เมื่อเร็วๆ นี้ มหาเถรสมาคม (มส.) ได้พิจารณารายชื่อพระเถรานุเถระที่จะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ 159 รูป
ปรากฏว่า มีสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 1 รูป ได้แก่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อ.สามพรานจ.นครปฐม
เป็นรายชื่อที่จะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”
1. ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ เป็นพระที่ไม่เคยวิ่งเต้น เพรียกหายศศักดิ์ หรือตำแหน่งในคณะปกครองสงฆ์เลย
นับเป็นพระเถรานุเถระรูปแรก ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ โดยไม่เคยเป็นเจ้าคณะใดๆ
และไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย
แต่หากได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อใด ก็จะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยสมณศักดิ์ทันที ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์
เป็นเพชรน้ำเอกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ในทางสมณศักดิ์นั้น เมื่อปี 2512 ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
ปี 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
ปี 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
ปี 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก
ปี 2547 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ จวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ปัญหาวงการสงฆ์ที่มหาเถรชุดปัจจุบัน นับแต่สิ้นสมเด็จพระสังฆราชไปนั้น ถูกมองว่าอ่อนแอ มีการวิ่งเต้นเล่นพวก มีผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างประเจิดประเจ้อ และไม่สามารถจัดการกับปัญหาอุกอาจ อุกฉกรรจ์
โดยเฉพาะกรณีธัมมชโย ธรรมกาย ตรงกันข้าม กลับดูว่าผู้นำคณะปกครองสงฆ์ได้รับอุปถัมภ์ค้ำชูจากธัมมชโยอีกต่างหาก
2. พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นอีกหนึ่งพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
เป็นพระนักปราชญ์ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
นามชื่อท่าน ชื่อ ประยุทธ์ นามสกุล อารยางกูร
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี 2494 ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิด
ปี 2496 ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ให้อุปสมบทในฐานะนาคหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2504 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ได้นามฉายาว่า“ปยุตฺโต” มีความหมายว่า“ผู้เพียรประกอบแล้ว”
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มากที่สุด กว่า 20 ใบ ทั้งจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล นวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นต้น
ได้รับประกาศเกียรติคุณและรางวัลมากมาย เช่น รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ องค์การยูเนสโก, เป็น “ศาสตราจารย์พิเศษ” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เป็น “ราชบัณฑิต (พิเศษ)” ฯลฯ
มีผลงานทางวิชาการพุทธศาสนาลึกล้ำ ทรงคุณค่ามากมาย เช่น หนังสือ “พุทธธรรม” - “ธรรมนูญชีวิต” - “พระพุทธศาสนากับสังคมไทย”ฯลฯ
3. ท่านเขียนหนังสือ “กรณีธรรมกาย” ตั้งแต่ปี 2542 แสดงธรรมอย่างละเอียด
ด้วยความแตกฉานและถ่องแท้ในพระไตรปิฎก
ปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยปัญญา โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลอำนาจของธัมมชโยและธรรมกายที่มีเหนือองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยโน้น
จำแนกให้เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย มีหลายแง่หลายประเด็น เช่น เรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ เรื่องการดำเนินงานขององค์กร คือวัดและมูลนิธิ เกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น ตลอดจนการดำเนินธุรกิจต่างๆ การแสวงหาเงินทอง โดยวิธีซึ่งเป็นที่สงสัยว่าจะไม่ถูกต้องในแง่กฎหมายบ้างในแง่พระวินัยบ้าง โดยเฉพาะการยกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมาเผยแพร่ในลักษณะที่เป็นการชักจูงให้คนบริจาคเงิน
การใช้วิธีกึ่งเกณฑ์ให้เด็กนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนข้าราชการ เป็นต้น จำนวนมากๆ เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีเป้าหมายที่น่าสงสัยว่าจะมุ่งไปที่การให้บริจาคเงินหรือไม่
ที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
“การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย”
พระพรหมคุณาภรณ์ ระบุว่า วัดพระธรรมกายเผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ อาทิ สอนว่านิพพานเป็นอัตตาสอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพนิมิต และให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตน เป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน
สอนเรื่องอายตนนิพพานที่ปรุงถ้อยคำขึ้นมาเองใหม่ ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ถึงกับมีพิธีถวายข้าวพระที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระพรหมคุณาภรณ์ ชี้ว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยก็ร้ายแต่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ร้ายยิ่งกว่า
นอกจากนี้ การนำคำว่า “บุญ” มาใช้ในลักษณะที่ชักจูงประชาชนให้วนเวียนจมอยู่กับการบริจาคทรัพย์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดติด ถือมั่นในตัวตน และในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มที่บั่นทอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้รางเลือนไปด้วย พฤติการณ์ของสำนักวัดพระธรรมกายอย่างนี้ เป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย สร้างความสับสนไขว้เขวและความหลงผิดแก่ประชาชน
การที่พระพรหมคุณาภรณ์ จะได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ จึงเป็นเรื่องที่พุทธบริษัท 4 มีความยินดีอย่างที่สุด เมื่อพระดีได้รับตำแหน่งสำคัญ เพื่อสืบสานและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์สืบต่อไป ตราบนานเท่านาน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี