ในวงการชาวพุทธในบ้านเราทุกวันนี้มีการถกเถียงและอธิบายกันในเรื่องสมถะและวิปัสสนากันอย่างกว้างขวาง และส่วนใหญ่ก็อธิบายกันไปตามความรู้ความเชื่อที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์ตน กระทั่งเถียงคอเป็นเอ็นว่า ความคิดความเห็นของตนเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความคิดความเห็นอื่นเป็นเรื่องที่ผิดและเป็นเรื่องที่นอกพระพุทธศาสนา
เถียงกันจนลืมพระพุทธ ลืมพระธรรม ลืมพระสงฆ์ เพราะไปยึดมั่นถือมั่นเอาว่าสิ่งที่เรียนที่รู้มาจากอาจารย์ตนนั้น เป็นความถูกต้องแต่สิ่งเดียว ลืมคำนึงไปว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระบรมศาสดาทรงสอนอะไร และทรงสอนเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง และเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องความเข้าใจเรื่องนี้มีอยู่เป็นอันมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจจะไม่ยึดติดอยู่กับนิรุกติหรือบาลีหรือสิ่งที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนก็ได้
สมถะกับวิปัสสนาแม้เป็นเรื่องของมรรคหรือหนทางปฏิบัติเหมือนกัน เป็นคนละเรื่องกัน เป็นคนละขั้นตอนกัน แต่ต่อเนื่องกัน
สมถะคือกระบวนการฝึกฝนอบรมจิตในพระพุทธศาสนา เพื่อให้จิตนั้นเข้าถึงภาวะสามประการ คือ ความตั้งมั่น ความบริสุทธิ์ และความมีกำลัง ที่สามารถทำหน้าที่ของจิตได้ ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เป็นไปตามลำดับการอบรมฝึกฝน โดยมีบั้นปลายคือจิตนั้นมีความเป็นสมาหิโต หรือมีความตั้งมั่น มีความเป็นปริสุทโธ หรือมีความบริสุทธิ์ และมีความเป็นกัมมนีโย คือมีพลังที่สามารถทำการงานของจิตได้
แบบแผนปฏิบัติในการฝึกฝนอบรมจิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนมีทั้งสิ้น 36 แบบ คือ กสิณ 10 อสุภกรรมฐาน 10 อนุสติ 10 อัปปมัญญา 4 จตุธาตุววัฏฐาน 1 และอาหาเรปฏิกูลสัญญาอีก 1 ทั้ง 36 แบบนี้ ในเบื้องต้นทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมถะ คือการฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงสภาวะทั้งสามประการ ยกเว้นในส่วนปลายคือส่วนการพิจารณาตามเห็นธรรมตามความเป็นจริงนั่นแหละจึงเป็นการเจริญปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของวิปัสสนา
ถ้าจะถือแบบแผนหลักเป็นตัววัดคือสติปัฏฐาน 4 ก็ดี กายคตาสติก็ดี และอานาปานสติก็ดี ที่ได้จำแนกขั้นตอนการฝึกฝนอบรมจิตออกเป็นสี่ขั้น คือการฝึกฝนอบรมเรื่องกายในกาย เรื่องเวทนาในเวทนา เรื่องจิตในจิต และเรื่องธรรมในธรรมแล้ว ในสามขั้นตอนแรกนั้นล้วนเป็นขั้นสมถะ ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือพิจารณาตาม เห็นธรรมในธรรมนั่นแหละเป็นขั้นวิปัสสนา หรือขั้นเจริญปัญญา
สภาวะของจิตในการเจริญสมถะคือการฝึกฝนอบรมให้ถึงภาวะทั้งสาม คือความตั้งมั่น ความบริสุทธิ์ และความมีพลังที่สามารถทำหน้าที่ของจิต มีเบื้องต้นต่างๆ กันไป ตามลักษณะของการฝึกฝนอบรม แต่ในบั้นปลายที่สุดก็คือการเปลื้องจิตออกจากสิ่งแวดล้อมรุมเร้าต่างๆ โดยเฉพาะคือนิวรณ์ทั้งห้า
เมื่อจิตเปลื้องตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมรุมเร้าแล้วจิตก็จะมีพลังสูงสุด สภาพทั้งสามประการนั้นก็จะบรรลุถึงขั้นสูงสุด สภาวะที่จิตเป็นกัมมนีโยก็จะมีพลังสูงสุด
การเจริญสมถะหรือการฝึกฝนอบรมจิตในขั้นตอนนี้ ไม่ว่ารูปแบบวิธีใดก็ตามจึงมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การเปลื้องจิตเพื่อให้จิตมีพลังที่จะทำหน้าที่ของจิตได้ คือมีความเป็นกัมมนีโยสูงสุดทั้งสิ้น
ดังนั้นการฝึกฝนอบรมอันใดก็ตามที่เกี่ยวกับจิต ถ้าไม่เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ความบริสุทธิ์และความมีพลังที่จะทำหน้าที่การงานของจิตแล้วไซร้ นั่นย่อมไม่ใช่สมถะในพระพุทธศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอริยเจ้าสรรเสริญ แต่ต้องเข้าใจว่า การเจริญสมถะนั้น แม้เป็นแบบแผนฝึกอบรมจิตในพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็เป็นแบบแผนปฏิบัติที่บางลัทธิบางศาสนาในยุคนั้นก็มีอยู่แล้ว เป็นบางแบบบางแผนปฏิบัติ ดังเช่นการเจริญกสิณหรือการเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นต้น หรือแม้การเจริญสติปัฏฐานก็มีผู้ฝึกปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น
เป็นแต่ว่าฝึกฝนอบรมแล้วด้วนหรือยุติหรือสิ้นสุดอยู่ที่ขั้นสมถะเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ติดหลงว่าสิ่งที่ได้รับจากการฝึกฝนปฏิบัตินั้นเป็นมรรคผลนิพพานหรือเป็นผลสูงสุดแล้ว เพราะในขั้นต่างๆ ของการเจริญสมถะนั้นกำลังอำนาจแห่งจิต กำลังแห่งอิทธิบาท และกำลังแห่งสมาธิก็เจริญขึ้นด้วย ที่สำคัญคือการฝึกฝนสมถะในบางขั้นบางระดับได้บังเกิดองค์ฌานขึ้น ตั้งแต่ฌานขั้นต่ำคือรูปฌานไปจนถึงจตุตถฌานซึ่งมีความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดาเป็นบางขั้นบางระดับแล้ว จึงติดยึดติดหลงอยู่ตรงนั้น ไม่ก้าวไปถึงขั้นเจริญปัญญา ซึ่งมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนเท่านั้น
สำหรับวิปัสสนานั้นเป็นขั้นของการเจริญปัญญาด้วยจิตที่มีพลังแรงกล้าสูงสุดที่บรรลุเข้าถึงซึ่งองค์คุณสามประการแห่งจิต จึงมีพลังอำนาจสูงสุดที่จะพิจารณาความจริงของสรรพสิ่ง ขั้นนี้แหละจึงเรียกว่าเป็นขั้นวิปัสสนา
และมรรคผลสุดท้ายของการเจริญวิปัสสนาก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน คือพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีลำดับของการเห็นด้วยปัญญาคือเริ่มจากการเห็นว่าสรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง หรือที่เรียกว่าเห็นอนิจจานุปัสสี
เมื่อเห็นสรรพสิ่งว่าไม่เที่ยงแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายคลายจางออกจากความยึดมั่นถือมั่น หรือที่เรียกว่าวิราคานุปัสสี และเมื่อจางคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ความยึดถือในความเป็นตัวตนก็ระงับดับลงไป ดังที่เรียกว่านิโรธานุปัสสี เมื่อความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ดับสนิทแล้ว จิตก็สลัดออกจากอุปาทานขันธ์ หรือสมุทัยอริยสัจอย่างสิ้นเชิง ภาวะที่หลุดออกไปนั้นก็จะบังเกิดญาณหยั่งรู้ได้เองว่าได้ถึงซึ่งความหลุดพ้นแล้ว ความเกิดไม่มีอีกแล้ว สังขารทั้งหลายระงับแล้ว ไม่มีกิจอื่นต้องทำอีกแล้ว
ดังที่มีแสดงไว้ในอนัตตลักขณสูตรว่า “วิราคา วิมุจจะติ วิมุตตัสมิง วิมุตตะมิติ ญาณัง โหติ” นั่นแล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี