พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่พลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งปี 2565 ได้ สส.มากกว่าทุกพรรคเข้าสภาและในขณะที่พรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลเตรียมการให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ทางการพม่าได้สั่งระดมพลป้องกันชายแดน และออกแถลงการณ์เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ชายไทย-พม่าให้คอยติดตามความเคลื่อนไหวและ “ระวังภัยอันตรายจากพรรคก้าวไกล”
การเตือนประชาชนให้ระวัง “ภัยอันตรายจากพรรคก้าวไกล” เกิดจากการที่พรรคก้าวไกล ถือฝักถือฝ่ายและสนับสนุนฝ่ายต่อต้านที่ซีไอเอ จัดตั้งขึ้นมาอย่างออกหน้า โดยไม่ได้ศึกษาบริบทการเมืองสังคมในพม่าว่ามีความซับซ้อนอย่างไร รัฐบาลทหารพม่า จึงสงสัยว่าพรรคก้าวไกล ถูกวอชิงตันสั่งการให้ต่อต้านพลเอกมิน อ่อง หล่าย สนับสนุนฝ่ายนางออง ซาน ซูจี หรือไม่ และแล้วก็ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกล เป็นลูกไล่อเมริกา เมื่อพรรคก้าวไกลจัดสัมมนา“3 ปีหลังรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตยเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย”
การจัดสัมมนาที่ขาดวุฒิภาวะไร้มารยาททางการทูตครั้งนี้ มีขึ้นวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 วิทยากรประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือ รัฐบาลเงาเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมา
การจัดสัมมนาอย่างไร้วุฒิภาวะและไม่มีมารยาททางการทูต เพราะว่าเป็นการจัดสัมมนาที่วิกฤตการเมืองในพม่าตัดหน้า สปป.ลาว ซึ่งประธานหมุนเวียนอาเซียนผู้มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยให้ทุกฝ่ายในพม่าปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนรวมทั้งพลเอกมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 โดยฉันทามติข้อที่ 1 บัญญัติว่า “ให้ทุกฝ่ายในพม่าหยุดความรุนแรงในทันทีและแสวงหาแนวทางเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยสันติวิธี”
พรรคก้าวไกล ซึ่งงมงายอยู่กับปฏิบัติการข่าวหรือ โฆษณาชวนเชื่อ ที่วอชิงตันใช้เป็นอาวุธสำคัญมาตั้งแต่สงครามเย็นอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ค้นคว้าหาความจริงว่า ใครฝ่ายไหน เป็นผู้ละเมิดฉันทามติ 5 ข้อ อาเซียน หากพรรคก้าวไกลเงยหน้าขึ้นมาจากขยะ IO อเมริกา จะพบว่าหลังจากเสร็จการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษในกรุงจากาตาร์ วันที่ 26 เมษายน 2564 พลเอกมิน อ่อง หล่าย กลับมาถึงเนปิดอว์ เมืองหลวงพม่า และประกาศหยุดยิง (ฝ่ายเดียว) ทันที จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
แต่ไม่ถึงสิบวันหลังจากรัฐบาลทหารพม่าออกคำสั่งหยุดยิง วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นางออง ซานซู จี ออกแถลงการณ์ปฏิวัติประชาชนทั่วประเทศ นางซู จี เรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลทั่วประเทศพม่า หยิบฉวยอาวุธ ปืน ดาบ มีดพร้า ขวาน เท่าที่หาขึ้นมาได้ต่อสู้กับกองทัพพม่า ตั้งแต่วันที่นางออง ซาน ซู จี ประกาศปฏิวัติประชาชนฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจซึ่งนำโดยนักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีก็เปลี่ยนวิธีการต่อต้านแบบอารยะขัดขืนมาเป็นต่อต้านทหารโดยการใช้อาวุธ
และความรุนแรงที่พัฒนาจากชาวบ้านธรรมดามาเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Force=PDF) ที่มีรายงานว่าซีไอเอจัดตั้งขึ้นมาพร้อมกับการจัดรัฐบาลเงาพม่าที่เรียกว่า “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “เอ็นยูจี” ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ปฐมบทของการละเมิดฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และทำให้ความขัดแย้งในพม่ารุนแรงมาจนวันนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่นางซู จี ประกาศปฏิวัติประชาชน จัดตั้งเอ็นยูจี และ พีดีเอฟขึ้นมาสหรัฐและประเทศตะวันตกโหมปั่นกระแสความสำเร็จของพีดีเอฟ และเอ็นยูจี สหรัฐใช้อิทธิพลบารมีกดดันให้ประธานหมุนเวียนอาเซียนที่ผ่านมารับรองเอ็นยูจีเป็นรัฐบาลตามกฎหมายและกีดกันไม่ให้พลเอกมิน อ่อง หล่ายและรัฐบาลพม่ามีบทบาทใดๆ ในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่า ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย สปป.ลาว และประเทศไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมกับพม่ามาอย่างยาวนาน มีความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน รัฐบาลต่อรัฐบาลและกองทัพต่อกองทัพกันตลอดมา ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจบริบทสังคมการเมืองพม่าดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย จีนและสปป.ลาว ประเทศเหล่านี้จึงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในพม่าไว้อย่างมั่นคง
สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยร่วมมือกับ สปป.ลาว จีน และอินเดีย จัดให้มีการประชุมเสวนากับทุกฝ่ายในความขัดแย้งพม่า นอกกรอบอาเซียน พลเอก มิน อ่อง หล่าย และตัวแทนรัฐบาลทหารพม่า ผู้แทนเอ็นยูจี พีดีเอฟ ตลอดถึงผู้แทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ได้รับเชิญให้มาร่วมวงเสวนาในโรงแรมที่พัทยาและในกรุงเทพฯ
นั่นคือการทูตเงียบ (Quiet Diplomacy) ของไทยที่มีวุฒิภาวะและมารยาททางการทูต ซึ่งยึดมั่นในหลักการอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งและกัน โดยการเชิญทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียมาร่วมเสวนา รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านพม่าตลอดสมาชิกสมาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มาร่วมเสวนาปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
การเสวนาประเด็นขัดแย้งในพม่าอย่างไม่เป็นทางการทำให้มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่าได้ระดับหนึ่ง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ สปป.ลาว รับตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียน วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมาความพยายามของอาเซียนคืบหน้าไปมาก ตั้งแต่อาทิตย์แรกที่รับตำแหน่งทูตพิเศษอาเซียนในกิจการพม่า นายอลุนแก้ว กิตติคุณ นักการทูตมือฉมังของ สปป.ลาว เดินทางไปพม่าได้พบปะเจรจาหาหรือกับพลเอกมิน อ่อง หล่ายและคณะผู้บริหารแห่งรัฐสหภาพพม่า และความคืบหน้าที่สำคัญคือทูตพิเศษอาเซียนได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเจ็ดกลุ่ม นอกจากนั้นนายอลุนแก้ว ยังได้ร่วมประชุมพบปะเจรจากับตัวแทน 40 พรรคการเมืองที่ลงทะเบียนไว้กับกรรมการเลือกตั้งพม่า ที่รับปากว่าจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
ผลที่ทูตพิเศษอาเซียนได้พบปะเจรจากับหลายฝ่ายในกรุงเนปิดอว์ทำให้รัฐบาลทหารพม่าส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 28-29 มกราคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นความคืบหน้าอย่างมีนัยเพราะคณะผู้บริหารรัฐพม่าส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นครั้งแรกในรอบสามปี
จะเห็นได้ว่าการทำงานการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะและการทูตอย่างมีมารยาทของไทย และ สปป.ลาวที่ผ่านมาส่งผลให้การแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่าคืบหน้าอย่างมีนัย นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่า การจัดสัมมนาของพรรคก้าวไกลเป็นแผนการขัดขวางการทำงานอาเซียนในยุคที่ สปป.ลาว เป็นประธานไม่ให้คืบหน้าไปมากกว่านี้หรือไม่ วอชิงตันสั่งการให้พรรคก้าวไกลขัดแข้งปัดขา สปป.ลาวหรือไม่ เพราะทั้งก้าวไกลและสหรัฐอเมริการู้อยู่เต็มอกว่าปักกิ่งกับเวียงจันทน์แนบแน่นเป็นทองแผ่นเดียวกันอย่างไร
วอชิงตันซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดสงครามกลางเมืองในสหภาพพม่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาและเมื่อเห็นว่า สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนที่มีปักกิ่งกับกรุงเทพฯเป็นลมใต้ปีกผลักดันให้อาเซียนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่า มีความคืบหน้าตามลำดับ วอชิงตัน คงเห็นว่า พรรคการเมืองในประเทศไทยมีเพียงก้าวไกลเท่านั้นที่ขัดขวางความก้าวหน้า สปป.ลาวในฐานะประธานอาเซียนได้ และเล่ห์กลของวอชิงตันก็สัมฤทธิผลออกมาเมื่อสถานทูตพม่าส่งหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศไทย คัดค้านการจัดสัมมนาของพรรคก้าวไกล
หนังสือลงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 มีเนื้อความระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อรัฐสภาไทยที่จะจัดสัมมนาดังกล่าว โดยระบุว่า จะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเมียนมากับไทย และขอให้รัฐบาลไทยแจ้งให้รัฐสภาทราบถึงความกังวลของรัฐบาลเมียนมา และไม่ให้จัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจขัดขวางความสัมพันธ์อันดีในอนาคต
หนังสือคัดค้านของสถานทูตพม่า อาจสะกิดต่อมจิตสำนึก นายปานปรีย์ พหิทธานุกรรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า การไปกล่าวปาฐกถาในวงสัมมนาพรรคก้าวไกลจะสร้างความเสียหายให้ต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร นายปานปรีย์ถึงได้ยกเลิกคำปาฐกถาทั้งๆ ที่รับปากไว้ก่อนหน้าแล้ว ส่วนพรรคก้าวไกลที่ไร้วุฒิภาวะและขาดจิตสำนึกในพิธีการทูตคงกระหยิ่มใจว่า จัดสัมมนารับใช้ได้สำเร็จแล้ว
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี