ในพระพุทธศาสนานั้นมีคัมภีร์หลักคือพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นที่รวบรวมพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แบ่งออกเป็นสามภาค หรือสามปิฎก คือพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
นอกจากพระไตรปิฎกแล้วก็ยังมีคำอธิบายขยายความของพระธรรมกถึกและพระอรรถกถาจารย์ต่างๆ ที่สืบเนื่องกันมา เป็นเรื่องราวเนื้อหาที่ควรแก่การสนใจในเชิงปริยัติ เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่กว้างขวางออกไป แต่เป็นส่วนเกินคือส่วนที่เกินออกไปจากที่จำเป็นเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะพระธรรมคำสอนที่มีเนื้อหาโดยตรงของพระพุทธศาสนานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสรับรองไว้เองว่า มีอยู่เพียงสองเรื่องเท่านั้น คือเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ สองเรื่องนี้เป็นความจำเป็นของเวไนยสัตว์ และเป็นเนื้อใหญ่ใจความของพระพุทธศาสนา ทั้งเป็นเป้าหมายสูงสุดเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อความหลุดพ้นและนิพพาน
แต่เพราะเหตุที่คนเรานั้นมิได้มีสติปัญญาหรือภูมิธรรมเสมอกัน บางพวกก็สามารถเข้าใจอะไรได้โดยง่าย บางพวกก็เข้าใจอะไรได้โดยยาก และบางพวกถึงจะอบรมสั่งสอนอย่างไรก็ไม่มีวันเข้าใจได้ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการอธิบายเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย จึงมีเรื่องราวของชาดกซึ่งเป็นการยกตัวอย่างในอดีตชาติของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง หรือเรื่องราวอื่นๆ ที่จะเป็นทางให้เกิดความเข้าใจในหัวข้อธรรมหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
ดังนั้นในบรรดาชาวพุทธจึงนิยมชมชอบชาดก เพราะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินและเข้าใจได้โดยง่าย และมากหลายเรื่องก็มีคติธรรมอันลึกซึ้งที่สอนใจได้และเป็นเครื่องนำทางของชีวิตได้เป็นอย่างดี ดังเช่นชาดกเรื่องคนขี้ขอ เป็นต้น
และในเรื่องราวชาดกทั้งหลายนั้น มีเรื่องที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในเชิงเปรียบเทียบหรือประชดประชันกันบ่อยมากอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่องฤๅษีเลี้ยงเหี้ย
เหี้ยเป็นสัตว์ขี้ลัก ขี้ขโมย กินอยู่กับของโสโครกสกปรก แต่มีหนังสวย งดงาม อร่ามตา และมีราคาค่างวดเพราะเป็นที่นิยม
ใช้ทำกระเป๋าสำหรับสตรีผู้สูงส่ง เป็นที่นิยมกันทั่วโลก ในขณะที่ฤๅษีนั้นเป็นผู้บำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีฤทธานุภาพ เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน การที่ฤๅษีกับเหี้ยมาอยู่ด้วยกันจึงเป็นเรื่องราวชาดกที่น่าสนใจว่าผู้บำเพ็ญพรตที่มีความบริสุทธิ์กับสัตว์สกปรกโสโครกอย่างเหี้ยนั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
เพราะเมื่ออยู่ร่วมกันชาวบ้านเขาก็ไว้วางใจฤๅษี เคารพศรัทธาฤๅษี แต่ใต้อาศรมฤๅษีกลับมีเหี้ยอาศัยเกาะกินอยู่ ฤๅษีท่านมีใจเมตตา ไม่ฆ่า ไม่แกง ไม่ไล่ อยู่ไปอยู่มาเหี้ยก็กลายเป็นเจ้าถิ่น แต่ความเคยชินในการกินของสกปรกโสโครกหรือการลักขโมยไก่เป็ดหรือข้าวของชาวบ้านก็เป็นนิสัยที่เลิกไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิดความอิหลักอิเหลื่อขึ้น
ในขณะที่ชาวบ้านพากันเดือดร้อนเพราะเหี้ยลักขโมยข้าวของเบียดเบียนไม่เว้นในแต่ละวัน แต่ชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาศรัทธาฤๅษี ส่วนฤๅษีก็มิได้หวาดระแวงเหี้ยเพราะคิดแค่ว่าเป็นสัตว์ชั้นต่ำมาอาศัยใต้ถุนอาศรม คอยกินเศษอาหารหรือของเหลือทิ้งเท่านั้น ความอิหลักอิเหลื่อก็เกิดขึ้น จนถึงวันหนึ่งชาวบ้านก็ทนไม่ไหว เพราะเข้าใจผิดคิดว่าฤๅษีเลี้ยงเหี้ย จึงพากันขับไล่ฤๅษีและไล่ตีเหี้ยเข้าพงไพรไปในที่สุด
ชาดกเรื่องนี้จึงเป็นชาดกที่แฝงคติธรรมอย่างลึกซึ้ง และถ้าไตร่ตรองคิดพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ก็จะเห็นประโยชน์ของชาดกเรื่องนี้ ชะดีชะร้ายจะคุ้มครองป้องกันทั้งฤๅษีและแม้เหี้ยเองถ้าหากได้คิดก็อาจจะเลิกประพฤติทุจริตและทำตามแบบอย่างของฤๅษี ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
จึงมีบทเรียนอันแยบคายแฝงอยู่ ซึ่งมีผู้สรุปแล้วเผยแพร่กันอยู่ในขณะนี้มีนัยที่สำคัญอันควรแก่การนำมาเล่าสู่กันฟัง
ดังนี้
ข้อแรก ฤๅษีนั้นบำเพ็ญพรตเพื่อบำเพ็ญตบะเพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้น ไม่ได้เลี้ยงเหี้ย ไม่ได้ทำนุบำรุงเหี้ย หรือปกป้องเหี้ย เพียงแค่มีใจเมตตาให้เหี้ยอาศัยใต้ถุนอาศรม แต่เพียงเท่านี้ก็มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมฤๅษีเลี้ยงเหี้ย ซึ่งถ้าหากไม่สำเหนียกสังวรก็จะเกิดคำนินทาไปในลักษณะนี้
ข้อสอง จะต้องจำแนกแยกแยะให้ได้ว่าฤๅษีก็ส่วนของฤๅษี เหี้ยก็ส่วนของเหี้ย จะเอาไปปะปนกันไม่ได้ ก็จะสามารถแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้ ไม่ปะปนให้เกิดความสับสนขึ้น ความนับถือฤๅษีก็จะมีอยู่และบังเกิดประโยชน์สืบไป เพราะเมื่อนับถือฤๅษีก็มิได้หมายความว่านับถือเหี้ย การที่จะไล่เหี้ยหรือตีเหี้ยก็ไม่ใช่เป็นการตีฤๅษีหรือไล่ฤๅษีแต่ประการใด และถ้าพิจารณาโดยแยบคาย ใครไล่เหี้ย ตีเหี้ย ก็อาจถือได้ว่าเป็นผู้มีใจไมตรีช่วยเหลือฤๅษีทางอ้อมด้วยซ้ำไป
ข้อสาม อันเหี้ยนั้นย่อมมีวิสัยเหี้ยเป็นธรรมดาธรรมชาติ ไม่มีทางที่จะเป็นพระหรือเป็นวีรบุรุษไปได้ แม้ว่าเคยอยู่กับฤๅษีตนอื่นมาก่อน ก็ย่อมมีนิสัยเป็นเหี้ยอยู่เหมือนเดิม เมื่อมาอาศัยอยู่กับฤๅษีตนใหม่ก็คงเป็นเหี้ยอยู่นั่นแหละ ดีร้ายเหี้ยที่เคยทำให้ฤาษีตนก่อนถูกตะเพิดไล่ส่งอาจเป็นเหตุทำให้ฤๅษีตนใหม่ถูกตะเพิดไล่ส่งก็เป็นได้
ข้อสี่ ฤๅษีนั้นท่านบำเพ็ญพรตภาวนา จึงไม่มีเวลาที่จะใส่ใจว่าเหี้ยทำเหี้ยอย่างไร โสโครกสกปรกอย่างไร จึงบางครั้งทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าฤๅษีเลี้ยงเหี้ยไว้เพื่อหากินร่วมกับเหี้ย และอาจหนักไปถึงขั้นที่เข้าใจผิดคิดไปถึงว่าฤๅษีเลี้ยงเหี้ยไว้ให้เบียดเบียนลักของชาวบ้าน จนเกิดความเดือดร้อน เมื่อชาวบ้านทนไม่ไหวก็จะไล่ตะเพิดทั้งฤๅษี ทั้งเหี้ยไปพร้อมกัน
นี่คือบทเรียนและข้อคิดพิจารณาของชาดกเรื่องฤๅษีเลี้ยงเหี้ย แต่คงจะเอามาเทียบกับผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองได้หรือไม่ได้ก็ต้องคิดอ่านไตร่ตรองกันให้จงดี
ด้วยเหตุนี้แหละเมื่อครั้งแสดงมงคลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมงคลสองข้อแรกไว้กำกับคนทั้งหลายว่า ต้องไม่คบคนพาล ต้องคบบัณฑิต เหล่านี้เป็นมงคลอันสูงสุดที่ผู้ใดประพฤติปฏิบัติแล้วก็จะมีแต่ความสวัสดี และถึงซึ่งมงคลทั้งปวง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี