สนามการเมืองไทยเดิมจัดได้ว่ามีอยู่ 3 ขั้ว (มาบัดนี้เหลืออยู่ 2 ขั้ว) พอนิยามได้ดังนี้คือ
1. ฝ่ายขั้วที่ 1 ได้แก่ ฝ่ายอำนาจนิยม หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายทหารการเมือง หรือฝ่ายฐานันดร (Authoritarian, the establishment, the pro-military, the pro-status quo) ซึ่งนิยมชมชอบการรวมศูนย์อำนาจ และมักจะอ้างเรื่องการรักชาติ และการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม เป็นต้น
2. ฝ่ายขั้วที่ 2 ได้แก่ ฝ่ายพวกชอบแอบอ้างความเป็นประชาธิปไตย แต่ได้ใช้สาระเนื้อหาของประชาธิปไตยเพื่อขึ้นสู่อำนาจและรวบอำนาจ เป็นเผด็จการรัฐสภา (Illiberal Democracy, Parliamentary Dictatorship) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอำนาจนิยมเช่นกัน
3. ฝ่ายขั้วที่ 3 ได้แก่ พวกหัวก้าวหน้า (Progressive forces) มีความมุ่งมั่นในเรื่องสังคมประชาธิปไตยของการมีส่วนร่วม เอาประโยชน์ของประชาชนพลเมืองเป็นที่ตั้ง และต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความทัดเทียมเสมอภาค และการบริหารจัดการบ้านเมืองอยู่ภายใต้หลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล (Social change and good governance)
เดิมเป็นเวลาหลายปีที่ฝ่ายขั้วที่ 1 และขั้วที่ 2 ต่างขับเคี่ยวต่อกรกันเพื่อชิงอำนาจ เพื่อยึดและครอบครองอำนาจ หรือนัยหนึ่งฝ่ายขั้วที่ 2 ต้องการขึ้นมาแทนที่ (replace) ฝ่ายขั้วที่ 1 แต่แล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ทั้งฝ่ายขั้วที่ 1 และฝ่ายขั้วที่ 2 ต่างพ่ายแพ้ต่อฝ่ายขั้วที่ 3 และมีทีท่าที่จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ในเวทีการเมืองของไทย ทั้งคู่จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาสถานะ และฟื้นฟูพละกำลัง ความเป็นตัวตน ทั้ง 2 ขั้วจึงเริ่มหันหน้าเข้าหากัน จับมือกัน เพื่อต่อสู้ และต่อต้านฝ่ายขั้วที่ 3 อย่างขะมักเขม้น
การเมืองไทยจึงเปลี่ยนรูปโฉมไปในทิศทางของการต่อสู้ต่อกรระหว่าง 2 ขั้วการเมือง ทั้งในเรื่องอุดมการณ์ แนวคิด การขึ้นสู่อำนาจและการใช้อำนาจ หรือนัยหนึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรักษาฐานันดรเดิมกับฝ่ายปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือฝ่ายปฏิวัติสังคม (Social change หรือ Social revolution) ซึ่งทั้งนี้การขับเคี่ยวต่อกรดังกล่าวได้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ความท้าทายของโลกต่อราชอาณาจักรไทยและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยเองที่คนรุ่นใหม่ รุ่นหนุ่มสาวพร้อมด้วยองค์ความรู้ และการติดต่อเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ได้กลับมามีความสนอกสนใจในเรื่องบ้านเมือง และต้องการสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยและขจัดความคิดความอ่านแบบเดิมๆ และปรับปรุงปฏิรูองค์กรที่ล้าสมัย หรือที่ไม่พร้อมจะวิ่งไปกับความทันสมัยของโลก
ดูอีกมุมหนึ่งก็อาจจะจัดได้ว่าณ วันนี้สังคมของราชอาณาจักรไทยเป็นการขับเคี่ยวระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนหรือกลุ่มอำมาตย์ กับกลุ่มชาวบ้านประชาชนโดยทั่วไป(The elites and the masses) การขับเคี่ยวนั้น จะทวีความเข้มข้นหรือจะผ่อนคลายลงก็ขึ้นอยู่กับความคิดอ่านที่จะประนีประนอมและพูดจากันด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัยหรือไม่ ก็หวังว่าบรรด ผู้นำทั้งหลายของทั้ง 2 ขั้ว จะพึงมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน และจะเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งหรือไม่ หรือยังจะมุ่งมั่นเอาแพ้เอาชนะกันให้ถึงที่สุดส่วนประเทศชาติบ้านเมืองจะล้มเหลวสิ้นสลาย ไปอย่างใดก็ไม่สำคัญ
สติเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำกับ และบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคมก็ต้องออกมาแสดงตัวเป็นสะพานเชื่อมโยง เพื่อช่วยให้สังคมราชอาณาจักรไทยมีทางออกร่วมกันในกรอบราชอาณาจักรไทยที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยไม่แตกสลายกันไปเสียก่อน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี