ในที่สุดการเมืองไทยก็มาถึงจุดที่เรียกว่า “เปิดไพ่เล่น” กันในประเด็นความเป็นราชอาณาจักรของไทย โดยการจะหาข้อยุติ ก็ต้องเลือกเอาระหว่างการจะหักล้างกันให้ถึงที่สุด หรือจะด้วยการออมชอม โดยการหันหน้าเข้าหากัน และพูดจากัน
ด้วยสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าประเทศไทยในขณะนี้ ก็ขอเสนอว่า การแก้ไขปัญหานี้ ควรจะต้องอยู่ในกรอบของสันติวิธีของการเสวนา ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องยุติการเร้าอารมณ์ ข่มขู่ รวมทั้งการที่ฝ่ายรัฐจะต้องหยุดการตั้งข้อหา จับกุม และลงโทษ เอาไว้ก่อน
ซึ่งเรื่องความเป็นราชอาณาจักรของไทยนี้ถือเป็นเรื่องระดับชาติที่สำคัญยิ่ง โดยมีผู้รับผิดชอบคนแรกก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงาน แล้วเรียกประชุมคณะรัฐบาล หารือกับพรรคการเมืองทั้งหลาย หารือกลุ่มอธิการบดีมหาวิทยาลัย รับฟังความคิดเห็นของเหล่าบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือและเคารพ พูดคุยกับกลุ่มคนหนุ่มคนสาว พูดคุยกับภาคประชาสังคม ฟังปฏิกิริยาคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาคมโลก เป็นต้น
และในระหว่างการแก้ไขปัญหา ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องเปิดใจ ไร้อคติ ไม่มีความแข็งกระด้าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับตัวตนแบบยืนกระต่ายขาเดียว ไม่เข้าไปเจรจาพร้อมกับความหวาดระแวง เกลียดชัง หรือแม้กระทั่งดูถูกดูแคลน ต้องให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เห็นต่าง มีความหลากหลาย มีส่วนได้ส่วนเสีย และรักชาติบ้านเมืองเช่นกัน
แล้วอะไรเล่าคือจุดเริ่มต้น และต้องเห็นพ้องต้องกันทุกหมู่เหล่าตั้งแต่แรก
เท่าที่สัมผัสมา ผมเองยังเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่นั้นยังต้องการการคงอยู่ของความเป็นราชอาณาจักรไทย ซึ่งก็แน่ใจว่า หากจะมีการลงประชามติ ผลก็จะออกมาอย่างท่วมท้นให้ประเทศไทยเราคงความเป็นราชอาณาจักรต่อไป
คราวนี้เมื่อจะเป็นราชอาณาจักรอย่างถาวรแล้ว ก็มีคำถามต่อว่า แล้วจะเป็นราชอาณาจักรอย่างไร ซึ่งก็มีแบบอย่างของ อังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ โมร็อกโก จอร์แดน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละประเทศบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ (Institution of the Monarchy) ก็มีความคล้ายและความต่าง ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการทางสังคมการเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ
ส่วนของไทยเรานั้น ตั้งแต่ปี 2475 ที่ยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) และนำระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เข้ามาแทน ก็เป็นการคงความเป็นราชอาณาจักรของรัฐไทยไว้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ก็มิได้มีการหารือให้เป็นที่ประจักษ์แน่ชัดโดยละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างเนื้อหาของความเป็นราชอาณาจักร และความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องที่ค้างคามาจนกระทั่งทุกวัน
ช่วงคณะราษฎรเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยเฉพาะภายใต้การนำพาของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ก็ไม่ค่อยอินังขังขอบกันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แถมยังจำกัดบทบาทของตัวองค์พระมหากษัตริย์อีกด้วย
ต่อมาในช่วงนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กลับลำ มามุ่งถวายความจงรักภักดี ส่งเสริมบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนองค์พระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ซึ่งก็ได้รับการสืบทอดกันมาทุกๆ รัฐบาลจนกระทั่งบัดนี้
อีกทั้งองค์พระมหากษัตริย์เยี่ยงบุคคลหนึ่งใดในแผ่นดิน ก็พึงได้รับการเคารพและคุ้มครองซึ่งสิทธิพลเมือง ว่าด้วยความเป็นส่วนตัว (Right to Privacy) และการคุ้มครองที่พึงตามมา (Right to Protection) พร้อมกับการเคารพซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) เช่นเดียวกันกับพลเมืองไทยทุกคน
ฉะนั้น เมื่อสิทธิส่วนบุคคลถูกปกป้องคุ้มครอง ไม่มีการอนุญาตให้ใครไปกระทำกับคนไทยหนึ่งใด การจะไปโจมตีส่วนบุคคล ก็กระทำกับองค์ประมุขของประเทศมิได้เช่นกัน
เราทุกคนมีพ่อแม่ ก็ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาดูถูกเหยียดหยาม ล้อเลียน ล้อเล่น ฉันใดฉันนั้นเราก็ต้องให้ความเคารพนับถือความเป็นส่วนตัวส่วนบุคคลขององค์ประมุขผู้เสมือนเป็นบิดาของสังคมไทยด้วย และในขณะเดียวกันพ่อแม่ของเราก็ครองธรรม องค์ประมุขเราก็ครองธรรมด้วยเช่นกัน
ส่วนบทบาทภาระหน้าที่ของพ่อแม่เรานี้ในกรอบสถาบันครอบครัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในทำนองเดียวกันองค์ประมุขก็มีบทบาทภาระหน้าที่ในกรอบของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถึงเวลานี้เราจะได้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อทบทวน กำหนดหลักการ กฎหมาย กติกากันใหม่ เพื่อให้มีความแน่ชัด และเห็นพ้องต้องกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ทั้งความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้า
ในวิกฤติครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงและคุณความดีต่อชาติบ้านเมือง ก็จะต้องรีบลงมือ ดำเนินการ แต่หากใจไม่ถึง ไร้ความสามารถ ก็สามารถโบกมืออำลาไป ปล่อยให้ผู้กล้าคนอื่นๆ อาสาเข้ามาแก้ปัญหานี้เพื่อที่จะได้ร่วมกันสร้างชาติกันต่อไปเสียที
แต่ครั้งอดีต คู่ขนานไปนอกศูนย์อำนาจ ก็มีการท้าทายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อความเป็นราชอาณาจักร แต่ก็ได้พ่ายแพ้ไปอย่างราบคาบ
แต่โดยตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ความคิดเรื่องความเป็นสาธารณรัฐ ก็ยังคงค้างอยู่ในบางส่วน บางหมู่เหล่าของสังคมไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะพึงมีความเห็นต่าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย และเป็นเรื่องของคนส่วนมากที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งถูกต้องชอบธรรมให้กับความเป็นราชอาณาจักรของไทย
บัดนี้ก็มีเรื่องเรียกร้องในทำนองท้าทายความเป็นราชอาณาจักรของไทย อันหนึ่งนั้นหมายถึงความเป็นสถาบันของสถาบันพระมหากษัตริย์ และบทบาทสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ หรือนัยหนึ่งให้มีการปฏิรูป
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการบ้านเมือง และบทบาทของสถาบันในโครงสร้างนั้น ซึ่งต้องแยกออกจากองค์ประมุข ซึ่งตามขนบธรรมเนียบประเพณีวัฒนธรรมไทยนั้น ถูกกำกับด้วยหลักธรรม และหลักทศพิธราชธรรม อยู่แล้วในตัว
การบ้านของเราชาวไทยจึงเป็นเรื่องการมาพูดจา กำหนดกันให้แน่ชัด ว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องแยกออกจากความเป็นส่วนพระองค์ขององค์
พระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ประเทศราชอาณาจักรต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขาต่างเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งบ่งบอกและพิสูจน์แน่ชัดว่า ประชาธิปไตยกับระบอบกษัตริย์นั้นคู่ควรและร่วมไปกันได้อย่างมั่นคงสง่างาม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี