เรื่องแลนด์บริดจ์อยู่ๆ ก็มาโด่งดังเอาในช่วงก่อนรัฐบาลเศรษฐา และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐาแล้วก็มีการปั่นกระแสไม่เว้นแต่ละวันว่าเป็นโครงการสำคัญจำเป็นที่สุด เป็นยุทธศาสตร์ชาติ จะเลิกไม่ได้โดยเด็ดขาด ชาติจะล่มจม แล้วก็เกิดเป็นกระแสกดดันจนกระทั่งรัฐมนตรีคมนาคมซึ่งตอนแรกมีทีท่าจะยกเลิก ต้องพลิกลิ้นว่าจะดำเนินการต่อไป
ก็ประกาศให้รู้เป็นการทั่วไป ณ ที่นี้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์คือโครงการเพื่อความฉิบหายแห่งชาติที่จะทำไม่ได้ หรือถ้าคิดจะทำก็ต้องเลิกความคิดนั้น อย่าให้ชาติบ้านเมืองฉิบหายไปมากกว่านี้อีกเลย
สำหรับคนจำนวนหนึ่งซึ่งปล่อยความคิดให้เป็นประดุจสวะลอยน้ำ ถูกกระแสปั่นมาอย่างไรก็ลอยไปตามกระแสนั้นก็ควรจะตั้งสติหาความคิด หาความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนี้เสียก่อนที่จะหัวปักหัวปำถลำลึกไปมากกว่านี้ ขอจงช่วยกันตั้งคำถามในใจตัวว่าที่พูดกันเรื่องแลนด์บริดจ์นั้น ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วหรือไม่ว่าแลนด์บริดจ์คืออะไร ทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าที่มาของความคิดที่จะสร้างแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเกิดจากความเข้าใจว่าเส้นทางเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียมายังอ่าวไทย หรือต่อไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งต้องผ่านช่องแคบมะละกานั้นคับคั่ง แออัด และเสียเวลามาก หากทำแลนด์บริดจ์แล้วจะประหยัดเวลา จะประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด
ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความจริงแต่ไม่เป็นความจริง
อันเส้นทางเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียมายังอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก หรือจากอ่าวไทยไปยังมหาสมุทรอินเดียนั้น ส่วนที่ผ่านช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางที่นิยมกันมากที่สุดและใช้กันมาตั้งแต่โบราณกาล จนเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นทางสำคัญของโลก มีความคับคั่งจริง มีความตื้นเขินจนเหลือร่องเดินเรือที่จำกัดมาก และยังมีเรือข้ามฟากเฉลี่ยแล้ววันละ 3,000 ลำ จึงเป็นที่วิตกว่าสักวันหนึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ และหากมีอุบัติเหตุเรือจมขวางร่องน้ำเดินเรือก็จะทำให้การขนส่งชะงักงัน
ก็จริง แต่ทางออกก็ใช่ว่าจะไม่มี เพราะเส้นทางเชื่อมต่อนั้นยังมีอยู่อีกสองช่องทาง คือ ช่องแคบซุนดาและช่องแคบแลมบอร์ก แต่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะเพิ่มเส้นทางขนส่งเชื่อมต่อสองฝั่งฟากมหาสมุทรดังกล่าวมานานนักหนาแล้ว เฉพาะที่มีการพูดถึงการขุดคลองกระหรือคลองไทยก็พูดกันมาตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นว่ากล่าวแล้วถึง 27 ครั้ง
แต่เห็นอุปสรรคของการขุดคลองมากมายหลายประการ ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายที่สูงไปจนถึงปริมาณดินที่มากมายจนไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน รวมทั้งปัญหาความมั่นคง
ดังนั้นจึงเกิดความคิดเรื่องแลนด์บริดจ์ขึ้นมา
แลนด์บริดจ์ก็คือเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อสองฟากมหาสมุทร จากทะเลอันดามันด้านตะวันตกมายังอ่าวไทยด้านตะวันออก ซึ่งจะเป็นเส้นทางใดก็มีหลายเส้นทาง ตั้งแต่สตูลขึ้นไปจนถึงนครศรีธรรมราชอาจกล่าวได้ว่าอย่างน้อยก็มีสามเส้นทางที่จะทำเป็นทางรถไฟได้ และใช้เวลาเดินรถไฟก็ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่ระยะทาง
ปลายเส้นทางรถไฟทั้งสองด้านจะเป็นท่าเรือ ด้านหนึ่งเป็นท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน อีกด้านหนึ่งเป็นท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เป็นท่าเรือสำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ อย่างน้อยระวางขับน้ำประมาณ 100,000-500,000 ตัน หรือขนาดบรรทุกตั้งแต่ 10,000-50,000 ตู้คอนเทนเนอร์
ท่าเรือทั้งสองด้านที่มีทางรถไฟเชื่อมในการขนส่งสินค้าคือขนลงจากเรือด้านหนึ่ง บรรทุกรถไฟแล้วไปส่งลงเรืออีกด้านหนึ่ง นี่แหละที่เรียกกันว่าแลนด์บริดจ์ เงินลงทุน
ในการสร้างแลนด์บริดจ์ก็คือเงินลงทุนในการก่อสร้างทางรถไฟ จะเป็นทางกว้าง 1 เมตร หรือกว้าง 1.435 เมตรก็ยังไม่มีรายละเอียด และมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่รองรับระวางขับน้ำ 100,000-500,000 ตัน ได้ทั้งสองด้าน
และเพราะเหตุเป็นเรื่องการขนส่งสินค้า ดังนั้นสองข้างทางจึงอาจไม่มีสถานีแวะขนส่งอย่างอื่น รวมทั้งคนโดยสารด้วย ซึ่งจะหาความเจริญเพิ่มขึ้นจากแลนด์บริดจ์จึงเป็นอันไม่มี
แต่ปัญหาที่ไม่พูดถึงกันก็คือเรือสินค้าแต่ละลำที่มีตู้คอนเทนเนอร์ถึง 10,000 ตู้นั้น ถ้ามีเรือมาจอดเพื่อขนถ่ายสินค้าสัก 10 ลำ ก็จะมีตู้คอนเทนเนอร์ถึง 100,000 ตู้คอนเทนเนอร์ การจะยกตู้คอนเทนเนอร์ 100,000 ตู้ ลงจากเรือใส่รถไฟต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเท่าใด คิดกันหรือยัง
และคิดกันบ้างหรือไม่ว่ารถไฟแต่ละขบวนนั้นจะบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้กี่ตู้ จะถึง 300-500 ตู้หรือไม่ และถ้าต้องขนถึง 100,000 ตู้ จะต้องใช้รถไฟกี่ขบวนในการขนส่ง กว่าจะขนส่งไปถึงอีกปลายทางหนึ่งจะต้องใช้เวลาเท่าใด และเมื่อถึงปลายทางแล้วจะต้องขนตู้คอนเทนเนอร์จากรถไฟลงเรืออีก
ค่าใช้จ่ายในการขนตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือ ขึ้นรถไฟ และรอรถไฟขบวนใหม่มาบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จนกว่าจะหมดทั้งลำเรือ และเมื่อเต็มขบวนก็ต้องไปขนลงเรือที่ปลายทางอีกข้างหนึ่ง ต้องใช้เวลาอีกเท่าใดกว่าจะขนลงหมด และถ้าเรือยังบรรทุกไม่เต็มก็ต้องรอรถไฟขบวนใหม่จนกว่าจะเต็มลำ เรือที่รอส่งและเรือที่รอรับจะต้องคอยท่าคอยทีกันอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจะหมดไปสักเท่าใด นี่แหละคือความฉิบหายแห่งชาติที่พูดเพ้อเจ้อกันไปตามกระแส
ดังนั้นแลนด์บริดจ์จึงเป็นโครงการที่มีแต่ความฉิบหายอย่างเดียว ซึ่งจะแก้ปัญหาการขนส่งในเรื่องนี้ โลกเขามีเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ราคาและเวลาใช้น้อยกว่ากันมาก นั่นคือคลองลอยฟ้า
ก็คือคลองที่มีความสูงจากพื้นราว 8-10 เมตร พื้นคลองกว้างราว 50 เมตร สูงราว 30 เมตร ปลายคลองทั้งสองด้านมีประตูน้ำเปิด-ปิด เมื่อเรือเข้าทางปลายคลองด้านหนึ่ง ประตูน้ำก็จะปิดและดันเรือให้ยกตัวขึ้นเท่ากับระดับน้ำในคลองแล้วก็ปิดประตูน้ำ ปล่อยเรือแล่นไปอีกด้านหนึ่งโดยไม่ต้องเสียเวลายกตู้สินค้าขึ้น-ลง คือเรือมาถึงก็แล่นได้ตลอดไป เสียเวลาแค่เปิด-ปิดประตูน้ำ ทั้งค่าใช้จ่ายก็ถูกมาก
ที่สำคัญคือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เขาใช้กันทั้งโลกแต่กลับปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น น่าเวทนานัก มิหนำซ้ำยังมาหลอกเพื่อนร่วมชาติเดียวกันให้หลงผิดคิดโง่ตามไปอีก
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี