ภายใต้กฎกติกาที่ชัดเจนที่ได้ออกมา และเหตุการณ์ต่างๆที่ปูทางมา ทุกฝ่ายก็คาดการณ์ได้ว่า อีกไม่นานก็จะถึงเวลาที่กำลังนับถอยหลังเลือกตั้ง อีกทั้งกฎหมายลูก ไม่ว่าจะว่าด้วยเรื่องของ สส. และพรรคการเมืองที่ผ่านไปแล้วก็น่าจะจบขั้นตอนทุกอย่างภายในสัปดาห์นี้ ช่วงเวลาหลังจากนี้ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการช่วงชิงความได้เปรียบ ก่อนวันประกาศเลือกตั้งหรือวันยุบสภาที่น่าจะเกิดขึ้นหรือประกาศในอนาคตอันใกล้นี้?
ซึ่งแน่นอนมีผลต่อการตัดสินใจรอบสุดท้ายของบรรดาสส.ที่มีแต้มทั้งหลายว่าจะย้ายไปอยู่บ้านไหน?
กระแสความนิยมของประชาชนต่อพรรคหรือหัวหน้าพรรคหรือผู้ลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ สส. มักจะใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของพรรคต้นสังกัดหรือพรรคที่อยากย้ายไปสังกัด ว่าปลายสมัยแบบนี้ พรรคใดจะสามารถนำพาตนเองให้ไปสู่เป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่?
ซึ่งหากประเมินแล้วพรรคการเมืองต้นสังกัดเดิมยังมีโอกาสที่จะสามารถนำพาตนให้ก้าวไปสู่เส้นชัยได้ก็คงไม่มีปัญหา หากแต่พรรคการเมืองต้นสังกัดเดิมไม่สามารถนำพาตนเองให้ก้าวไปสู่ปลายทางที่วาดไว้ได้ หรือแม้กระทั่งการที่พรรคการเมืองต้นสังกัดเองก็ต้องประเมินว่าระหว่างผู้สมัครเดิมกับผู้สมัครรายอื่นใครจะมีโอกาสเข้าวินมากกว่ากัน?
แต่จริงๆแล้วก็อาจจะมีปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่แค่ความนิยมของพรรค
ซึ่งหากจะกล่าวถึงหนึ่งในพรรคการเมืองเจ้าเสน่ห์ แน่นอนว่าชื่อของพรรคภูมิใจไทยต้องขึ้นมาเป็นลำดับแรกอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งแนวทางบนเวทีทางการเมืองของพรรคที่ชัดเจนและเป็นขาขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยังมีคะแนนความนิยมของประชาชนที่ก็เริ่มปันใจให้กับพรรคภูมิใจไทย ทั้งจากนโยบายกัญชาที่เป็นหนึ่งในอาวุธเด็ดของพรรค รวมถึงถือเป็นบ้านที่น่าจะให้ความเชื่อมั่นให้กับบรรดาสส.ว่ามีโอกาสสูงที่จะได้เป็นพรรครัฐบาลไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าจะเกิดรายชื่อ สส. ย้ายพรรคจากสังกัดพรรคใดก็ตาม ชื่อของพรรคภูมิใจไทยก็ยังถูกจับไปโยงอยู่เสมอ
ดังที่ได้รายงานไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีข่าว สส. จำนวนหนึ่ง ทั้งจากทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ
พรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมพลัง เตรียมที่จะย้ายสังกัดมาเข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งแม้จะเป็นการเสริมแกร่งให้กับพรรคภูมิใจไทยในระดับหนึ่ง เพียงแต่ในตอนนี้คงต้องบอกว่า ความจริงคงไม่ได้มีเพียงแค่ในหน้าสื่อที่ปรากฏเพียงเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วนายอนุทินก็เคยให้สัมภาษณ์และแย้มกับสื่อมวลชนว่า ยังมีมากกว่าที่เป็นข่าว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ก็มีกระแสข่าวหนาหูว่า อาจมี สส. จำนวนร่วม 40 ราย จาก 9 สังกัดพรรคการเมืองน้อย – ใหญ่
กำลังอยู่ในช่วงเก็บของจากบ้านเก่า เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกบ้านภูมิใจไทย โดยอาจจะเป็นวันสองวันนี้หรือไม่?
แน่นอนว่าหากการย้ายสังกัดเข้าเกิดขึ้นจริงตามที่เป็นข่าวฝั่งของพรรคภูมิใจไทยก็คงเรียกได้ว่า ได้กำลังเสริมที่สำคัญและเป็นกำลังเสริมที่หลากหลายที่มา จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ในทางกลับกันสำหรับพรรคการเมืองต้นสังกัดเดิมแล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งในความเสียหายที่สำคัญ ที่นอกจาก
จะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ไม่ให้เป็นไปตามดังที่คาดหวังตามยอดที่หายแล้วอาจส่งผลต่อการไหลเพิ่มตามกันไปหลังจากนี้อีกด้วย
เมื่อลองกางรายชื่อพรรคการเมืองต้นสังกัดของว่าที่ผู้สมัครสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยตามที่เป็นกระแสดูแล้วมีรายชื่อจากพรรคพลังประชารัฐที่ตกเป็นข่าวการย้ายสังกัดถึง 14 ราย พรรคเพื่อไทย 10 ราย พรรคก้าวไกลอีก 5 ราย พรรค
เศรษฐกิจไทย 3 ราย และพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงพรรคอื่นๆ รวมกว่า 10 ราย ก็แน่นอนว่าอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพรรคต้นสังกัดเดิมของ สส. ที่กำลังเก็บกระเป๋าอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ที่มี สส. จะโบกมือลาจากพรรคในจำนวนที่ไม่น้อย หลังจากนี้จึงอาจจะได้พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ออกมาทำอะไรบางอย่าง ทั้งต่อคนเดิมหรือคนใหม่เพื่อรักษาภาพและหยุดยั้งเลือดหยุดไหลตามๆ กัน
เอาเข้าจริงบรรดารายชื่อตามที่เป็นข่าวตอนนี้ก็ตรงกับข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่เหตุใดจึงต้องมีการลาออกจากต้นสังกัดเดิมพร้อมๆ กันในตอนนี้?
ซึ่งในมุมของพรรคภูมิใจไทยก็คงไม่อาจปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยโดยใช่เหตุ และน่าจะมีกระบวนการบางอย่างเพื่อยืนยันการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในเวลาที่เหมาะสม?
ด้วยคะแนนนิยมที่กำลังเข้าสู่ช่วงตั้งคำถาม จึงยากต่อการทำให้พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองทางเลือกลำดับแรกของผู้ที่ต้องการหาสังกัดพรรคใหม่ แต่อย่างน้อยก็ต้องรักษาฐานเดิมไว้ได้ให้มากที่สุด การที่พรรคพลังประชารัฐมีหนึ่งในกุนซือวงการการเมืองคนสำคัญอย่างพลเอกประวิตร นั่งแท่นกุมบังเหียน ก็ถือว่าไม่น่าผิดหวัง เพราะนอกจากสัปดาห์ก่อนจะสามารถเปิดตัวนายมิ่งขวัญ ที่ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญทางการเมืองเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้แล้ว ล่าสุดยังพบข่าว สส. คนสำคัญของพรรคการเมืองต่าง ๆเตรียมเข้ามาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ส่วนนายอันวาร์ สาและ สส.ปัตตานี จากสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขอเลื่อนการเปิดตัวเนื่องจากอาการป่วย นอกจากนี้ยังมีขุนพลคนภาคใต้ถูกจับโยงอีกจำนวนหนึ่ง
ต้องยอมรับว่านายมิ่งขวัญเองก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีฐานเสียงรองรับอยู่พอสมควร ซึ่งการย้ายสังกัดเข้าสู่บ้านพลังประชารัฐของนายมิ่งขวัญ ก็อาจช่วยดึงคะแนนเสียงส่วนตัวของนายมิ่งขวัญให้กลายเป็นคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐไม่ยากนัก แต่ว่ากันตามตรงการเข้ามาของนายมิ่งขวัญแม้จะทำให้พรรคพลังประชารัฐดูมีทิศทางแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ใช่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะประสบแต่ผลด้านดีเสมอไป
จากวลีที่นายมิ่งขวัญได้กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นหนึ่งในการตัดสินใจ
ที่ทำให้ย้ายมาสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็น่าสนใจเพราะว่า ด้วยลักษณะการพูดของนายมิ่งขวัญเช่นนี้ ก็อาจทำให้บรรดาผู้ฟังรู้สึกว่านายมิ่งขวัญไม่ประทับใจที่จะร่วมงานกับพลเอกประยุทธ์ และอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับผู้ที่นิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภายในของพรรคพลังประชารัฐเองรวมถึงประชาชนด้วยก็เป็นได้หรือไม่ ?
อย่างในกรณีของพื้นที่ภาคใต้ที่คะแนนนิยมส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งก็น่าสนใจว่า การที่
นายมิ่งขวัญพูดเช่นนั้นออกสื่อจะส่งผลต่อคะแนนของพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่ภาคใต้มากน้อยเพียงใด? อีกทั้งการเข้ามา
ยังพรรคพลังประชารัฐของนายมิ่งขวัญ พร้อมด้วยการประกาศกร้าวว่าพร้อมที่จะชิงตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแบบข้ามขั้น ก็น่าจะทำให้บรรดาสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและฐานคะแนนเสียงต่างตกใจกันไม่น้อย เพราะนอกจากเรื่องของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องเข้าสู่ที่ประชุมของพรรคก่อนแล้ว ประเด็นความนิยมของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนการตัดสินใจหรือไม่?
ก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งสมมุติฐานอยู่หลายประเด็นถึงกรณีที่พลเอกประวิตร ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อ ในประเด็นของพลเอกประยุทธ์ที่ดูจะมีโอกาสไม่น้อยที่จะไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งยังมีอีกหนึ่งสมมุติฐานที่ก็น่าจะมีโอกาสไม่น้อยก็คือการที่พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร อาจมีการแยกกันเดิน แต่สุดท้ายจุดหมายปลายทางของทั้งสองก็น่าจะมาบรรจบกัน แต่นับตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้หลายปัจจัยอาจเปลี่ยนไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีฯก็ยังถือว่ามีไม้เด็ดอยู่ ทั้งอำนาจในการคุมเกม และอำนาจในการปิดเกม และในมุมของผู้คุมเกม ก็คงไม่เลือกปิดเกมในสถานการณ์ที่ตนเองยังได้ประโยชน์ อีกทั้งเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ก็น่าจะชัดเจนขึ้นหลังปีใหม่ ซึ่งก็ไม่แน่ใจจะเกี่ยวข้องกับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่? แต่หากว่าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ความชัดเจนถึงเรื่องของกระบวนทัพในช่วงต้นปี ก็อาจส่งผลให้เส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ กลับเข้าสู่ทิศทางที่ชัดเจนแบบภูมิใจไทยหรือไม่?
อย่างไรก็ตามภายใต้กรอบเวลาที่เหมือนกับถูกขีดไว้ ทำให้ทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่มองไกลไปถึงการเลือกตั้งในครั้งหน้า
ยิ่งเมื่อเป็นช่วงปลายสมัย และปลายศักราชเช่นนี้ สส. บางท่าน และพรรคการเมืองบางพรรคดูจะมุ่งเน้นไปที่การเลือกตั้งในครั้งหน้าเป็นพิเศษ อีกทั้งแอ๊กชั่นที่เกิดขึ้นในสภาฯ ก็ย่อมไม่ส่ง ผลถึงการเปลี่ยนแปลงกฎและกติกาการเลือกตั้งที่จบไปแล้ว จึงก็ไม่แปลกที่การประชุมสภาตอนนี้ดูเหมือนจะไร้ความหมาย
อย่างในการประชุมสภาฯ ที่เพิ่งล่มไม่เป็นท่าไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่มีการพิจารณา พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้พบว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งก็อาจเป็นไปตามคำกล่าวของนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ จากสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศว่าฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมแสดงตนและลงมติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมองว่าการลงมติในมาตราดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับ แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่ก็พบว่ามี สส. จากพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่แสดงตนกว่า 53 ราย ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็เป็นพรรคจากรั้วรัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมการประชุมในจำนวนเยอะที่สุดถึง 17 ราย
ซึ่งเมื่อได้เห็นองค์ประชุมสภา ฯ เป็นเช่นนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าการประชุมสภาครั้งที่เหลืออยู่จะเป็นอย่างไร จะมีกฎหมายผ่าสภาได้อีกกี่ฉบับ
สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ดูจะกดดัน ผิดกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลที่แม้จะมีการหลั่งไหลออกของ สส. ในจำนวนที่ไม่น้อย แต่ก็ดูจะไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก เพราะต่อให้มีการโหวตไม่ไว้วางใจแต่ในสมัยสภาที่เหลือก็จะเป็นเพียงการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่มีใครสามารถล้มรัฐบาลได้ หนำซ้ำแม้กระทั่งจะเปิดสภาเพื่อจะอภิปรายรึกระทู้ใดในสภาเพื่อโจมตีรัฐบาลยังยากเพราะหากเพียงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม ทุกอย่างก็จบ
สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่สส.ทยอยลาออกเพราะเมื่อปี 2543 รัฐบาลชวน 2 ที่สส.พรรคความหวังใหม่ทยอยลาออกจาสภาแต่ก็ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยรัฐบาลยังอยู่ต่อได้อีกเกือบปีจนเกือบหมดวาระอีกไม่กี่วันจึงตัดสินใจยุบสภา
กลายเป็นว่ายิ่งนานวันเข้ายิ่งดูเหมือนการเลื่อนเวลาอภิปรายแบบไม่ลงมติไปเป็นเดือนมกราคมจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก ตราบใดที่สส.ในสภายังมากกว่า 250 เกมนี้รัฐบาลยิ่งเป็นต่อ
“ในช่วงชีวิตหนึ่ง อย่างไรก็มีเรื่องเบิกบานแจ่มใสได้อยู่หลากหลาย
ผู้ใดแม้จะพบพานเรื่องโชคร้าย เผชิญกับความทุกข์ยากลำเค็ญอยู่บ้าง
ก็มีคุณค่าให้อดกลั้นทนทานอยู่ ขอเพียงสามารถอดกลั้นทนทาน
ก็ต้องได้รับคุณค่าตอบสนองแน่นอน”
โกวเล้ง จาก ผู้ยิ่งใหญ่
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี