ที่ผ่านๆ มา ข่าวจากฝ่ายแวดวงทางการเมือง (โดยเฉพาะจากสื่อของฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ)มักจะออกมาในทำนองว่าเศรษฐกิจรัสเซียกำลังย่ำแย่ ไปจนถึงการรายงานความพ่ายแพ้เสียหายยับเยินของฝ่ายกองทัพรัสเซีย ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในยูเครน เป็นระยะๆ
ขณะที่ฝ่ายยูเครนเองก็ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ ข้อมูลข่าวกรอง และที่ปรึกษาทางทหาร และทหารต่างชาติรับจ้างจากฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายยุโรปตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และมีการฝึกอบรมทหารของยูเครนเป็นหมื่นๆ คน และมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ แถมผู้นำฝ่ายสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก รวมทั้งประธานาธิบดียูเครน ก็ยังประกาศความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ ด้วยการขับไล่ฝ่ายรัสเซีย และพิชิตศึกให้ได้
แต่ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว การดำเนินการรุกกลับ (Counter-offensive) ที่ประกาศโดยประธานาธิบดียูเครนในช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ก็ยังมิได้เกิดผลจริงจังเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด ที่พอจะเป็นเนื้อเป็นหนังก็มีแต่การใช้โดรน และจรวดบุกทำลายกองเรือ ทำลายสะพานเชื่อมเขตไครเมียกับผืนแผ่นดินใหญ่ของยูเครน และการโจมตีอย่างประปรายรอบๆ กรุงมอสโกอยู่บ้าง ทั้งหมดก็เป็นไปในทางเพื่อประโคมข่าวเสียมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายยูเครนมิได้อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการขับไล่กองทัพรัสเซียออกจากยูเครนไปได้อย่างจริงจังตามคำประกาศที่ได้ให้ไว้ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียเองก็ยังดูไม่สะทกสะท้าน เศรษฐกิจก็ดำเนินการไปได้อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะสามารถแหวกวงล้อมของการคว่ำบาตรของฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปตะวันตกไปได้ด้วยการขยายและกระชับการทำมาค้าขายกับประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา และยังประสบความสำเร็จในการพยายามลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการใช้เงินพื้นเมืองของแต่ละชาติค้าขายซึ่งกันและกัน
ส่วนกองกำลังของฝ่ายรัสเซียในยูเครนนั้น ก็ยังอยู่ในฐานที่มั่นอย่างมั่นคง โดยมีการวางกับระเบิดอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันการเคลื่อนทัพเข้ามาของฝ่ายยูเครนเพื่อประชิดฐานที่ตั้งของฝ่ายรัสเซีย บวกกับการมีกำลังป้องกันทางอากาศ และการโจมตีทางอากาศที่เหนือกว่าฝ่ายยูเครนอย่างมากโข
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของฝ่ายยุโรปตะวันตกที่คล้อยตามไปกับความต้องการและการชี้นำของฝ่ายสหรัฐฯ ต่างกำลังเผชิญกับการถดถอยของเศรษฐกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิต อันสืบเนื่องมาจากการที่จะต้องจัดหาเชื้อเพลิง น้ำมัน และแก๊ส ที่ราคาสูงขึ้น เพื่อทดแทนการตัดขาดการนำเข้าจากรัสเซีย ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้าต่างขยับสูงขึ้น ก่อให้เกิดการถีบตัวของอัตราเงินเฟ้อ และกระชากราคาค่าครองชีพ อีกทั้งประเทศต่างๆ ยังต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อเสริมกำลังทัพ และจัดหาอุปกรณ์การรบต่างๆ เพื่อมาทดแทนจำนวนที่ได้นำไปส่งมอบช่วยเหลือให้กับฝ่ายยูเครน
ประเด็นคำถามก็คือ แล้วฝ่ายยุโรปตะวันตกจะสามารถแบกภาระดังกล่าวไปได้อีกนานเท่าใด ส่วนที่สหรัฐฯ เองก็ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งในเรื่องค่าครองชีพ และการต้องเพิ่มงบประมาณทหาร ซึ่งส่งผลให้ต้องลดหรือชะลอการนำงบประมาณเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนพลเมืองอเมริกัน ซึ่งยังไม่มีปฏิกิริยา เนื่องจากถูกครอบงำโดยสื่ออเมริกันต่างๆ ที่อยู่ในอาณัติของแวดวงธุรกิจอเมริกัน โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ และอุตสาหกรรมพลังงานต่างๆ ที่ได้ประโยชน์อย่างสูงจากการสู้รบระหว่างยูเครน กับรัสเซีย
ธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแวดวงอเมริกันทั้งกับฝ่ายพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน จึงยังไม่มีนักการเมืองหรือกลุ่มนักการเมืองใดของสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลประธานาธิบดี ไบเดน ทบทวนนโยบายและมาตรการต่างๆ ในเรื่องการทุ่มตัวเข้าไปผลักดันให้ฝ่ายยูเครนต่อสู้กับฝ่ายรัสเซีย ที่ดูไม่มีทีท่าว่าฝ่ายยูเครนจะมีชัยชนะได้แต่อย่างใด
ในแวดวงการเมืองและสื่อสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ต่างก็ยังพูดถึงโอกาสในความสำเร็จของฝ่ายยูเครนกับการต่อกรกับฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเป็นเสมือนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของภาคสนามในการสู้รบที่ยูเครน โดยมีผู้ที่ให้ความเห็นต่างไปจากภาพอันสวยงามดังกล่าวจาก นักวิชาการ และอดีตนายทหารสหรัฐฯ บางท่าน ที่แม้จะได้รับการรับฟังอย่างกว้างขวางทั่วโลก แต่กลับมิสามารถเจาะไปที่แวดวงสาธารณชนของสหรัฐฯ และยุโรปได้
อดีตนายทหารอเมริกันที่ได้ผ่านสงครามที่อิรัก อัฟกานิสถาน และซีเรีย ได้ให้การประเมินวิเคราะห์ว่า จนถึงปัจจุบันนี้ฝ่ายยูเครนได้สูญเสียกองกำลังทหาร ทั้งล้มตายและบาดเจ็บไปร่วม 500,000 คนแล้ว และไม่มีรถถัง ปืนใหญ่และกระสุนเพียงพอ ส่วนการที่ได้รับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 จากมิตรประเทศนั้นก็เพิ่งเริ่มต้น และจำต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยก็ครึ่งปี เพื่อฝึกนักบินและช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินให้มีความชำนาญการได้ จึงยังต้องปล่อยให้ฝ่ายรัสเซียครอบครองการสู้รบทางอากาศต่อไป ซึ่งในการนี้มีการประเมินว่า การล้มตายและบาดเจ็บของทหารยูเครนกับรัสเซียนั้น มีสัดส่วนประมาณ 5 หรือ 7 ต่อ 1 และขณะนี้ฝ่ายยูเครนมีกำลังพลที่จะสู้รบได้ไม่เกิน 400,000 คน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียมีกำลังพลอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าคน ทั้งในดินแดนยูเครน และรอบๆ ยูเครน อีกทั้งฝ่ายรัสเซียยังมีกองกำลังสมทบอีกหลายแสนคนขณะที่ฝ่ายยูเครนไม่มีกำลังสำรองหรือสมทบอีกแล้ว ถึงขั้นต้องออกไปกวาดต้อนพลเมืองชายตามท้องถนนเพื่อบังคับให้มาฝึกทหาร ทั้งนี้ก็ต้องตระหนักด้วยว่าประชากรยูเครนประมาณ 15 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 45 ล้านคน ได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว
ก็มีคำถามว่า แล้วทำไมฝ่ายรัสเซียถึงไม่เร่งรีบเผด็จศึก ก็มีคำตอบว่า ฝ่ายรัสเซียคงมีความประสงค์ที่จะตั้งรับ และปล่อยให้ฝ่ายยูเครนเป็นฝ่ายโจมตี เพื่อจะได้ทำลายได้ง่ายโดยสูญเสียผู้คนและอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยกว่า และหากจะดำเนินการรุกคืบ ก็น่าจะค่อยๆ รุกคืบเพื่อบีบคั้นฝ่ายยูเครนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยความประสงค์ที่จะให้ฝ่ายยูเครนได้ตระหนักว่าจะเสียหายยิ่งขึ้น และไม่มีหนทางที่จะเอาชนะฝ่ายรัสเซียได้ ฉะนั้นจะต้องกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อการหยุดยิงและใฝ่หาสันติภาพ
ขณะเดียวกันฝ่ายรัสเซียก็เฝ้าดูเหตุการณ์ที่อเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกว่า จะดึงดันสนับสนุนยูเครนไปได้อีกกี่น้ำ เพราะประชาชนพลเมืองของสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรปตะวันตก คงจะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบในทางลบ และเรียกร้องให้ผู้นำประเทศหันกลับมาดูแลความผาสุกของบ้านเมืองมากกว่าการทุ่มพละกำลังและเงินตราไปในสงครามที่จะเอาชนะฝ่ายรัสเซียได้ยาก
ส่วนประชาคมโลกเองก็มิได้นิ่งเฉยต่อความเป็นไปที่ยุโรปดังกล่าว โดยฝ่ายจีนก็ได้มีข้อเสนอโดยการอาสาเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยประเด็นปัญหา ทางซาอุดีอาระเบียก็ได้มีการจัดประชุมหารือกับมิตรประเทศต่างๆ รวมทั้งได้เชิญผู้นำยูเครนเข้าร่วมด้วย เพื่อปรึกษาหารือว่าจะร่วมกระทำการอะไรกันได้บ้างเพื่อยุติสงครามการสู้รบ และการประนีประนอมระหว่างฝ่ายยูเครนกับรัสเซีย ทั้งนี้ต้องตระหนักว่าฝ่ายยูเครนมิได้มีความเป็นตัวของตัวเอง การดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการชี้นำของฝ่ายสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นสำคัญ
ฉะนั้นภาระรับผิดชอบทั้งหมดก็คงจะต้องกลับมาอยู่ที่ฝ่ายประธานาธิบดี ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญว่าจะตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงที่สนามรบยูเครน และที่จะตระหนักว่าจะดำเนินนโยบายภายใต้อาณัติของกลุ่มธุรกิจผลประโยชน์ทางด้านอาวุธและพลังงานอเมริกันนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ทั้งต่อความเจริญก้าวหน้าภายในสหรัฐฯ และสถานะของสหรัฐฯ ในโลกกว้างอีกต่อไป และจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจที่จะต้องเปิดการเจรจาหารือกับฝ่ายประธานาธิบดีปูติน แห่งรัสเซีย
อะไรเล่าที่จะเป็นประเด็นของการเจรจาหารือที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และระหว่างองค์การนาโตกับฝ่ายรัสเซีย ซึ่งแวดวงวิชาการ สื่อ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารและความมั่นคง และนักการเมือง จำนวนน้อยๆ จำนวนหนึ่งก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การที่ฝ่ายยูเครนจะให้ฝ่ายรัสเซียถอนกำลังทั้งหมดออกไปจากยูเครนคงจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งการที่ฝ่ายยูเครนจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกองค์การนาโตก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน นอกจากนั้นฝ่ายรัสเซียยังมุ่งที่จะป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองยูเครนเชื้อสายรัสเซียในเขตไครเมีย และในเขตภาคตะวันออกของยูเครนไว้อย่างที่สุด
ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ ยูเครนคงจะเสียดินแดนเหล่านี้ให้กับฝ่ายรัสเซียเป็นการถาวร อีกทั้งยูเครนก็จะต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศเป็นกลาง (Neutrality) เหมือนกับสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ซึ่งการเป็นกลางนี้ก็จะต้องได้รับการรับรองจากฝ่ายสหรัฐฯ องค์การนาโต และสหภาพยุโรปฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายรัสเซียอีกด้านหนึ่ง โดยองค์การสหประชาชาติก็สามารถที่จะมีมติรับรองความเป็นกลางของยูเครนด้วยได้ โดยอาจจะมีการเปิดทางให้องค์การสหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาประจำการที่ยูเครน และเป็นแกนกลางในการบูรณะฟื้นฟูยูเครน โดยฝ่ายรัสเซียสมควรจะต้องรับผิดชอบในการจัดหางบประมาณเพื่อการนี้ด้วย
ทั้งหมดนี้ ฝ่ายยูเครนดูจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์ เพราะต้องสูญเสียดินแดน แต่ก็ต้องตระหนักไว้ข้อหนึ่งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นก็สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลฝ่ายยูเครนได้มีเป้าหมายที่จะให้พลเมืองยูเครนเชื้อสายรัสเซียกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง และเมื่อมีการต่อต้าน ก็กลับมีการโจมตีพลเมืองยูเครนเชื้อสายรัสเซีย ซึ่งทำให้มีการสูญเสียชีวิตไปประมาณ 14,000 คน
บัดนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด น่าจะถึงเวลาที่จะใช้สติตรึกตรองบนพื้นฐานความจริงกันได้แล้ว และฝ่ายผู้นำยูเครนก็ต้องคิดให้ได้ว่าหากยังดื้อดึงต่อไป นาโตก็ดูแล้วคงไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ยุโรปเองก็ไม่รู้จะมีปัญญาส่งอาวุธให้อีกนานแค่ไหน สหรัฐฯ นั้นก็ไม่ได้ส่งกองกำลังเข้ามาช่วยแบบเปิดหน้า ซึ่งแปลว่าทุกประเทศไม่พร้อมจะประกาศสงครามกับรัสเซียโดยตรงเพื่อช่วยยูเครนเลย ยิ่งฝืนต่อไปก็จะเข้ากับคำพังเพยไทยที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี