ผมโชคดีได้มีโอกาสไปเที่ยวไทเป เมืองหลวงของประเทศไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566 ผมเคยไปไต้หวันมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งตอนเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ.2551-2554 และในฐานะ สว.ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ผมได้รับมอบหมาย-จากท่านประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขในขณะนั้นนพ.อนันต์ อริยชัยพาณิชย์ อดีตรองปลัดสาธารณสุขซึ่งตามตำแหน่งหน้าที่ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สว.น่าจะเป็น-ให้เป็นเลขาธิการ องค์การรัฐสภาแห่งเอเชียทางด้านประชากรและการพัฒนา-Secretary General, AsianFederation of Parliamentarians on Population and Development ตอนนั้นในฐานะ Secretary General ของ AFPPD ผมเป็นหัวหน้าคณะ นำเจ้าหน้าที่และ NGO ที่ทำทางด้าน Harm Reduction ไปเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน เกี่ยวกับเรื่อง Harm Reduction ของประเทศไต้หวัน ในคณะของผมก็มีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ
Harm Reduction คือ ขบวนการลดภัยอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งมี 10 วิธีการ หนึ่งในนั้นที่สำคัญมากคือ การนำเข็มฉีดยาที่ใช้ฉีดร่วมกันที่สกปรกมาแลกกับเข็มที่สะอาด เพื่อลดการติดเชื้อจากเข็มที่สกปรก เช่น เชื้อ HIV เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C ฯลฯ แต่เป้าหมายหลัก คือ การลดการแพร่เชื้อของ HIV
ตอนแรกที่ผมเป็น สว. ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับ Harm Reduction เลย ถึงแม้จะมีความรู้ทางด้าน HIV ในระยะแรกๆ ผมยังนึกแปลกใจ คิดว่า นี่เป็นการส่งเสริมทำให้มีคนใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ขณะนั้นที่ไต้หวัน เยอรมนี อังกฤษ ฯลฯ มีการนำเอาเข็มที่สกปรกมาแลกกับเข็มที่สะอาดแล้ว และมีผลที่ดีมาก กล่าวคือ ลดการติดเชื้อ HIV และยังลดการใช้ยาเสพติดลงอีกด้วย แต่การทำ Harm Reduction ไม่ใช่ทำแต่เพียงเอาเข็มที่สกปรกมาแลกกับเข็มที่สะอาดเท่านั้น ต้องทำทั้ง 10 กระบวนการด้วย เช่น ตรวจหาเชื้อ HIV และให้คำแนะนำให้ยาต้านไวรัส ใช้สารแทนยาเสพติด ฯลฯ
ที่ประเทศไต้หวันผลของการทำ Harm Reduction ได้ผลดีมาก ทั้งนี้เขามีคำสั่งมาจากข้างบน ลงมาข้างล่าง ผู้ที่นำเข็มสกปรกมาแลก จะมีสถานที่ให้มาแลกได้ โดยไม่มีใครไปคอยจับผิด ประเทศไทยเราลองทำอยู่หลายจังหวัด และได้ผลดี แต่ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าไปถึงไหน
ผมยังได้ไปดูงานต่อที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งก็ได้ผลดีเหมือนกัน ช่วงที่ผมไปไต้หวันผมโชคดีมากได้ไปพบท่านประธานาธิบดี (หรือท่านนายกฯ) ที่ที่ทำงานของท่าน และผมยังได้รับของที่ระลึกเป็นจานใหญ่ๆ 1 ใบ ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
อีก 2 ครั้งอย่างน้อยที่ไปไต้หวันก็ไปประชุมดูงานทางด้านการแพทย์
ประเทศไต้หวัน-ไม่ขอพูดเรื่องประวัติศาสตร์ในคราวนี้ เป็นประเทศเล็กๆ มีเนื้อที่เพียง 36,193 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย168 เกาะ เกาะที่ใหญ่สุดมีชื่อว่า Taiwan (ไต้หวัน) หรือFormosa ซึ่งมีพื้นที่ 35,808 ตารางกิโลเมตร และ 2 ใน 3ของพื้นที่ทางด้านตะวันออกเป็นภูเขา มีพื้นที่ราบประมาณ 1/3ทางด้านตะวันตกของเกาะที่มีพลเมืองหนาแน่นมาก เมืองหลวงคือ Taipei หรือไทเป ซึ่งรวมกับเมือง New Taipei และ Keelung เป็นนคร (metropolitan) ที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เมืองใหญ่อื่นๆ คือ Taoyuan, Taichung, Tainan และ Kaohsiung ประเทศไต้หวันมีพลเมืองเพียง 23.9 ล้านคน และมีพื้นที่ 36,103 ตารางกิโลเมตร (ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีพลเมือง 67 ล้านคน หรือไต้หวันมีพื้นที่เพียง 14.2% ของไทย แต่มีพลเมืองถึง 28% ของไทย)
การไปไต้หวันต้องใช้หนังสือเดินทางธรรมดา ไม่ใช่หนังสือเดินทางราชการ และไม่ต้องมีวีซ่า เข้าพักได้ 14 วัน ตอนเข้าประเทศ ต้องกรอกเอกสารเข้าเมืองแบบกระดาษ หรือ online ก็ได้
ประเทศไต้หวันเคยตกอยู่ใต้การปกครองของประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 50 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1895-1945 จึงมีวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอยู่มาก เท่าที่ทราบ คนไต้หวันชอบคน และประเทศญี่ปุ่นมาก ไม่เกลียดชังญี่ปุ่นเหมือนคนเกาหลี หรือคนจีน ผมยังได้มีโอกาสไปทานอาหารญี่ปุ่นที่เป็น set แบบ omakase ซึ่งแปลว่า “ให้พ่อครัวทำรายการอาหารตามใจชอบได้เลย” หรือ “I leave it up to you” ซึ่งร้านที่ผมทานนั้นร่ำลือกันว่าเป็นร้านญี่ปุ่นที่อร่อยที่สุดในโลกที่อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น อาหารชุด omakase อาจมีอาหารถึง 22 อย่าง ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการรับประทาน
ของเราเบาะๆ ก็ 2 ชั่วโมงเท่านั้นครับ อร่อยมาก ร่วมกับการดื่มเบียร์ชื่อ “Taiwan beer” ที่เย็นเจี๊ยบ และสาเก สรุปแล้วก็คือ สวรรค์บนดิน (heaven on earth) ดีๆ นั่นเอง
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี