อาหารไทย มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดที่น่าหลงใหล
เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่มีศักยภาพสูงมากของประเทศไทย
โจทย์ที่น่าสนใจ คือ จะบริหารจัดการอย่างไร ให้อาหารไทยแพร่หลายไปมากกว่าเดิม และที่สำคัญ มีมูลค่า มีคุณค่า และเกิดผลประโยชน์แก่เศรษฐกิจไทย กระจายออกไปสู่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยให้กว้างขวางที่สุดด้วย?
ปรากฏว่า เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟชื่อดังระดับโลก เป็นหนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ สาขาอาหาร ได้เขียนบทความที่น่าสนใจมาก
ว่าด้วยเรื่อง “เชฟชุมพล” กับครัวไทยสู่ครัวโลกเฟส2”
อธิบายถึงแผนยุทธศาสตร์การนำพาอาหารไทยสู่ครัวโลก โดยจำแนกแนวทาง โครงการ และมาตรการที่น่าสนใจหลายประการ เผยแพร่ผ่านเพจ Chef Chumpol Official
สมควรที่รัฐบาลปัจจุบัน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันพิจารณา หาทางช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง ไม่เอามาเป็นเรื่องการเมืองสกัดกันไป-มา
เนื้อหาที่เชฟชุมพลนำเสนอ มีรายละเอียดแผนงานที่น่าสนใจโดยสรุป ดังนี้
(1) 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย
ภารกิจแรก คือ การสร้างคน หรือเชฟอาหารไทย
เพราะเชฟอาหารไทย คือคนที่จะมาทำหน้าที่เผยแพร่อาหารไทยได้ดีที่สุด
ยิ่งมีเชฟมากเท่าไหร่ อาหารไทยก็เผยแพร่ไปได้ไกลมากเท่านั้น
เชฟชุมพลตั้งเป้าว่า จะสร้างเชฟอาหารไทยให้ได้อย่างน้อย หมู่บ้านละ 1 คน
ซึ่งประเทศไทยมี 75,086 หมู่บ้าน ก็จะมีเชฟอาหารไทย 75,086 คนภายใน 4 ปี
โดยจะทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการฝึกอบรม
(2) ร้านอาหารเชฟชุมชน
เมื่อสร้างคน ก็ต้องสร้างงานรองรับ
จึงนำมาสู่การสนับสนุนให้เกิดร้านอาหารชุมชนที่มีมาตรฐานจำนวนมาก เพื่อรองรับเชฟอาหารไทยกว่า 7 หมื่นคน โดยรัฐจะเข้าไปช่วยสนับสนุนด้านการเงิน มาตรฐานความสะอาด รวมถึงการทำแบรนด์ประชาสัมพันธ์
เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน
ใช้ร้านอาหารเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในชุมชน
และช่วยขายสินค้า OTOP ไปในตัวอีกด้วย
(3) Thai Food Intelligent Center (TFIC)
เมื่อสร้างคน สร้างงานแล้ว เราต้องสร้างอุตสาหกรรมขนาดย่อมในชุมชนด้วย
โดยเชฟชุมพลได้เสนอให้ตั้ง Thai Food Intelligent Center (TFIC) หรือ ศูนย์อัจฉริยะอาหารไทย ในทุกชุมชน
เพื่อเป็นแหล่งรวมข้อมูลด้านอาหารของชุมชน และนำเอางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
ไม่ว่าจะงานวิจัยด้านการแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบมาประยุกต์ใช้จริงในชุมชน
นอกจากนี้ TFIC ยังเป็น “โรงงานนวัตกรรมอาหารภูมิภาคของชุมชน” ทำหน้าที่เป็น OEM ประจำชุมชน
ให้ชาวบ้านที่มีสินค้าดีๆ แล้วอยากผลิตขายทีละมากๆ แต่ไม่มีศักยภาพพอที่จะผลิตในระดับอุตสาหกรรม ก็มาใช้โรงงานของ TFIC ผลิตให้
อาหารประจำชุมชนก็จะสามารถขยายศักยภาพการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
(4) Best Thai Guide ร้านดีต้องบอกต่อ
ในสมัยที่เราทำครัวไทยสู่ครัวโลกยุคไทยรักไทย เรามีตรา Thai Select เพื่อรับรองร้านอาหารไทยที่มีคุณภาพ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตรา Thai Select ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักในปัจจุบัน
เชฟชุมพลจึงเสนอให้รีแบรนด์ตรา Thai Select ใหม่ เป็นตรา “Best Thai Guide”
เพื่อกระตุ้นความสนใจ สร้างแบรนด์ใหม่ให้กับสินค้าและร้านอาหารไทยที่ผ่านการรับรองคุณภาพว่าอร่อย และนำร้านอาหารหรือสินค้าที่ได้รับตรา Best Thai Guide ไปใส่ในคอนเทนต์อาหารต่างๆ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์
(5) Thai Food World Congress
เรามีร้านอาหารไทยที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกมากกว่า 20,000-30,000 ร้าน
โดยร้านอาหารไทยในต่างประเทศเหล่านี้ คือจุดเผยแพร่รสชาติอาหารไทยได้เป็นอย่างดี
เชฟชุมพลจึงเสนอว่า เราควรมีการรวบรวมร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
รวมไปถึงการจัดการแข่งขันระดับโลกในประเภทต่างๆ เช่น ชิงแชมป์โลกด้านแกงไทย ชิงแชมป์โลกด้านต้มยำ ผ่าน Thai Food World Congress เพื่อทำให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น และสร้างการตื่นตัวให้กับร้านอาหารไทยทั่วโลก
(6) Thai Food Channel
เราจำเป็นต้องมีช่องทางสื่อเป็นของตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียหรือช่องทาง
นำเสนออาหารไทยให้โลกได้รับรู้ โดยเราจะเชิญบรรดาอินฟลูเอนเซอร์จากทั่วโลก มาทำคอนเทนต์ด้านอาหารไทย นำเสนอว่าเรามีดีอะไร วัตถุดิบเรามาจากชีวิตของเราสัมพันธ์กันไหม อาหารกับวิถียังไง
เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารไทยและวัตถุดิบไทย
รวมไปถึงการสร้างซีรี่ส์หรือสารคดีแบบ Netflix ที่ภาพสวยๆ มาช่วยกันประชาสัมพันธ์อาหารไทย วัตถุดิบไทยและร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ
(7) Thai Soft Power World Tour
เราต้องออกไปโรดโชว์ที่ต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่อาหารไทยให้มากขึ้น
แต่เราไปทั้งทีจะไปแบบธรรมดาไม่ได้ ต้องจัดเป็นโปรแกรมใหญ่ที่สร้างความสนใจระดับโลก เลยเสนอให้จัด Thai Soft Power World Tour
กระทรวงต่างประเทศจะพาเชฟอาหารไทย ร้านอาหารไทย วัตถุดิบไทยไปโชว์ในงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการพูดคุยทางธุรกิจด้านอาหารไทย สนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบไทย สนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น
โดยเราจะจัดทัวร์แบบคณะใหญ่ไปกันให้ครบทุกทวีปเพื่อบอกให้โลกรู้ว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลกกลับมาแล้ว”
(8) กองทุนซอฟต์ พาวเวอร์ไทย
เชฟชุมพลเสนอให้ตั้งกองทุนซอฟต์ พาวเวอร์ไทย เพื่อสนับสนุนซอฟต์ พาวเวอร์
ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ให้ทุนครอบคลุมครบทั้ง 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
โดยกองทุนจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การร่วมทุนกับเอกชน ให้เงินกู้ระยะยาว รวมไปถึง เงินกู้ระยะสั้นแบบรายวัน เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนไปได้โดยไม่มีปัญหาด้านเงินทุน
สรุป
ข้อเขียนข้างต้น ทั้ง 8 ข้อ นำเสนอเป็นรูปธรรมจับต้องได้ น่าสนใจมาก
ครอบคลุมตั้งแต่สร้างคน สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม สร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ใช้กลยุทธ์บุกตลาดโลก
และปลุกศักยภาพท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
ตอบโจทย์ข้างต้นได้พอเหมาะพอเจาะ หากใครมีข้อเสนอไอเดียเพิ่มเติม หรือจะปรับแก้อะไร ก็ควรรับฟัง นำมาประยุกต์ ผสมผสาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติส่วนรวมเช่นนี้
อย่าให้ผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเฉพาะพรรค ทำลายโอกาสของประเทศชาติส่วนรวม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี