เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวโลกได้เห็นความโหดร้ายของฮามาส ที่รุกจากฐานที่มั่นของตนในเขตฉนวนกาซา (ถือเป็นดินแดนของปาเลสไตน์) แล้วบุกเข้าไปโจมตี สังหารชีวิตชาวยิวอิสราเอล รวมทั้งชาวต่างชาติ อย่างโหดร้ายทารุณ ในดินแดนหลายจุดของรัฐอิสราเอล จนมีผู้เสียชีวิตร่วม 1,400กว่าคน สร้างความตกตะลึง และอดสูใจให้กับชาวโลก ส่งผลให้ฝ่ายอิสราเอลเจ็บปวด คับแค้นใจเป็นอย่างยิ่ง และมุ่งมั่นที่จะเอาคืน ล้างแค้นให้ถึงที่สุด เรียกว่าเป็นการดำเนินการแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งโหดแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งต้องเหี้ยมยิ่งกว่า
แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์ให้หลัง ปฏิบัติการเอาคืนของอิสราเอลได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในเขตกาซาเสียชีวิตไปแล้วกว่า 8,000 คน (โดยในจำนวนนี้เป็นเด็ก ผู้เยาว์วัย ประมาณ 3,000 กว่าคน) จากผลของการโจมตีทางอากาศพร้อมด้วยอาวุธหนักภาคพื้นดินอย่างไม่ลดละ ซึ่งเป็นการทำลายล้างแบบปูพรมให้ราบคาบ ทั้งอาคารบ้านเรือน และชีวิตมนุษย์ที่ขวางหน้า
ชาวโลกที่ได้รับรู้ข่าว ต่างก็ออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และให้มีการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เพราะนอกจากจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่มากมายของชาวปาเลสไตน์แล้วพวกเขายังถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานจากทางตอนเหนือของเขตกาซาลงไปทางใต้ และตกอยู่ในสภาวะอดอยาก ข้นแค้น เพราะว่าฝ่ายอิสราเอลได้ทำการตัดน้ำประปา ไฟฟ้า และปิดพรมแดนมิยอมให้มีการจัดส่งอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นอื่นๆในชีวิต และเพิ่งจะอนุญาตให้มีการลำเลียงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในขอบเขตที่จำกัดจากเขตแดนอียิปต์เข้าสู่เขตแดนทางตอนใต้ของกาซา
ด้วยความที่ฝ่ายรัฐอิสราเอลมุ่งมั่นที่จะขจัดขบวนการฮามาสให้สิ้นซาก จึงเริ่มปฏิบัติการทางภาคพื้นดิน ด้วยการเคลื่อนกำลังทหารราบ และหน่วยยานเกราะเข้าไปในดินแดนกาซา เพื่อเก็บและทำลายล้างฝ่ายขบวนการฮามาสเป็นรายตัวรายบุคคล (ในทำนองแค้นนี้ต้องชำระ) โดยคาดหมายว่าจะไม่ให้ขบวนการฮามาสได้ผุดได้เกิดขึ้นมาอีกเลยในโลกกว้างนี้
การถูกฮามาสโจมตีแบบสายฟ้าแลบครั้งนี้ ฝ่ายอิสราเอลรู้สึกขายหน้า เพราะมัวหลงระเริงในพละกำลังและความเชื่อมั่นในระบบข่าวกรองสืบราชการลับของตนเอง และประเมินค่าของฝ่ายขบวนการฮามาสต่ำกว่าที่เป็นจริง ในขณะที่ฝ่ายขบวนการฮามาสได้แอบเตรียมการมาอย่างรัดกุม ยาวนาน และรักษาความลับไว้ได้ โดยได้เลือกโจมตีในช่วงเวลาของเดือนตุลาคม เพราะเห็นว่าเหมาะสมด้วยประการต่างๆ เช่น สังคมอิสราเอลอยู่ในระหว่างการขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายเสรีนิยม ในเรื่องที่การที่ฝ่ายรัฐบาลอนุรักษ์นิยมประสงค์ที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายที่จะเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของฝ่ายตุลาการได้ไปจนถึงการที่ฝ่ายประเทศอาหรับต่างๆ ได้เริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝ่ายอิสราเอล เสมือนเป็นการทอดทิ้ง ตีจาก และไม่ค้ำจุนฝ่ายปาเลสไตน์อีกต่อไป
การเปิดฉากการโจมตีดังกล่าวของฝ่ายฮามาส จึงเป็นการส่งสัญญาณถ่วงรั้งมิให้บรรดาประเทศอาหรับไปมั่วสุมกับฝ่ายอิสราเอลโดยไม่คำนึงถึงฝ่ายปาเลสไตน์ อีกทั้งการโจมตีดังกล่าวเป็นการแสดงขีดความสามารถของฝ่ายฮามาส และเป็นการพิสูจน์ว่าป้อมปราการป้องกันประเทศของฝ่ายอิสราเอลนั้น ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่ชาวโลกให้ราคา และคาดคิดกันไว้
ในภาพรวม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของการขัดแย้ง ต่อกร อีกครั้งหนึ่งระหว่างฝ่ายฮามาสและฝ่ายอิสราเอล ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่อย่างไร โดยชาวโลกจะต้องไม่ลืมและมาทบทวนกันว่า บ่อเหตุ หรือที่ไปที่มาของการจงเกลียดจงชังกันระหว่างชาวมุสลิมโดยทั่วไปของชาวอาหรับเป็นกลุ่มเฉพาะ กับชาวยิวทั่วโลก หรือของชาวอาหรับปาเลสไตน์กับชาวยิวในรัฐอิสราเอลนั้น ก็ต้องกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1948-49 (พ.ศ. 2491-92) ที่ฝ่ายยุโรปตะวันตก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ร่วมกันจัดตั้งประเทศอิสราเอล ซึ่งในการนี้ได้มีการขับไล่ชาวอาหรับปาเลสไตน์ออกไปจากพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน กลายเป็นผู้ไร้ถิ่นฐาน เป็นผู้อพยพลี้ภัย และไม่มีดินแดนที่เรียกว่า ประเทศ เป็นของตนเองจนทุกวันนี้
ขณะเดียวกัน ฝ่ายอิสราเอลก็ได้มีอำนาจเหนือเขตปกครองตนเองของฝ่ายอาหรับปาเลสไตน์ ทั้งที่เขตเวสต์แบงก์ (เขตด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน) และเขตฉนวนกาซา(ติดกับฝั่งทะเลตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) อีกทั้งฝ่ายอิสราเอลยังมีการค่อยๆ เขยิบเข้าไปยึดครองพื้นที่ในเวสต์แบงก์ที่เรียกกันว่า หุบเขาจอร์แดน (Jordan Valley) เพื่อให้ชาวยิวได้เข้าไปตั้งบ้านเรือน และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ฝ่ายอิสราเอลก็ได้ประกาศโยกย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทอาวีฟ ไปที่กรุงเยรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของ 3 ศาสนา คือ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ถือเป็นการทำแบบไม่แยแสต่อความปรารถนาและความรู้สึกของฝ่ายอาหรับปาเลสไตน์ที่ต้องการให้กรุงเยรูซาเลม เป็นเมืองหลวงของฝ่ายตนด้วย
การดำเนินการต่างๆ ของฝ่ายอิสราเอลนี้โดยสรุป กล่าวได้ว่าเป็นการใช้กำลังครอบงำและลิดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของฝ่ายอาหรับปาเลสไตน์ และไม่มีความกระตือรือร้นใดๆในเรื่องการจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและความไม่ทัดเทียมกันระหว่างฝ่ายยิว กับฝ่ายอาหรับปาเลสไตน์ที่เรียกว่า การแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐ (Two State Solution) ซึ่งเคยได้มีการปรึกษาหารือกันมาทั้งในและนอกเวทีองค์การสหประชาชาติ และนอกเวทีองค์การสหประชาชาติ (นั้นมักจะมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่) ซึ่งล่าสุดชาวโลกโดยทั่วๆ ไปนอกเหนือจากการเรียกร้องให้มีการยุติการสู้รบ (Ceasefire) คู่ขนานกับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแล้ว ก็ให้กลับไปเริ่มพิจารณาในเรื่องการจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์
กลับมาที่การดำเนินการของฝ่ายอิสราเอลด้วยการใช้กำลังทางอากาศ การปิดพรมแดน ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดอาหาร โดยรวมแล้ว ชาวโลกต่างก็เห็นว่ามิใช่เป็นการดำเนินการที่ไร้มนุษยธรรมเท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำที่เข้าทำนอง อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกด้วย
นอกจากนั้น อิสราเอลก็ยังต้องเผชิญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมุสลิมทั่วโลก เท่ากับว่าเป็นการสร้างศัตรูที่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำอิสราเอลจะมีสติได้หรือไม่ และในการนี้สติก็ต้องกลับมาที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลที่สำคัญที่สุด ซึ่งขณะเดียวกัน ฝ่ายอาหรับและฝ่ายมุสลิมโดยทั่วไป และโดยเฉพาะฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงทั้งหลายก็ต้องเลิกคิดอ่านที่จะทำลายล้างฝ่ายยิวอิสราเอล และทุกฝ่ายก็ต้องคิดว่าเป็นมนุษย์ร่วมโลกซึ่งกันและกัน จึงจะเริ่มต้นการนำไปสู่สันติภาพอย่างถาวร ชาวโลกจะได้ไม่ต้องมานั่งใจหายใจคว่ำกับปัญหาตะวันออกกลางอีกต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี