ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ก็เดินทางอย่างมากมาย ทั้งการไปดูงานภายในประเทศ และการไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศ คู่ขนานกับการตัดสินใจในเรื่องนโยบายและมาตรการประชานิยม เช่น การลดหนี้สิน และลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้าและค่าเดินทางประจำวัน ดังที่ทราบกันดีอยู่ แถมยังยืนหยัดที่จะล้มลุกคลุกคลานต่อไปกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต
ในการเดินทางไปนอกประเทศ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็มักจะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการลงทุน สลับกับการแสดงความห่วงใยในเรื่องแรงงานไทยที่ประเทศอิสราเอล แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีข่าวคราวที่เป็นเนื้อเป็นหนัง เกี่ยวกับความเป็นไปในรายละเอียดของการประชุมระหว่างประเทศ 2 เวทีด้วยกัน นั่นคือที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และที่ประชุมเอเปก นครซานฟรานซิสโก
ประเด็นคือ สังคมไทยย่อมควรได้รับรู้ว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ไปมีถ้อยแถลง และแสดงฝีไม้ลายมืออย่างไร และมีอะไรติดมือกลับมาเล่าสู่กันฟังและเพื่อมาดำเนินการตามคำมั่นสัญญา ข้อผูกมัด หรือพันธกรณี ที่เป็นมติของที่ประชุม ไม่ว่าจะที่นครนิวยอร์กหรือนครซานฟรานซิสโกก็ตาม
ในกรณีของการประชุมสุดยอดของผู้นำเอเปกเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ ซึ่งมี 16 ย่อหน้า (paragraph) ที่ครอบคลุมแทบจะ
ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องและการดำรงชีวิตของชาวเอเปกใน 2 ฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก แถลงการณ์ดังกล่าวได้ระบุเรื่องต่างๆ เช่น อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน นวัตกรรม การเชื่อมโยง การคมนาคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทุกคนเข้าร่วมและรับประโยชน์ โดยไม่ถูกตกหล่น ความมั่นคงทางด้านอาหาร การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและทดแทน ชนกลุ่มน้อย และสถานะของสตรีเพศ เป็นต้น
นอกจากนั้นที่ประชุมก็ยังตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG-เศรษฐกิจเทคโนโลยีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งประเทศไทยได้ริเริ่มไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2565 ขณะที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ซึ่งในการนี้ก็มีข้อสังเกตว่านายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มิได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับสาระเนื้อหาของถ้อยแถลงดังกล่าว อีกทั้งก็มิได้ข่าวคราวออกมาว่า คณะรัฐมนตรีได้มีการรับทราบถ้อยแถลงดังกล่าวอย่างไรหรือไม่ และที่แน่นอนฝ่ายรัฐบาลก็ยังมิได้นำความเรื่องเอเปกนี้รายงานต่อรัฐสภา
จึงเท่ากับว่านายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยังมิได้ทำการบ้าน ที่จะส่งให้กับสังคมไทยว่า ได้ไปรับฟัง ไปแสดงท่าที ไปร่วมคิดอ่าน และร่วมจัดทำแถลงการณ์ดังกล่าวมาอย่างใด? และเมื่อกลับมาที่ประเทศไทยแล้วจะดำเนินการขับเคลื่อนคำมั่นสัญญา และพันธกรณีต่างๆ อย่างไร? ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการในเรื่องบุคลากรในระดับต่างๆ เพื่อรองรับภารกิจ การค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถไปจนถึงการมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพ และการจัดทำกรอบตารางเวลาของการทำภารกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ ซึ่งหากไม่รีบเร่งดำเนินการปรึกษาหารือ และขับเคลื่อนสั่งการ ก็คงไม่พ้นที่จะมีเสียงสะท้อนออกมาว่า “ก็แค่ไปร่วมประชุมเพื่อให้เป็นข่าวเท่านั้น” หรือบ้างก็จะพูดกันว่า “นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน คงไม่ค่อยเข้าใจประเด็นปัญหาของเรื่องราวต่างๆ และฉะนั้นก็ไม่ได้ตระหนักว่า ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไร เพื่อให้มีความทันสมัย มีความน่าเชื่อถือและทำมาค้าขายกับต่างประเทศได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนระบบความคิดอ่าน (mindset) ว่าการบริหารราชการประเทศนั้น มิใช่เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากแต่ต้องมองไปข้างหน้าในระยะปานกลาง และระยะไกลพร้อมๆ กันด้วย ฉะนั้น ผู้นำจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของประเทศจุดอ่อนจุดแข็ง และความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสม ทันสมัย สร้างงานและสร้างรายได้การมัวแต่หมกมุ่นสาละวนอยู่กับเรื่องประชานิยมก็รังแต่จะเหนี่ยวรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และเป็นการทำงานแบบผิวเผินแบบขอไปที วันๆ หนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะอยู่ในวิสัยของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ผ่านกิจการงานธุรกิจระดับชาติมาอย่างโชกโชนแล้ว
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2567 ที่ประเทศเปรู คำถามก็คือ ภายในระยะเวลาประมาณ 11-12 เดือนข้างหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาลไทยจะมีผลงานอะไรที่จะไปบอกกล่าวกับเพื่อนสมาชิกเอเปกว่า ได้จัดทำ จัดการเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์นครซานฟรานซิสโกไปได้อย่างสัมฤทธิผลต่างๆ แล้ว
และเพื่อที่จะไปถึงจุดนั้นได้ก็เท่ากับว่านายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เศรษฐาทวีสิน ต้องทำการบ้านและต้องส่งการบ้านต่างๆ นั้นให้กับปวงชนชาวไทยตั้งแต่บัดนี้ไป เป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ และการเป็นผู้นำประเทศชั้นดี และคำนึงอยู่ตลอดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับหน้าตาและความเคารพเชื่อถือของประเทศในสายตาของประชาคมโลก อีกทั้งชาวไทยก็อยากจะมีผู้นำประเทศที่เขาต่างมีความภูมิอกภูมิใจและได้รับผลประโยชน์หรือการตอบสนอง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี