รัฐบาลทุกรัฐบาลอ้างว่าพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ แต่สุดท้ายก็ไม่เคยปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม หรือเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะส่วนมากรัฐบาลใช้กลอุบายหว่านเงินเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตนเอง มากกว่าเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม แล้วส่วนมากก็มักจะนำเงินในอนาคตมาแจกจ่ายให้ประชาชน โดยพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเงินที่แจกจ่ายนั้น เป็นเงินของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันคือเงินของประชาชนทุกคน แต่ทว่าถูกรัฐบาลเล่นแร่แปรธาตุนำไปใช้ซื้อคะแนนนิยมทางการเมืองด้วยกลวิธีต่างๆ
เราเคยได้ยินว่ารัฐบาลทุกรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลรักษาการพยายามจะเร่งเบิกจ่ายเงินค้างท่อ เพื่อให้มีเงินไปช่วยหมุน หรือช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ทว่าเมื่อพิจารณาในเนื้อแท้แล้วก็พบว่าโดยทั่วไปนั้นไม่มีเงินค้างท่อมากมายนักเพราะรัฐบาลได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณไปตามปกติแล้ว เพราะฉะนั้น การหวังว่าเงินค้างท่อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเสียมากกว่า แล้วนอกจากนั้นก็มักจะพบว่ารัฐบาลนำเอาเงินในอนาคตมาใช้อีกด้วย ซึ่งเป็นน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ หรืองบลงทุนเป็นกรณีพิเศษ สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้นก็คือความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ
จัดจ้าง เพราะยิ่งเร่งรัดเบิกจ่ายงบส่วนนี้มากขึ้นเท่าไร ก็มักจะพบความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
เราพบเห็นกันมาโดยตลอดว่ารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐพยายามจะทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัวมากที่สุด และเร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วงใกล้หมดปีงบประมาณ หรือพูดให้ตรงประเด็นคือใช้เงินงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้ให้หมดสิ้น จะได้ไม่ต้องส่งเงินคืนคลัง ซึ่งอันที่จริงการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณแบบนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย แต่กลับทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามว่าทำไมจึงไม่วางแผนใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เหตุใดไม่เบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามระยะเวลาของแผนงานตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ แต่เรากลับพบว่ามักเร่งรัดใช้งบประมาณให้หมดสิ้นภายในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยการละเลงงบแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เช่น จัดสัมมนา หรือจัดประชุมแบบหาสาระสำคัญของงานไม่ได้ แต่ทำเพราะต้องการใช้งบฯ ให้หมดไปเท่านั้น
รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมันคือหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวดีขึ้น แต่คำถามคือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกรรมวิธีที่รัฐบาลใช้นั้น ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงหรือ
การที่รัฐบาลอ้างว่าใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็นับเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล แต่ปัญหาคือเมื่อใช้มาตรการการคลังแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงหรือ มาตรการที่ใช้มีความเหมาะสมแท้จริงหรือ
คำถามหนึ่งที่สาธารณชนถามนายกรัฐมนตรีคนใหม่ล่าสุดคือ การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต (digital wallet) ให้ประชาชนรายละหนึ่งหมื่นบาท จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงหรือ แล้วเงินที่จะแจกนั้นจะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้หรือไม่
การแจกเงิน digital wallet ให้ประชาชนรายละ 1 หมื่นบาท จะต้องใช้เงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ถามว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยยกระดับ
เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้จริงหรือ แล้วจะเกิดการหมุนเวียนของเงินก้อนนี้ในชุมชนทั่วประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า การแจกเงิน digital wallet ให้ รายละ 1 หมื่นบาท ไม่น่าจะส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ แต่มันคือการเพิ่มภาระการคลังให้กับประเทศมากกว่า
แต่เมื่อนักการเมืองได้ใช้การหาเสียงด้วยการแจกเงิน เพื่อล่อให้ประชาชนที่รู้ไม่ทัน แล้วหลงกลเลือกพรรคการเมืองที่ใช้กลอุบายนี้ไปแล้ว พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้อุบายนี้ก็คงจะต้องเดินหน้านำเงินในอนาคตมาแจกต่อไปเพราะกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่นำพาว่าประเทศชาติจะเสียหายทางเศรษฐกิจหรือไม่
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี