ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 535 ล้านคน เสียชีวิต 6.3 ล้านคน
ประเทศไทยเรา มีคนตายจากโควิดทั้งหมด 30,146 คน
นี่คือวิกฤตร้ายแรง ที่สร้างผลกระทบความเสียหายมากที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ถึงวันนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรา ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดประเทศเปิดสถานบริการบันเทิง และกำลังจะได้เปิดหน้ากากอนามัยในอีกไม่นาน
วันที่ถึงฝั่ง เราจะไม่ลืมคนที่แจวเรือ
1. เราผ่านช่วงเวลาเลวร้าย ผ่านการด้อยค่า เย้ยหยัน ปลุกปั่นให้สับสนด้วยข้อมูลเท็จ
แต่ความจริงก็พิสูจน์แล้วว่า วัคซีนทุกชนิด กันตาย ไม่กันติด ทีมแพทย์ทีมสาธารณสุขของไทย ทีม อสม. จิตอาสาภาคประชาชนทั้งหลาย ทำถูกแล้ว ตัดสินใจดีที่สุดแล้วในทางเลือกขณะนั้นๆ
แล้วเราก็เร่งฉีดจนครบ 100 ล้านโดสได้ตามแผน ฉีดเข็มกระตุ้น เดินหน้าเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฯลฯ
ตบปากเหม็นๆ ของคนที่อยากเห็นความล้มเหลวเพื่อประโยชน์ในเกมอำนาจของเขาที่ว่า “ร้อยบาท เอาขี้หมากองเดียว ไม่มีวัคซีน 100 ล้านโดส”
2. เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้สรุปประสบการณ์ผ่านโรคระบาดใหญ่ 2 ปีกว่าอย่างน่าสนใจ
“...ในเดือนมิถุนายน ต้นเดือน กำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผ่านโรคระบาดมา 2 ปี กับอีก 6 เดือน ชาวโลกและคนไทยเราผ่านอะไรมาบ้าง เรียนรู้อะไรบ้าง ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งคือ ID4 Independent day มาดู
บทสรุป 10 Fact
1) ไม่ใช่เรื่องเกินคาด ตามประวัติศาสตร์ของโรคระบาด โลกเราอยู่คู่กับเชื้อโรคหลายตัวโดยเฉพาะไวรัส ไวรัสที่ระบาดแบบทั่วโลก 2 ตัวคือ ไข้หวัดใหญ่ผ่านมาอย่างน้อย5 ครั้ง แต่โคโรนาผ่านมา 6 ตัวที่รุนแรง 2 ตัว (SARCoV1 และ MERCoV) ทุก 10-40 ปี ในอนาคตมีอีกแน่นอน
2) มนุษย์เรียนรู้จะอยู่รอดฉันใด ไวรัส/แบคทีเรีย เรียนรู้อยู่รอดฉันนั้น ต่อให้มนุษย์พัฒนาความรู้ขนาดไหน ไวรัสเองสามารถกลายพันธุ์ได้ ดูตัวอย่างเชื้อ SARCoV-2 ทำให้เกิดโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ สายพันธุ์อู่ฮั่น กลายพันธุ์ไปเป็น อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้าและล่าสุดโอไมครอน ตัวโอไมครอนเองก็ยังมีลูกหลานแบ่งเป็น BA.1…..ล่าสุด BA.5
3. ประชากรโลกติดเชื้อและเสียชีวิตมาก แม้เทคโนโลยีการแพทย์เราก้าวหน้ากว่า 100 ปีก่อน ประชากรโลกติดเชื้อเฉียด 600 ล้าน เสียชีวิต 5 ล้าน ส่วนไทยติดเชื้อเฉียด 5 ล้านคน เสียชีวิต 3 หมื่นคน อยู่ลำดับ 24 ของโลก มันเตือนเราว่า พวกมันพร้อมจะเล่นงานเราตลอดเวลา
4. ผู้เสียชีวิตและติดเชื้อ ส่วนใหญ่คือกลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวหรือที่เรียกว่า 608 อายุเกิน 60 ปี และ 7 โรคเรื้อรัง เช่น สมอง ปอด หัวใจ เบาหวาน อ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และคนท้อง ล่าสุด เดิมช่วงต้นการระบาด ช่วง อัลฟ่า เบต้า เด็กติดเชื้อน้อย แต่พอยุคโอไมครอน ไม่รักเด็ก เด็กติดเชื้อมากขึ้น เชื้อขึ้นสมองและเสียชีวิตมากขึ้น ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยครับ
5.พลิกโฉมการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ การวินิจฉัยช่วงแรกต้องใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมหรือ PCR ใช้เวลานานราคาแพง นักวิทยาศาสตร์พัฒนาจนล่าสุดใช้ ATK จากโพรงจมูก น้ำลาย ลมหายใจ เดิมห้องแล็บในไทยตรวจ PCR ได้น้อยมาก ผ่านมา 2 ปีครึ่ง มีการพัฒนาสร้างห้องแล็บ ได้มากขึ้น เฉียด 200 ที่ในไทย พร้อมที่จะต่อสู้กับไวรัสตัวถัดไปในอนาคต เตียงห้องแรงดันลบมากขึ้น อุปกรณ์หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจเราพร้อมมากขึ้น
6. ยารักษา ช่วงต้นของการระบาด เราไม่มียาที่เฉพาะ ช่วงแรกเอายาต้านไข้หวัดใหญ่Oseltamivir ยาต้านไวรัสเอชไอวี Lopinavir ยาต้านไวรัสมาลาเรีย Hydroxychloroquineมารักษา แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นคิดยามารักษาหลายตัว Favipiravir เดิม RemdesivirMolnupiravir Paxlovid ต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานหนัก มีการบริจาคยาระหว่างประเทศด้วย สุดยอดชาวโลก
7. วัคซีน ณ วันแรกของการระบาด เมืองอู่ฮั่น มณฑลเห่อเป่ย์ จีน ที่ตลาดค้าสัตว์ มีคนเสียชีวิตจากปอดอักเสบที่ไม่ใช่เชื้อที่เคยพบบนโลกมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ทราบดีถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น รีบประกาศลำดับสารพันธุกรรมให้ทั่วโลกรับรู้และเริ่มขบวนการผลิตวัคซีนทันที ใช้เวลาเพียง 1 ปี มีวัคซีนออกมาใช้ (ปกติการพัฒนาวัคซีนใช้เวลาหลายระยะต้องทดลองในสัตว์ ในคนเกือบ 5-10 ปี) มีหลายชนิด ล่าสุด เรามีข้อมูลชัดเจน ว่าวัคซีนลดอัตราการตาย ลดการเข้าไอซียู ลดภาวะ long covid และ MIS-C ในเด็กได้ ส่วนน้อยที่จะแพ้วัคซีน
ล่าสุด อายุ 5-11 ปี ควร 2 เข็ม, 12-17 ปี ควร 3 เข็ม, >=18 ปี ควร 3 เข็ม 4,5
อนาคตเด็กน้อยกว่า 5 ปี รอการวิจัยต้องฉีดแน่นอน และทุกวัยเมื่อเข้าโรคประจำถิ่นต้องฉีดทุกปี อาจจะปีละเข็มโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 ละบุคลากรทางการแพทย์ และ ประชาชนทั่วไป
8. วิถีชีวิตใหม่ New Normal ศัพท์นี้เกิดมาใหม่ คือ DMHT Distance รักษาระยะห่าง Mask หน้ากากอนามัย Hand washing ล้างมือ T temp วัดอุณหภูมิ ทุกคนมีทักษะ ใส่หน้ากาก ล้างมือ พกแอลกอฮอล์เจลออกจากบ้านช่วยลดการติดเชื้อได้ดีไทยเราประกาศให้ถอดหน้ากากได้เริ่มในบางจังหวัด แต่เชื่อว่าบางคนยังยินดีที่จะสวมต่อไป เพราะป้องกันไวรัสตัวอื่นได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หวัด
9. เราผ่านดราม่า เรื่องเลวร้ายมาด้วยกัน 2 ปีครึ่ง ทั่วโลกและคนไทยเราผ่านดราม่ามาเพียบ เราสูญเสียทั้งคนเสียชีวิต คนตายที่บ้าน คนอยู่ตกงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ เปลี่ยนอาชีพรายได้หาย ต้องทำงานที่บ้าน WFH เด็กอดเรียนต้องเรียน online ที่บ้าน ขาดทักษะชีวิต เศรษฐกิจแย่ทั่วโลก lockdown ข้าวของน้ำมันแพง กิจการถูกปิด เราบอบช้ำกันทุกคนบนโลก
10. ในความโหดร้ายของไวรัสมรณะ เราเห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงต้นๆ ของการระบาดประชากรเป็นกำลังใจที่ดีให้พวกเราบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่มีอยู่ในไทยทั้ง4 แสนคน
มีแคมเปญ “…อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ…” มีการบริจาคหน้ากากอนามัย ข้าวของ เครื่องใช้ให้พวกเรา พวกเรารับรู้ได้และขอขอบพระคุณพี่น้องคนไทยทุกท่าน พวกเราบางงานต้องหยุดงานที่ทำอยู่ประจำเปลี่ยนมาเป็นดูแลงานโควิด พวกเรา 2 ปีครึ่ง บางหน่วยงานยังไม่ได้หยุด ทำงานทุกวัน ไม่ได้กลับบ้านมานาน พวกเรามีบางส่วนติดเชื้อและเสียชีวิตเช่นเดียวกัน ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
กรกฎาคม เรากำลังจะก้าวสู่โรคประจำถิ่น (จะเข้าได้เมื่อ คนติดเชื้อน้อยลง คนตายน้อยลง คนป่วยหนักน้อยลง ประชากรฉีดวัคซีนใน%ที่สูง โดยแต่ละประเทศเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่พร้อมกัน)
บทสรุป ตอนนี้ถึงจุดที่แอดอยากจะพิมพ์มาตลอดเมื่อพูดถึงโควิด-19 ตลอดระยะ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คือ ตอนนี้เรามาอยู่ปลายทางอุโมงค์แล้ว อีกไม่กี่ก้าว เราจะพ้นอุโมงค์แล้วนะเริ่มเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์แล้ว สวยงามมากๆ ใช้เวลา 2 ปีครึ่งเลยนะ มองหันหลังไปที่อุโมงค์ที่เราผ่านมา เราสูญเสียคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ เราเจ็บ เราเสียใจ เศร้า หดหู่กับครอบครัวผู้เสียหายทุกท่านนะครับ ให้กำลังใจกันและกัน
ใกล้ละครับ เราจะยืนจับมือด้วยกันทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ปลายอุโมงค์แล้วดูแสงพระอาทิตย์ที่สวยงามด้วยกันนะ… ขอบคุณจากใจ พ่อหมอหลวงเมืองทิพย์”
3. แน่นอนว่า กัปตันเรือ คือ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา แบกรับทุกความกดดัน ทุกคำด่าว่า เย้ยหยัน เตะตัดขา สาดโคลน ฯลฯ
นายกฯ ลุงตู่ กล่าวว่า ...การเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตโลก ที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤตครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 / แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทย / เราถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในระดับต้นๆของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของ GDP / การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เหมือนก่อน
เมื่อมองย้อนกลับไป 2 ปี วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นี้ นับเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะเราสู้อยู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น ไม่มีอาวุธใดจะปราบได้ / โดยในช่วงเริ่มการระบาดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย / ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ / การต่อสู้กับการระบาดของ โควิด-19 ไม่มีอะไรที่แน่นอน จึงได้สร้างมาตรฐานการต่อสู้ใหม่ในหลายระลอก มีวัคซีนก็ต้องแบ่งปัน กระจายการฉีดอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ / นโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด / รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ / โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยก็ได้นำร่องเปิดประเทศในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และได้เปิดประเทศจริงจังเมื่อ 1 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา / ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ไปปฏิบัติ / ทั้งนี้ แม้เปิดประเทศแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง ยังต้องตระเตรียมความพร้อม ทั้งวัคซีนและยารักษาไว้อย่างเพียงพอ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น
ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง / ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลก ได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก / เมื่อมองในแง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยในหลายๆ ด้าน เช่น
(1) ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย ทั้งการรักษา การให้บริการการรับมือ โรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉิน (2) ยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพตั้งแต่บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทีมหมอครอบครัว อสม. รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงได้เองหลายชนิด ในประเทศ และ (3) ส่งเสริมบทบาทการเป็น “ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุข”(Medical and Wellness Hub) ของโลก / โดยไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ “ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่”(ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases :ACPHEED) ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคมนี้ / ยิ่งกว่านั้น ยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเต็มที่หลังวิกฤตโควิดอีกด้วย ...”
แน่นอน... ในวันที่ถึงฝั่ง เราจะไม่ลืมคนที่แจวเรือ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี