ไม่ได้แล้ว ส่วนคำว่า ใหม่ นั้นตรงกันข้าม คือ ทันการณ์ ทันสมัย เป็นของจริง เป็นความหวัง มีอนาคต เราจึงเห็นพวกนักการเมืองมักจะตั้งชื่อพรรคโดยมีคำว่าใหม่ ต่อท้ายอยู่หลายพรรค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แม้แต่ชื่อรุ่นของคนก็มีคำว่า “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่”
คำว่าใหม่ จึงใช้เป็นคำดูถูกเหยียบย่ำคำว่าเก่า
คำว่า “อำนาจเก่า” จึงหมายถึงพวกที่ครองอำนาจอยู่นั้นล้าหลัง ไม่ทันการณ์หมดสภาพ ใช้ไม่ได้แล้ว คำว่า “อำนาจใหม่”ก็หมายถึงพวกที่ทันการณ์ ทันสมัย เป็นของจริง เป็นความหวัง มีอนาคต
แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่โง่งมยิ่งกว่ากระบือก็มาก คนเก่งก็พอมี เพราะมีประสบการณ์น้อยและอคติ ส่วนคนรุ่นเก่าที่รู้ดีมีประสบการณ์มาก ก็มีทั้งคนดีและคนชั่ว
ส่วนในเรื่องการเมือง แม้พรรคการเมืองเก่า - คนเก่า รู้ดีมีประสบการณ์มาก แต่ก็ใช้ไปในทางดีก็มี ทางชั่วร้ายก็มาก
ส่วนพรรคใหม่ - คนใหม่ส่วนมากนั้นโง่มากกว่าจะฉลาด มีแต่วาทะและสร้างภาพสร้างประเด็นให้คนสนใจ เกาะกระแสหาคะแนนเสียงอย่างหน้าด้านๆ ก็มาก
ดังนั้นอำนาจเก่าหรืออำนาจใหม่ก็ขึ้นอยู่กับคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำ (เก่า - ใหม่) แต่ขึ้นอยู่กับสันดานคน และทั้งหมดก็ล้วนต้องการอำนาจทั้งนั้น
“อำนาจ” นั้นไม่มีเก่าหรือใหม่ อำนาจก็คืออำนาจ และมันเป็นที่หมายปองของคนจำนวนไม่น้อย เพราะผู้ที่มีอำนาจนั้นอยากได้อะไรก็มักจะได้อย่างใจ สามารถควบคุมและสั่งการได้แทบทุกเรื่อง จะผิดหรือถูก จะโกงหรือไม่โกงก็สั่งได้!
เหตุที่คนจำนวนมากต้องการอำนาจก็เพราะ “อำนาจเป็นสัญชาตญาณของสัตว์” ดูหมูหมาวัวควายไก่เป็ดก็เห็น มันจะต่อสู้แย่งชิงกัน ยอมเจ็บยอมตายเพื่อจะได้เป็นจ่าฝูง เพราะเมื่อเป็นจ่าฝูงแล้วมันก็สามารถควบคุมฝูงได้ ส่วนจะพาฝูงไปเป็นหรือไปตายในยามวิกฤตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
มันต้องการเป็นจ่าฝูงไว้ก่อน!
จ่าฝูงนั้นได้ผสมพันธุ์ก่อนหรือแทบจะได้ผสมพันธุ์อยู่ตัวเดียว ได้กินก่อนและได้กินดีกว่า ได้ที่อยู่ที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า มันเป็นธรรมชาติของสรรพสัตว์ที่ต้องมีตัณหา คนก็เช่นกัน คือ “ตัณหาในอำนาจ”
แต่คนแตกต่างกับสัตว์ตรงที่มีความคิด คิดดีคิดชั่วได้
คนที่กระสันอำนาจมากเท่าไหร่ก็แสดงว่าเขามีสัญชาตญาณอย่างสัตว์มากเท่านั้น ถ้าถึงขนาดหน้ามืดตามัวจนไม่สนความดีความชั่ว นั่นก็คือสัตว์เดรัจฉานในร่างคน (ในชาติต่อๆ
ไปจิตของเขาก็จะสร้างรูปลักษณ์ที่เป็นสัตว์เดรัจฉานตามที่จิตของเขาเป็นในชาตินี้)
ดังนั้นไม่ว่าอำนาจเก่าหรืออำนาจใหม่ก็ล้วนแต่เป็นสัญชาตญาณของสัตว์ทั้งนั้น เมื่อมองเข้าไปในสังคมจะเห็นว่า มีผู้คนจำนวนมากและมากขึ้นทุกวันที่อยากมีอำนาจ นั่นหมายความว่าสังคมของเรากำลังจะกลายเป็นสังคมของสัตว์เดรัจฉานมากขึ้น
แต่ถ้ามีอำนาจแล้วสร้างคุณงามความดีสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคมนั้นก็ยังถือได้ว่าเป็นคน
วิมล ไทรนิ่มนวล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี