บ้านเมืองของเราจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อให้องค์กรอิสระทั้งปวงสามารถทำภารกิจสำคัญเพื่อให้ประเทศชาติและสังคมของเราดำเนินพันธกิจไปบนวิถีทางที่ถูกต้อง ขาวสะอาด โปร่งใส โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ องค์กรอิสระทุกแห่งต้องทำงานได้โดยอิสระแท้จริง ปราศจากการแทรกแซงใดๆ ทุกรูปแบบจากองค์กรอื่นของรัฐ หรือโดยหน่วยงานการเมืองทุกชนิด
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีกี่แห่ง อะไรบ้าง ก็ขออนุญาตบอกเล่าเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่าองค์กรที่ว่านี้มีทั้งหมด 7 หน่วยงานคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง อัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
หลายคนเมื่อเห็นชื่อองค์กรอิสระทั้ง 7 หน่วยงานแล้วอาจหัวเราะ แล้วตั้งคำถามกลับโดยทันทีว่า แน่ใจหรือว่าองค์กรอิสระเหล่านี้มีอิสระในการทำหน้าที่อย่างแท้จริง องค์กรเหล่านี้ปราศจากการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐและอำนาจการเมืองโดยแท้จริงหรือ แล้วบุคคลผู้เข้าไปทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ หรือตัวจักรกล
สำคัญในองค์กรดังกล่าวก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งโดยปราศจากอำนาจรัฐ และอำนาจการเมืองแท้จริงหรือ
ในอดีตนั้น มักมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระดังกล่าวมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อองค์กรอิสระต้องออกคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินใดๆ กับตัวนักการเมืองผู้มีอำนาจรัฐ ในประเด็นที่สาธารณชนลงความเห็นแล้วว่าผู้มีอำนาจรัฐน่าจะกระทำไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย แต่กลับปรากฏว่าคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินโดยองค์กรอิสระค้านกับความเห็นของสาธารณชนอย่างรุนแรง จนทำให้สาธารณชนตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระว่า เห็นแก่ความถูกต้องชอบธรรมและความดีงามของบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะตัวของนักการเมืองผู้มีอำนาจรัฐจริงหรือ
ประเด็นคำถามต่อองค์กรอิสระเกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดเวลาไม่ว่าจะเกิดกับ ป.ป.ช. ในอดีต รวมถึงประเด็นล่าสุดอันเกิดจากการสรรหา ป.ป.ช. รายที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนสังคมไทยในขณะนี้ คือประเด็นที่ว่า สนช. ถือเป็น สส. และ สว. หรือไม่ โดยเรื่องนี้มีมูลเหตุมาจากการที่นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งเคยเป็น สนช. มาก่อนจะสามารถรับตำแหน่ง ป.ป.ช. ได้หรือไม่ ขัดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ห้าม สส. และ สว. ที่พ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปีดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
แม้ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. จะยืนยันว่านายสุชาติมีคุณสมบัติครบถ้วนโดยไม่ขัดข้องบังคับก็ตาม แต่สาธารณชนกลุ่มหนึ่งก็ยังคงตั้งคำถามว่า การที่นายสุชาติเคยดำรงตำแหน่ง สนช. มาก่อน ก็น่าจะถือว่าทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากสส. และ สว. เพียงแต่ในยุคที่มีการก่อรัฐประหาร ไม่มีการเลือกตั้งสส. และ สว. แต่ สนช. ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก สส. ในสภา
ความเห็นของสาธารณชนต่อประเด็นนี้ยังคงมีแตกต่างกันอยู่แม้กรรมการสรรหา ป.ป.ช. จะยืนยันว่าไม่ขัดคุณสมบัติ แต่คำถามจากสาธารณชนที่เห็นต่างก็คือ แล้วที่ผ่านมา สนช. ทำหน้าที่เหมือนกับ สส. ใช่หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการตรากฎหมาย และการทำงานในรัฐสภาในยุคที่ไม่มีการเลือกตั้ง
ต้องยอมรับว่าประเด็นนี้ยังค้างคาใจประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐในยุคปัจจุบัน เพราะประชาชนกลุ่มนี้ยืนยันว่า สนช. ทำหน้าที่ไม่ต่างไปจาก สส. เพียงแต่สนช. มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อทำหน้าที่ไม่ต่างกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกัน ก็จึงถือเป็นการทำงานในลักษณะเดียวกัน แล้วคนกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลยังมองต่อไปอีกว่า เมื่อ ป.ป.ช. มาจากการตัดสินใจของคนมีอำนาจรัฐดังนั้นความเป็นอิสระของ ป.ป.ช. ก็ไม่น่าจะมีอยู่จริง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี