ไม่น่าเชื่อว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลกและส่งออกน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มปรุงอาหาร ถึงขนาดแม่บ้านสองคนรอเข้าคิว
ซื้อน้ำมันนานจนเป็นลมตายในวันเดียวกัน
สำนักข่าว อัล จาซีรา เสนอรายงานพิเศษเรื่อง “ไกลจากยูเครน คนจนในอินโดนีเซียไม่สามารถหาซื้อน้ำมันพืชปรุงอาหารได้” เห็นรายงานพิเศษเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แต่นึกไม่ถึงว่าเรื่องน้ำมันปาล์มขาดแคลนจะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงสั่นคลอนสถานะของประธานาธิบดี โจโกวิโดโด ได้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2565 ว่าการชุมนุมประท้วงของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยบานปลายกลายเป็นเหตุวุ่นวายและการใช้ความรุนแรง หลังจากผู้ประท้วงขว้างปาขวดและหินใส่ตำรวจเพื่อเปิดทางให้สามารถบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงในการตอบโต้เพื่อสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ประท้วงจำนวนมากวิ่งหนีด้วยความโกลาหลออกจากที่เกิดเหตุนอกรัฐสภา
มีการชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอินโดนีเซียในวันจันทร์ รวมถึงในจังหวัดสุลาเวสีใต้,ชวาตะวันตก และจาการ์ตา ส่วนการชุมนุมนอกรัฐสภาในครั้งนี้ เริ่มจากการรวมตัวของนักศึกษาหลายร้อยคนที่สวมเสื้อแจ๊กเกตสะท้อนแสง แล้วเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ปัญหาต้นทุนพลังงานน้ำมันพืชปรุงอาหารที่ราคาสูงขึ้นและขาดแคลน
รวมถึงประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับประธานาธิบดี ที่ต้องการจะอยู่ในตำแหน่งเกิน2 สมัย หลังมีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วเป็นเวลาหลายสัปดาห์เกี่ยวกับการอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงนายวิโดโดไม่คิดจะอยู่ต่ออีกสมัย แต่ผู้ประท้วงก็นำเอาข่าวลือนั้นมารวมกันกับข่าวน้ำมันพืชขาดแคลนและราคาแพงจนได้
ประเด็นเรื่องน้ำมันพืชสำหรับปรุงอาหารขาดแคลนและราคาแพงที่บานปลาย กลายเป็นปัญหาทางการเมือง อาจเป็นเพราะพรรคฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองพูดไว้เป็นนัย เมื่อคราวให้สัมภาษณ์ อัล จาซีรา ว่า “เราจะปล่อยให้คนเพียงหยิบมือเดียวมาผูกขาดกำหนดราคาน้ำมันพืชที่จำเป็นต่อการปรุงอาหารของคนอินโดนีเซียอีกต่อไปไม่ได้ เราต้องแทรกแซง” นางเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรีอดีตประธานาธิบดีและผู้นำพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียกล่าวระหว่างสาธิตการปรุงอาหารโชว์ในกรุงจาการ์ตาเพื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำมันพืชจำเป็นอย่างไรในการปรุงอาหารประจำวันของชาวอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นอาหารนึ่ง ย่าง ทอดล้วนแต่ต้องใช้น้ำมันพืชทั้งนั้น
ในรายงานพิเศษเรื่องน้ำมันพืชขาดแคลนในอินโดนีเซีย อัล จาซีรา ยกเอา ซีติ โรฮานี แม่ค้าขายของทอดริมทางหลายอย่างที่เป็นของว่างชาวอินโดนีเซีย มีทั้ง โดนัท ลูกชิ้นทอด กล้วยชุบแป้งทอด เต้าหู้ สปริงโรลและเคอรี่พัฟ ซึ่งในหนึ่งวันโรฮานี ต้องใช้น้ำมันพืชถึง 5 ลิตร
แต่มาระยะหลังนี้ โรฮานี บอกว่าน้ำมันพืชราคาสูงขึ้น 50% เป็นลิตรละ 14,000 รูเปียห์อินโดนีเซียหรือประมาณ 30 บาทไทย นอกจากราคาแพงขึ้นแล้วน้ำมันพืชขาดแคลนกลายเป็นสินค้าหายาก เจ้าหน้าที่กำหนดให้ซื้อได้ไม่เกินสองลิตรต่อหนึ่งคน
ด้วยความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำมันมากกว่าสองลิตรต่อวัน โรฮานีต้องตระเวนหาซื้อน้ำมันพืชจากหมู่บ้านหรือเมืองอื่นๆ บางวันก็ผิดหวัง เพราะไปต่อคิวนานแต่น้ำมันพืชในร้านนั้นหมดเสียก่อน
อัล จาซีรา รายงานว่า ในจังหวัดกะลิมันตันตะวันออกของอินโดนีเซียหญิงวัยกลางคนสองคนยืนเข้าคิวรอซื้อน้ำมันพืชจากร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งท่ามกลางแสงแดดแผดกล้าอยู่หลายชั่วโมงจนแม่บ้านสองคนเป็นลมตายยังไม่ทันได้น้ำมันพืช
โปซมัน ไซบุอิ อาจารย์สอนภาควิชาปรุงอาหารในมหาวิทยาลัยซานโตโทมัส ในเมืองเมดาน กล่าวว่า “ราคาน้ำมันสูงขึ้น 40% ส่งผลกระทบข้างเคียงหลายอย่าง “ปัญหาน้ำมันปรุงอาหาร คือคนค้าน้ำมันโก่งราคาและกักตุนน้ำมันไว้ ความจริงน้ำมันมีอยู่ในคลังล้นหลามทั่วประเทศ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน..”
“ในห้วงเวลาสองสามเดือนนี้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น 40% เป็นเพราะปัจจัยหลายอย่างมาบรรจบกันรวมทั้งรัสเซียบุกยูเครน ยุโรปซึ่งเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันปาล์มใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียและการผลิตน้ำมันดอกทานตะวันของยูเครนก็ติดขัดเพราะสงครามความต้องการน้ำมันปาล์มในยุโรปเลยสูงขึ้นผิดปกติ ประกอบกับโควิด-19 ระบาดใหญ่ซึ่งกระทบกับการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันเพราะแรงงานต่างชาติถูกกีดกันเข้าประเทศไม่ได้”
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกจากสถิติของทางการปี 2563 อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 44.8 ล้านตัน และในปีนั้นอินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มมูลค่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย 60% ผลิตโดยบริษัทเอกชน 34% ผลิตโดยเจ้าของสวนปาล์มรายย่อย เพียง6% เท่านั้นที่ผลิต โดยวิสาหกิจของรัฐ
อย่างไรก็ตาม การควบคุมการใช้น้ำมันปาล์มรัฐบาลกำหนดแต่เพียงว่า 20% ของผลผลิตทั้งหมดเก็บไว้ใช้ในประเทศ
อูลิ อาร์ตา นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อผืนป่ากล่าวว่า ปัญหาใหญ่ คือสวนปาล์มน้ำมันจำนวนมากมายมหาศาลตกอยู่ในมือเจ้าของครอบครองเพียงไม่กี่ราย หรืออย่างมากก็เป็นของบริษัทไม่เกินยี่สิบบริษัท และเจ้าของสวนปาล์มเหล่านี้ยังเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจรด้วย
คือเป็นผู้ผลิตลูกปาล์ม เป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบและสุดท้ายเป็นเจ้าของบริษัทแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบเป็นน้ำมันปรุงอาหาร เป็นเครื่องสำอางและอื่นๆ กล่าวโดยสรุปคือบริษัทเอกชน
ไม่กี่บริษัทเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร
ในขณะที่วิสาหกิจของรัฐเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเพียง 6% “ทุนใหญ่จึงสามารถกำหนดราคา โก่งราคา และตุนสินค้าได้ตามอำเภอใจ”
เพื่อกดดันให้การส่งออกน้ำมันปาล์มลดลงตั้งแต่เดือนมี.ค. รัฐบาลอินโดนีเซียจัดเก็บภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลกันน้ำมันปาล์มดิบไว้ 200 ล้านลิตร เพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหารในประเทศ
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย.รัฐบาลประกาศว่ามีโครงการโอนเงินสดเข้าบัญชีคนจน ร้านอาหาร และภัตตาคารรายละ 300,000 รูเปียห์ (ประมาณ 640 บาทไทย) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาน้ำมันราคาแพง
โรฮานี บอกกับ อัล จาซีรา ว่า “ฉันได้ยินคนเขาพูดเรื่องเงินช่วยเหมือนกัน ฉันอยากสมัครเข้าร่วมโครงการถ้าแม่ค้าริมทางอย่างฉันเข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ”
แสดงว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด อยากจะทำ โครงการคนละครึ่ง บัตรคนจน และ เราชนะเหมือนรัฐบาลลุงตู่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับชาวบ้านอย่างไร
คอลัมน์ทวนกระแสข่าว ถือโอกาสนี้แนะนำว่าให้ปรึกษาลุงตู่ไวๆ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายดังที่รู้ๆ กันว่าเมื่อการเมืองฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำทำให้การประท้วงรุนแรงจุดติดง่าย
โดยเฉพาะในอินโดนีเซียมีโอกาสที่ผู้ก่อการร้ายปะปนเข้ามาร่วมกับผู้ชุมนุมได้ รีบปรึกษารัฐบาล 3 ป. เรื่องโครงการซื้อใจชาวบ้านเสียให้ไวเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี