เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมบรรยายในการสัมมนาเรื่องความคืบหน้าของประชาคมอาเซียน (The AEC 2016–“So far, so good”?) จัดโดยศูนย์เยอรมัน-ว่าด้วยกฎหมายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance – CPG) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จากมุมมองของผม ได้ตั้งประเด็น หรือสัญญาณบ่งบอก (signs) ความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไรของประชาคมอาเซียน พร้อมกับอุปสรรค หรือสิ่งกีดขวาง (hurdles) ที่ต้องก้าวข้ามกระโดดกัน ซึ่งสัญญาณบ่งบอก หรือตัวชี้วัดความก้าวหน้าของประชาคมอาเซียนที่ว่านั้นมีดังต่อไปนี้
1.หลักคิดว่าด้วยการให้ประชาคมอาเซียนเป็นแกนหรือศูนย์กลางขับเคลื่อนความเป็นไปในภูมิภาคเอเชีย–(มหาสมุทร)แปซิฟิก/(มหาสมุทร) อินเดีย (ASEAN Centrality) หรือถ้าจะเปรียบเทียบว่าภูมิภาคนี้เป็นเสมือน
รถยนต์ ผู้ขับเคลื่อนคือ อาเซียน นั่นเอง ซึ่งผมให้ข้อสังเกตว่า อาเซียนมีวิสัยทัศน์ และความตั้งใจดี แต่การเป็นศูนย์กลางผลักดัน ดูจะอ่อนเปลี้ย ไม่เข้มข้น แข็งขันและจริงจัง ดังเห็นได้ว่า การมีท่าทีร่วมกันในเวทีโลกและเวทีภูมิภาคในประเด็นปัญหาต่างๆ ของโลก ไม่ว่าเรื่องตะวันออกกลาง, เรื่องโลกร้อน, เรื่องการเผชิญหน้าระหว่างยุโรป อเมริกากับรัสเซีย, เรื่องอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธร้ายแรงผลาญเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ (เคมี), เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ-การก่อการร้ายสากล และใกล้ตัวเรื่องการรุกราน ก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนตอนใต้ การทำตามอำเภอใจในต้นน้ำสายหลักๆ ของทวีปเอเชีย การแข่งขันกันเพิ่มแสนยานุภาพทางทหาร จนถึงปัญหาคาบสมุทรเกาหลี เหล่านี้ อาเซียนไม่ได้มีการปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดท่าทีร่วม และเพิ่มอำนาจต่อรองอย่างแท้จริง ดูจะทำแค่ปล่อยให้เหตุการณ์มีขึ้นและอยู่ต่อไป โดยไม่คิดที่จะตีขนาบใดๆ เสมือนประเทศสมาชิกต่างคนต่างอยู่
2.หลักคิดและวิสัยทัศน์ที่ว่าประชาคมอาเซียนเป็นของประชากรอาเซียนและเพื่อประชากรอาเซียน ฉะนั้นประชากรอาเซียนต้องรู้ ต้องมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจความเป็นไปต่างๆ ของอาเซียน ขณะเดียวกันประชากรอาเซียนต้องข้องแวะไปมาหาสู่ มีกิจกรรมร่วมกัน มีความรู้สึกว่าเป็นชาวอาเซียนด้วยกัน มีอนาคตร่วมกัน แต่ทว่าองค์ความรู้และความรู้สึกนึกคิดว่าใกล้ชิดเป็นพวกเดียวกัน ยังดูเหินห่าง อ้างว้าง แม้กระทั่งเรื่องเฉพาะหน้า เช่น การเคลื่อนไหวของแรงงานอาเซียนด้วยกัน ก็ยังมีความเข้าใจผิด มีข้อกังขา ทั้งที่อุปสงค์ อุปทาน ก็รองรับกันอยู่ และอาเซียนมุ่งเป็นตลาดเดียวกัน
3.กฎบัตรอาเซียน (ไม่นับพันธกรณีตามกฎบัตรและอนุสัญญาสหประชาชาติ) บ่งบอกการเป็นสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พฤติกรรมรัฐบาลประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มีความเป็นเผด็จการรูปแบบต่างๆ มากมาย (ทั้งนี้เงื่อนไขการเป็นสมาชิกอาเซียนไม่ระบุว่าประเทศนั้นต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย เหมือนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป)
4.การเป็นตลาดเดียว มิใช่แค่ลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน เพื่อลดต้นทุน ให้ความสะดวกการค้าขายและลดราคา หรือเปิดให้มีการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน (Labourers) และมืออาชีพ (Professionals) หรือความสะดวกในการหมุนเวียนเงินตราเท่านั้น แต่การสัญจรไป-มาข้ามเขตแดนระหว่างกัน ต้องเร่งรีบให้มีสภาพไร้พรมแดนให้มากและเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องปากท้อง การท่องเที่ยวและการรู้จักมักจี่สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเอง เคารพเชื่อถือต่อกัน แต่ทว่าปัญหาคั่งค้าง ทับถม เรื่องด่านศุลกากร รวมทั้งเรื่องตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบกักกันพืชและสัตว์ เพื่อความปลอดภัย และความสะดวกของยานยนต์และรถไฟ ก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ยังเต็มไปด้วยความล่าช้า ไม่สะดวกและการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งจุดผ่านแดนต่างๆ ควรมุ่งให้พิธีการน้อยลง มีการบริการให้มากชั่วโมงหรือตลอด 24 ชั่วโมง ก็ได้ มิฉะนั้นจะเป็นตลาดเดียวกัน ประชาคมเดียวกันทำไม
5.ความรู้สึกนึกคิด การมีอคติ แทนที่จะเปิดใจกว้างต่อกันและกัน เพราะจะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ก็ยังมีปัญหาประวัติศาสตร์และปัญหาการหลงเหลือของโลกสงครามเย็นอยู่ คือ มุ่งแต่เรื่องความมั่นคง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งต้องสร้างความเข้าอกเข้าใจ การถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้อยปฏิบัติ คิดถึงปัจจุบันและวันหน้า แทนที่จะเอาประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งและความรู้สึกเดิมๆ เป็นที่ตั้ง ก็ต้องชำระประวัติศาสตร์ให้เยาวชนรู้ รับทราบ และมุ่งหน้า ในแบบที่ รับรู้ ไม่ลืม แต่ให้อภัย เลิกรากันไป ฉะนั้น หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ต่อกันและกันเป็นรายประเทศ ก็ต้องว่ากันใหม่หมด มิฉะนั้นจะเอาประวัติศาสตร์มาเล่นเรื่องชาตินิยมกันไม่จบสิ้น (มีข้อสังเกตว่า เวียดนามไม่เคยบ่นเรื่องมีเครื่องบินอเมริกาจากไทยไปถล่มเวียดนามอยู่นานหลายปี เพราะเขาเห็นว่าเรื่องจบแล้ว แล้วมาร่วมมือกันเพื่อเป็นมิตรกันเท่านั้น)
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ประชาคมอาเซียนดูจะไม่เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทั้งที่มีกฎบัตร มีคำมั่นสัญญาในรูปข้อตกลง แถลงการณ์ร่วม เอกสารพิมพ์เขียว และเอกสารแผนที่เดินหน้า (Road Map) กันมากมายเป็นปึกๆ แล้วยังมีการประชุมเป็นร้อยเป็นพันครั้งต่อปี
ผมก็ให้ข้อสังเกตว่าที่มันเป็นเช่นนี้ก็มีสาเหตุหลายประการ เช่น
1) ผู้นำแต่ละประเทศมัวคิดแต่เรื่องเฉพาะหน้าของตน ทำให้ไม่มีเวลา ไม่มีกะใจให้กับเรื่องอาเซียนส่วนรวม
2) ผู้นำอาเซียนขาดวิสัยทัศน์ ขาดพลังดลใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำงานแบบรอให้ข้าราชการประจำเสนอเรื่องขึ้นมา แล้วก็ประชุมกันไปตามพิธีการ เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยจะรู้เรื่องหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะจิตใจที่จะทุ่มเทให้นั้นไม่มี
3) ผู้นำอาเซียนยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ขาดภาวะผู้นำ ขาดการเล็งเห็นประโยชน์ของการใช้อาเซียนเป็นกลไกเครื่องมือสำคัญ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อประโยชน์ของประเทศของตน
4) องค์กรกลางที่ควรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นแม่งาน เป็นกองทัพมดประจำวันคือ เลขาธิการสำนักงานอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา พร้อมกับบรรดาเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร 10 ประเทศสมาชิก ประจำสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ก็ไม่ได้ทำงานอย่างแข็งขัน แค่ทำงานประจำไปวันๆ หนึ่ง แล้วเตรียมการประชุมต่างๆ ให้ “เจ้านาย” อีกทั้งองค์กรส่วนหน้าของอาเซียนในเมืองหลวงต่างๆ ทั่วโลก คณะทูตอาเซียน ก็ไม่ร่วมมือร่วมใจกันหนักแน่นในการดำเนินงานความสัมพันธ์กับประเทศเจ้าภาพ
5) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ของแต่ละประเทศอาเซียน ยังทำงานไม่ได้เป้า คือ การให้ความรู้ต่อเยาวชน และสาธารณชนโดยทั่วไป ยังไม่กว้างขวางต่อเนื่อง แม้กระทั่งสื่อสาธารณะของแต่ละประเทศ ก็ยังไม่มีเวลาแน่นอนให้กับกิจการอาเซียน
6) ในทุกประเทศการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ก็ยังจำกัดอยู่มาก เพราะขาดช่องทางกลไก และขาดแผนการเปิดกว้างทางใจ
ทั้งหมดนี้ก็ต้องทบทวนปรับปรุงกันใหม่ หากทำได้ อาเซียนก็สามารถจะไปได้อีกไกล เพราะยังมีอะไรที่จะทำร่วมกันได้อีกมาก จะมัวท้อแท้เพียงเพราะสหภาพยุโรปมีปัญหากันอยู่ไม่ได้ มองในแง่ดี เรื่องที่เขามีปัญหา ก็จะทำให้อาเซียนเราได้มีสติ เตือนตัวเอง เรียนรู้จากความสำเร็จ และความผิดพลาดจากยุโรปเขา จะเป็นบทเรียนให้อาเซียนได้เดินไปให้ถูกทางอย่างมั่นคง
ทั้งหมดนี้ต้องคิดว่า ต่างคนต่างอยู่ ก็ไปเองลำบาก นิทานอีสปว่าด้วย กิ่งไม้หนึ่งกำมือนั้นแข็งแรงกว่ากิ่งไม้
ก้านเดียว ฉันใดก็ฉันนั้น ต้องร่วมมือกันให้ได้ อย่าให้กลายเป็นเรื่องกบเลือกนาย ดังที่กบลาว กบกัมพูชา กำลังถูกนายจีน
เคี้ยวอยู่ตลอด ทำให้อาเซียนอ่อนแอลงไปอีก ด้วยฝีมือตนเอง แล้วยังมีจีนมาช่วยยำอาเซียนให้เละอีกด้วย ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็ยัง
มุ่งใช้อาเซียนเป็นเวทีเพื่อกันอิทธิพลของจีน อาเซียนก็ต้องคิดอ่าน ไม่ให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดๆ ให้ได้
ใครจะมาหาประโยชน์ก็เรื่องหนึ่ง เขาจะได้มากน้อยก็อยู่ที่อาเซียนเองเท่านั้น ผู้นำก็ต้องตื่นตัวกันได้แล้ว แล้วพูดจากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้
มอง Sign Posts ให้เข้าใจ เราจะได้มุ่งหน้าไปแล้วจะได้เห็นแต่ไฟเขียว ไม่ใช่ต้องคอยชะลอ ด้วยไฟเหลือง หรือเบรกกันตัวโก่งตามไฟแดง ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตของอาเซียนริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี