สังคมไทยมีความขัดแย้งแตกแยกมาก มากเสียจนน่าหวั่นวิตกว่า การต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 จะขาด “ความร่วมมือ” กันอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับการ
“รบกันเอง” แล้ว จริงจังกว่ามาก!
ผมชอบบทความของคุณ Pual McIntoch ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คของเขา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมามาก เขาโพสต์ว่า...
“เหมือนการเเข่งขันฟุตบอลครับ ทำไมผมจะมองไม่ออกว่า ทีมของเรามีผู้จัดการที่ไม่ได้เก่งที่สุด ไม่ได้เด็ดขาดเหมือนที่เคย
แต่ผมเป็นนักเตะในทีม ผมก็ก้มหน้าทำหน้าที่ของผม..
หลายครั้งการเเถลงต่อสื่อมวลชนของผู้จัดการทีม เรียกว่าห่วยแตก
ทีมพีอาร์ของสโมสร.. สามารถใช้คำว่าหมาไม่แดก
หลายครั้งที่รู้สึกว่าแผนที่ถูกวางไว้ ยากที่จะชนะคู่แข่งเอาคนตัวเตี้ยไปเล่นกองหลัง เอาผู้รักษาประตูไปเล่นกองหน้าเอาคนวิ่งช้าไปเล่นปีก ผมก็ยังเล่นเต็มที่ตามหน้าที่ของตน เพราะผมย้ายสโมสรหนีไม่ได้...
ผมรักสโมสรนี้
ผมทำได้แค่ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เท่าที่ได้รับบทบาท
ในวันที่ทีมพ่ายเเพ้หมดรูป... ผมให้กำลังใจ ปลอบประโลมใจเพื่อนร่วมทีมที่ดูท้อแท้
เมื่อทีมไร้พลังใจ ... ผมปลุกเร้า กระตุ้น ตะโกนบอกทุกคนว่าเรายังไม่แพ้ และให้สู้ไปด้วยกัน
เมื่อเพื่อนร่วมทีมในสนามไม่ยอมวิ่ง ไม่ยอมสู้ผมทำให้ดูโดยการวิ่งเพิ่มเป็นสองเท่า และจะวิ่งไม่ยอมหยุด เเม้จะเหนื่อยแค่ไหน
ผมเป็นมืออาชีพ...ไม่ยอมแพ้จนนาทีสุดท้าย เเละจะไม่ยอมเตะไล่โค้ช
ศักดิ์ศรีผมมีมากกว่านั้น
เหนือกว่านั้น...ผมรู้ว่าต่อให้ผู้จัดการทีมคนนี้ไป ก็จะมีผู้จัดการคนใหม่ ที่จะมาจากการวิ่งเต้น และจะจัดการทีมด้วยวิธีที่ไม่ต่างกัน ยังมองไม่เห็นวิธีที่สโมสรจะได้ผู้จัดการทีมที่เก่งกาจ ไม่สนการเมือง แต่มาด้วยหัวใจและฝีมือจริงๆ
ระบบในสโมสรมันถูกวางไว้แบบนี้ และผมสิ้นหวังกับระบบนี้มานานแล้ว แต่ผมไม่เคยสิ้นหวังที่จะมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อสโมสรที่ผมรักได้เพียงสโมสรเดียวในชีวิต
และผมไม่ได้อยู่ในทีมของรัฐบาล...ผมเป็นทีมประเทศไทย....
ไม่ว่าวันนี้จะเป็นใครที่บริหารประเทศไทย.. ผมก็ทำจะเพื่อประเทศของผมในแบบเดียวกัน
ผมก็เป็นผู้ประสบภัยโควิดไม่ต่างจากอีกหลายๆ คน เป็นรุ่นแรกๆ ที่แบกทุกอย่างมา 2 ปี เจอมายาวนานก่อนหลายคนด้วย และหงุดหงิดใจกับการจัดการหลายเรื่องไม่ต่างกัน
แต่ผมอดทน.. รักษาระบบ.. รอคอย.. ร่วมมือ..
ผมคิดว่าถ้าไม่รักษาหลักนี้ไว้...จะรัฐบาลไหน จะใครเข้ามา ก็คงจะโดนอีกฝั่งเลื่อยขาในแบบเดียวกัน เเละไม่มีทางที่ประเทศจะเดินไปไหนได้เลย”
ช่างเป็นข้อเขียนที่หมดจด งดงาม จริงใจ และให้ “หลักคิด” ที่ดีที่สุด ในสถานการณ์ “สงครามโควิด” นี้
เราอยู่ในสงครามที่ทุกคนควรรู้ว่าศัตรูตัวจริงคืออะไร
และใช่ เรามีแม่ทัพที่ห่วยแตก ที่เคยไม่บอก “แผนการรบ”รูปแบบการจัดทัพ และกำหนดหน้าที่ให้คนในชาติทุกคนเป็น “กำลังรบ” บวกกับในชาติก็เสือกมี “กองโจร” ที่คอยชวนคนมารบกับคนในชาติด้วยกัน สงครามสู้รบกับโรคระบาดที่ผ่านมา จึงระงมไปด้วยคำว่า
• วัคซีนห่วยแตก
• นายกฯ โง่ๆ
• รัฐมนตรีผู้รับเหมา
• หมอเลียรัฐบาล
และ • เราจะตายกันหมด
บางคนคิดถึงกับจะ “ย้ายประเทศ” กันเลยทีเดียว
เราอยู่ในสภาพที่ “ผู้นำ” ก็ขาดความสามารถและบารมีที่จะ “สร้างความเชื่อมั่น” และมี “ศัตรูของผู้นำ”ที่โหมไฟสร้างความไม่เชื่อมั่น จนหลายครั้งถึงขั้น “ทำลายความเชื่อมั่นทั้งระบบ” โดยขาดสติ ว่าใน “สงครามชิงเมือง”ของพวกคุณนั้น ล้างผลาญทำลายชาติบ้านเมืองเสียจน “เกินขอบเขต” ที่ควรจะเป็น และเราก็มีประชาชนที่“แบ่งฝักแบ่งฝ่าย” จนหลายหนแยกไม่ได้ ถึงความถูก-ผิด ดี-ชั่ว เร็ว-ช้า ฉลาดหรือโง่งม
ในสภาพที่ไม่มีใครไว้ใจใคร เฟคนิวส์ก็ถูกปั่นขึ้นมาและกระจายออกไปไวและแม่นยำยิ่งกว่าการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 เมื่อมาบวกกับการสื่อสารที่ล้มเหลวเสมอของรัฐ เราจึงมีวิกฤติซ้อนวิกฤติและซ้อนวิกฤติต่อๆ กัน ไม่รู้กี่วงซ้อน
เรามาถึงนาทีวิกฤติแล้วครับ
ตอนนี้ เรามาถึงจุดที่ “ความล้มเหลวต้นน้ำ” กำลังไหลบ่าเข้าทำลาย “ปลายน้ำ” อย่างเชี่ยวกราก
ต้นน้ำที่ว่า คือการดูแลตัวเองของประชาชน,ผู้ประกอบการ, โรงงาน, ตลาด ฯลฯ ที่ควรจะเคร่งครัด เข้มงวด ต่อสิ่งที่ตนเองทำได้และต้องทำ นั่นคือ การสวมหน้ากาก, ล้างมือ, ฆ่าเชื้อในสถานประกอบการ, เว้นระยะห่าง,แยกภาชนะ, ลดการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “ยากเกินทำ”
ทั้งยังมีการลักลอบเล่นการพนัน ปาร์ตี้สังสรรค์นำแรงงานเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจเข้าประเทศ
และความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน และการผิดนัดฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของเรา ซึ่งเจือสมไปด้วยความอิดออด กังวล และไม่ศรัทธาใน “วัคซีนที่รัฐจัดหา”ทั้งยังมีหมอออกมาเถียงหมอ และพวกที่ไม่ใช่หมอ แต่ “รู้ดี”มาก่อกวน “ความเชื่อมั่น” ต่อกระบวนการ “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่”เสียอีก คำถามคือ เมื่อต้นทางหรือต้นน้ำเป็นเช่นนี้“ความฉิบหาย” จะไม่เกิดได้อย่างไร
กลางน้ำ - คือ รัฐบาล ที่ดำเนินการรวบอำนาจตามกฎหมายฉบับต่างๆ มา “เอื้ออำนวย” ให้นายกรัฐมนตรีเป็น “แม่ทัพ” เป็น “ผู้จัดการทีม” เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ อย่างคล่องตัวแล้ว ได้ดำเนินการใช้อำนาจนั้น อย่างมีวิสัยทัศน์ มีแผนการรบ มีการมอบหมายงาน กระจายงาน และติดตามงานอย่าง “รู้เรื่อง-จริงจัง” เพียงใด เพราะกลางน้ำนี้คือผู้ต้องติดตาม “พฤติกรรมสังคม” แล้วออกมาตรการเข้ากำกับ ควบคุม ต้อนให้ไปในทิศทางที่ควรจะไปได้อย่างทันท่วงที่ ตามอำนาจและงบประมาณที่มี แต่มันล้มเหลวด้วย “ความกังวลทางการเมือง” มากเกินไป ใช่หรือไม่?
สุดท้าย “ปลายน้ำ” คือ “ระบบสาธารณสุข” ทั้งระบบ กำลัง “ปางตาย” !!!
ความจริงที่ว่า...
• ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย (และเพิ่งกระเสือกกระสนเพิ่มเตียง ซึ่งก็เพิ่มได้เพียงบางส่วน เพราะเตียงเพิ่มได้ แต่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มันเพิ่มไม่ได้)
• เครื่องมือช่วยชีวิตผู้ป่วย จำพวกเครื่องให้ออกซิเจน ยังขาดแคลน รัฐบาลไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อบริหารสถานการณ์ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร?
• แม้กระทั่ง “ชุดพีพีอี” ในระดับปฏิบัติงาน เสี่ยงอยู่หน้างาน หลายที่ยังขาดแคลนอยู่เลย
• เราให้ “นักรบ” ของเรา ออกรบโดยไม่สนับสนุนอาวุธให้เพียงพอและทันการณ์ เราพล่ามเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เรื่อง“บิ๊กดาต้า” มานานหลายปี แต่เราไม่เคยทำงานบน “ฐานข้อมูล”ที่ทันสมัยได้เลย และพอมีใครออกมาให้ข้อมูล จริงหรือไม่ที่เขาจะถูก “ควบคุม” หรือ “ดุ” ในแบบระบบราชการทันที
• เวลานี้ ใครติดเชื้อ แทบหาสถานที่ตรวจไม่ได้ และในทางการสื่อสาร ประชาชนอีกจำนวนมหาศาล ที่ยังไม่รู้ว่า ต้องติดต่อที่ไหน หมายเลขใด (ซึ่งไม่ใช่ความผิดของฝ่ายรัฐทั้งหมด แต่ก็มิได้ย้ำเรื่องนี้ให้คนรู้ เข้าใจ และเมื่อใช้บริการ ระบบก็ยังติดขัดอยู่เรื่อยมา)
• คณะจิตอาสาที่ลงไปเป็น “ตัวกลาง” ประสานระหว่างท้องที่ ชุมชน ประชาชน กับหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้า กลุ่มเส้นด้าย ฯลฯ ล้วนสะท้อนภาพความน่าหดหู่อยู่ทุกวี่วัน เรื่องผู้ติดเชื้อไม่มีที่ไป จนอาการหนัก และบางรายต้อง “ตายคาบ้าน”
• เช่น ภาพสะท้อนความจริงจากชุมชน ที่นายเชาว์ มีขวดอดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เล่าเรื่อง “ความตายเพราะนอนรอเตียง” คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ความว่า...
“...ปัญหาเตียงไม่มี หมอไม่พอ ยังเป็นเรื่องด่วนที่รัฐต้องรีบแก้ไข อย่าปล่อยให้เกิดสภาพ “เคยชินกับความตายเพราะรอเตียง” เนื่องจากในขณะนี้คนตายคาบ้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดผมได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากคนในชุมชนย่านห้วยขวางไม่ต่ำกว่า 20 คน ขอให้ช่วยหาเตียงให้ส่วนใหญ่ติดโควิด-19 กันแบบยกครัว
เศร้าที่สุด เพิ่งเกิดขึ้นที่ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เขตห้วยขวาง หลังจากคุณแม่ตุ้มทอง แก้วกัญญา ติดโควิดจนเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ต่อมาลูกสาว คือคุณประไพ สาพันธุ์ ติดโควิดนอนรอเตียงจนเสียชีวิตคาบ้านเมื่อวานนี้ ถัดจากคุณแม่ตุ้มทองไปแค่สองวันเท่านั้น
เรื่องนี้สะท้อนหลายอย่าง ตั้งแต่กรณีแรกคุณประไพ มีอาการป่วย ปวดเมื่อย เจ็บคอ ท้องเสีย เพราะตัวเองมีความเสี่ยงสูงน่าจะติดเชื้อจากคุณแม่ที่ติดโควิดอยู่ก่อน แต่เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านคลองตันที่ตนเองมีสิทธิรักษา (บัตรทอง) เจ้าหน้าที่อ้างว่าน้ำยาตรวจโควิดไม่มีและบอกว่าอาการแบบนี้ไม่ใช่โควิดแล้วให้กลับบ้านโดยไม่ได้ตรวจหรือทำอะไรเลย ต่อมาเมื่อกลับถึงบ้านอีกสองวันอาการเริ่มทรุดหนัก จึงไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม คือน้ำยาตรวจโควิดไม่มี ตรวจให้ไม่ได้ แต่ได้ฉีดยาให้ 1 เข็ม ให้น้ำเกลือ แล้วไล่ให้กลับบ้าน ทั้งๆที่ผู้ป่วยอยู่ในอาการทรุดหนักเดินแทบไม่ได้ และรู้อยู่แล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง เพราะคุณแม่เพิ่งเสียชีวิตเพราะติดโควิด แต่ไม่ยอมตรวจหาเชื้อให้ โดยอ้างว่าน้ำยาหมดถึงสองครั้ง
จึงมีคำถามว่า นี่คือวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามหลักการแพทย์ที่ถูกต้องแล้วหรือ เพราะการปล่อยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงกลับบ้านไป ไม่เพียงผู้ป่วยอันตราย คนรอบข้างและสังคมก็ไม่ปลอดภัยด้วย เพราะเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อไปแบบไม่ตั้งใจ กรณีนี้ จึงถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโรงพยาบาลอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะหลังกลับจากโรงพยาบาลคุณประไพอาการยิ่งแย่ลง จนลูกๆ ต้องนำตัวไปตรวจอีกครั้งที่หน่วยบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผลปรากฏว่าคุณประไพติดเชื้อโควิด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมานานแล้ว เพราะออกอาการในระยะสุดท้ายครบทุกอย่าง แถมมีโรคประจำตัวเบาหวานอยู่ด้วย หลายฝ่ายจึงช่วยกันประสานหาเตียง เพื่อให้ถึงมือหมอ แต่ก็หาเตียงให้ไม่ได้ ไม่มีโรงพยาบาลไหนมารับ นอนรอเตียงจนเสียชีวิตคาบ้าน
เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสมากในขณะนี้ หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเตียงเต็มไม่ได้ จนมีผู้ป่วยตายคาบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าท่านจะปล่อยไว้แบบนี้หรือ ท่านมองเห็นความตายของคนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบอกเราว่า รัฐบาลกำลังหมดสภาพ ขณะที่ประชาชนกำลังหมดความอดทน
รีบแก้ปัญหาเถอะครับ อย่าปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้รายวัน ไม่เช่นนั้น ผมนี่แหละ จะเป็นตัวแทนญาติผู้ที่ได้รับผลกระทบฟ้องรัฐบาล ฐานละเมิดไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีจากรัฐตามกฎหมาย
ส่วนกรณีของคุณประไพผมคิดว่าเป็นความชุ่ยของโรงพยาบาลที่ขาดความรับผิดชอบ ทำงานแบบลวกๆ ปฏิเสธการตรวจหาเชื้อแบบไม่มีเหตุผล แล้วปล่อยคนป่วยกลับบ้านจนเชื้อลุกลามนอนตายคาบ้าน ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผมจะดำเนินคดีกับโรงพยาบาลนี้ให้เป็นคดีตัวอย่าง
“สถิติผู้ป่วยโควิด-19 สูงขึ้นทุกวัน วันนี้ ติดเชื้อทำสถิติสูงสุดรวม 5,533 ราย เสียชีวิตทำสถิติสูงสุด 57 รายถ้ายังอยู่อย่างนี้ในไม่ช้าเราคงจะเห็นคนติดเชื้อวันละเป็นหมื่นตายวันละเป็นร้อย ทำอะไรต้องรีบทำเถอะครับอย่าชินกับความตายของประชาชนเลยครับ”
และเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 ก.ค. 2564 ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะการระบาดระลอกล่าสุดเดือน เม.ย. พบสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดได้เร็ว แม้ช่วงแรกจะอยู่ในกทม.และปริมณฑล แต่ระยะหลังเข้าไปยังสถานประกอบการ ขณะนี้มีเข้าไปในชุมชนและครัวเรือนมากขึ้น ผู้ติดเชื้อแตะหลัก 2,000 ราย วันที่สอง อีกทั้งคนกลับจาก กทม. ไปต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อมีผู้ติดเชื้อไปในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ก็เร่งสอบสวนและควบคุมโรคเพื่อจำกัดไม่ให้แพร่เชื้อต่อ
“ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง แต่ถ้าประเมินสถานการณ์ 1-2 เดือนข้างหน้า คงต้องดูต่อไป และด้วยความตื่นตัวของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราคงจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ในระดับที่เพิ่มไม่มากนัก แต่สิ่งสำคัญต้องดูแลผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะหากรักษาช้า อาการจะรุนแรงและเสียชีวิตได้ เราจึงต้องร่วมมือกันลดการแพร่เชื้อ และข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่เพิ่งออกมามุ่งเน้นไปที่ลดการเคลื่อนย้ายและลดการแพร่เชื้อ เห็นได้จากการปิดแคมป์คนงานและไม่ให้รับประทานอาหารในร้าน สิ่งที่ยังเหลืออยู่ คือ การแพร่เชื้อในชุมชนและครัวเรือน ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ ก็ติดเชื้อจากที่บ้าน ดังนั้น การป้องกันผู้สูงอายุติดเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก คนที่ออกไปทำงานก็ต้องป้องกันตัว หากทุกคนป้องกันการติดเชื้อในครัวเรือนและมีการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุมากขึ้นเร็วขึ้น ถ้าทำได้ จะลดการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ได้ดังนั้น สิ่งสำคัญคือมาตรการป้องกันส่วนตัว และเรื่องวัคซีนที่ต้องเร่งดำเนินการ” นพ.โสภณ กล่าว
ภาพเจ้าหน้าที่เป็นลม ขณะทำงาน ที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า
ข่าวคนตายคาบ้าน ผู้ป่วยรอเตียง รอตรวจ รอจนหลายบ้านติดเชื้อเพิ่ม
ข่าวความขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ไม่มีเตียง ไอซียูเศร้า หมอล้า ฯลฯ ล้วนบอกกับเราทุกคนว่า หากยังปล่อยให้ “ปลายน้ำ” คือ หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ต้องเป็น “ฝ่ายรับมือ” ใน “ปราการด่านสุดท้าย” โดยที่คนต้นน้ำไม่หันมาเข้มงวดกับตัวเอง คนกลางน้ำไม่มีมาตรการเข้มงวดกับตลาด โรงงาน และที่ชุมนุมชน คนยังดิ้นรนจะมาม็อบ และเพิ่มความเสี่ยงอีกสารพัด วันซีนยังไม่มา
ในฐานะ “ทีมประเทศไทย” ร่วมมือร่วมใจกันก่อนได้ไหมครับ ลงสนามในนัดนี้กันให้ดีที่สุด ให้ “ไทยชนะ” อย่างแท้จริง แล้วจะเปลี่ยนกัปตันทีม เปลี่ยนผู้จัดการทีม หรือทำอะไรก็ค่อยทำ เมื่อเราส่งผู้คนของเรา บ้านเมืองของเรา เข้าสู่ “พื้นที่ปลอดภัย” ได้แล้ว
แม่ทัพ หยุดพะวงทางการเมือง หันมากาง “ตำราพิชัยสงคราม” แจ้งแผนการรบ มอบหมายหน้าที่ให้ทุกคนในชาติ ชนิดใน 30 วันนี้เราทุกคนต้องทำอะไร 60 วัน จะทำอะไรกันบ้าง แล้วเร่งจัดหาอาวุธ แจกอาวุธ เพื่อจะพร้อมใจกันรบกับ “ศัตรูตัวฉกาจ” คือโรคระบาดโควิด-19
จบสงครามนี้ แล้วค่อยมาเปิดสนามรบในสงครามชิงอำนาจทางการเมืองกันต่อ
ทำได้ไหมครับ ทุกคนครับ!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี