“คอมมานโด”...
หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (กก.ปพ.บก.ป.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกองปราบปราม ในการต่อกรกับเหล่าร้ายทุกเป้าหมาย โดยปัจจุบัน “เขี้ยวเล็บ” ของหน่วยงาน “ที่พึ่งสุดท้าย” แห่งนี้มี พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นหัวเรือใหญ่ ขับเคลื่อนหน่วยงานเคียงคู่กับ “มือขวา” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเกือบทุกๆ ด้าน ซึ่ง “บนถนนสีกากี” จะพาไปรู้จักกับตำรวจผู้นี้ นั่นคือ...
“พ.ต.ท.ปิยรัช สุภารัตน์ รองผกก.ปพ.บก.ป.!!!
พ.ต.ท.ปิยรัช หรือ “เปิ้ล” เป็น “เด็กบ้านนอก” ธรรมดาคนหนึ่ง เขาเกิดที่ จ.นครสวรรค์ แต่มาเติบโตที่ จ.ลพบุรี จากนั้นกลายเป็น “เด็กวัด” เพราะในวัยเยาว์เข้าศึกษาที่โรงเรียนวินิจศึกษาในพระราชูปถัมภ์ มีเจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์ พร่ำสอนปลูกฝังธรรมะในจิตใจ จนเป็นคนที่เชื่อเรื่อง “บาป บุญ เวรกรรม” จากนั้นเด็กบ้านนอกที่มีครอบครัวทั้งบิดาและพี่ชายเป็นทหารก็ “ผ่าเหล่า” สอบเข้าเตรียมทหาร และเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) จบรุ่นที่ 55 และสอบได้ที่ 1 ของรุ่น
เขาเริ่มรับราชการที่ สน.บางนา ก่อนจะเติบโตบนเส้นทางราชการเรื่อยมา โดยเคยทำงานติดตาม พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผบ.ตร. จนกระทั่งได้มาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจรถไฟศิลาอาสน์ จากนั้น 1 ปีให้หลังก็ขึ้นเป็น รองผกก.ปพ.บก.ป.
พ.ต.ท.ปิยรัช ฝากผลงาน “จับกุม” คดีสำคัญไว้ไม่น้อย ในเวลาเดียวกันเขายังทำหน้าที่เป็น “ครูฝึก” คอมมานโด สอนเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน แนะนำเทคนิควิธีการยิงปืนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเขามองว่า“คอมมานโด” รวมถึงตำรวจทุกหน่วยงานต้องฝึกฝนสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยให้มีทักษะ พร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน ที่จะได้รับความอบอุ่นใจ พึ่งหวังได้ ตำรวจบางนายเรียนจบ ก็ไม่เคยจับปืนอีกเลย ตรงนี้เป็น “จุดอ่อน” อย่างน้อยต้องฝึกทบทวน เพราะนอกจากเพื่อประชาชนได้รับความปลอดภัยแล้ว ตัวเราก็จะปลอดภัยเมื่อต้องเผชิญเหตุด้วย
“เวลาตำรวจเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน หากจะให้ภารกิจลุล่วง ตัวประกันปลอดภัย เราต้องมีประสบการณ์ อาศัยความฉับไว แม่นยำ ในเสี้ยววินาที เมื่อลั่นไก ต้องมีประสิทธิผลสูงสุด ไม่เช่นนั้นเราอาจสูญเสียตัวประกันหรือผู้บริสุทธิ์”
พ.ต.ท.ปิยรัช เป็นคนชอบเล่นฟุตบอล ซึ่งเขาใช้กีฬาชนิดนี้ “แบ่งปัน” ความสุขไปถึงผู้อื่น โดยใช้การเตะฟุตบอลเป็นกิจกรรมช่วยเหลือผู้คนตามถิ่นทุรกันดาร ที่ขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภค เน้นกิจกรรมที่เป็นการ “กระจายความสุข” แบ่งปันน้ำใจให้ผู้ยากไร้ คือ พอไปเล่นฟุตบอลตามโรงเรียนต่างจังหวัด ก็จะมอบอุปกรณ์กีฬาให้เด็กๆ
“ผมมีความสุขกับการเป็นผู้ให้ ความหมายของการให้ คือ ไม่จำเป็นว่าต้องให้เฉพาะคนรู้จัก เพราะการให้ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ การให้โดยไม่มีเงื่อนไข และให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน”
เขาบอกด้วยว่า นอกเหนือจากการได้ช่วยเหลือประชาชนในฐานะ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” แล้ว สิ่งที่ภูมิใจที่สุดต่อวงศ์ตระกูล คือ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานสมรสจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ทรงมีพระเมตตาให้ตน และ น.ส.รามวดี ประสานสุทธิพร อย่างหาที่สุดมิได้ โดยมีการจัดงานเลี้ยงฉลอง “สมรสพระราชทาน” ไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2559
พ.ต.ท.ปิยรัช กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ตนยึดหลัก “ธรรมะ” ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน และยึดมั่นว่าจะเทิดทูนสถาบันสำคัญทั้ง 3 ของประเทศนี้ไว้สูงสุด นั่นคือ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ครอบครัวตนนับตั้งแต่คุณทวด คุณพ่อ และพี่ชาย ล้วนเป็นทหารทุกคน ส่วนตนแม้จะเลือกรับราชการตำรวจ แต่จะเทิดทูนไว้ซึ่ง 3 “สถาบันสูงสุด” เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตนี้
ความหมายของการให้ คือ ไม่จำเป็นว่าต้องให้เฉพาะคนรู้จัก เพราะการให้ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ การให้โดยไม่มีเงื่อนไข และให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
ทีมข่าวอาชญากรรม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี