ปฏิบัติการข่าวตะวันตกสร้างความฮือฮา และงวยงง สงสัยในประชาคมอาเซียน และในประเทศไทยว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้พบกับผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าจริงหรือไม่ และนายทักษิณมีหน้าที่อะไรในความพยายามแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่าของอาเซียน
สำนักข่าว Salween Press ของกลุ่มเอ็นจีโอ อเมริกันเป็นต้นต่อข่าว และได้รับการขยายความโดยสำนักข่าววีโอเอ สื่อโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้พบปะกับผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) หารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือวิกฤตของเมียนมา นอกจาก KNUแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่อยู่ระหว่างการพักโทษได้พบกับกลุ่ม RCSS หรือ สภาฟื้นฟูรัฐฉาน และพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง KNPP นอกจากนั้นนายทักษิณได้พบกับตัวแทนบางคนจาก KNO ขององค์กรแห่งชาติคะฉิ่น และ NUG ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน
แนวหน้าสอบถามไปยัง#สภาฟื้นฟูรัฐฉาน ได้รับการยืนยันว่านายทักษิณได้พบกับตัวแทน RCSS และ ชาติพันธุ์บางกลุ่มจริง “เรากำลังประชุมกันว่าจะรับข้อเสนอทักษิณหรือไม่” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ RCSS กล่าวแต่ไม่ยอมเปิดว่าข้อเสนอนายทักษิณคืออะไรและทำไมเพิ่งประชุมกัน
วันที่ 7 พ.ค. ด้านแหล่งข่าวในกองทัพปลดปล่อยคะยา ตอบคำถามแต่เพียงว่า “ฝ่ายการเมืองของเราได้พบกับนักการเมืองระดับสูงของไทยเมื่ออาทิตย์สองอาทิตย์ก่อน ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าพูดกันเรื่องอะไร”
และเมื่อสอบถามไปยังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในกองกำลัง BGF ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่พม่าในการบริหารเมืองเมียวดีที่มีข่าวว่า กะเหรี่ยง KNU ยึดครองได้เมื่อเดือนเมษายน ได้รับคำตอบว่าเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าได้พบปะเจรจากับนายทักษิณ “พี่จำไม่ได้เหรอ ตอนที่มีข่าวว่าฝ่ายต่อต้านโจมตีเมียวดีผมยังเดินเล่นอยู่ตรงนี้เลย..”
ต่อมา เมื่อได้ยิน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การพบปะระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากับนายทักษิณ “อาจเป็นไปได้เพราะท่านเป็นคนกว้างขวาง แต่ท่านทำเป็นส่วนตัว..ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล” เมื่อรัฐมนตรีที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเด็กคาถาของนักโทษอยู่ระหว่างการพักโทษพูดว่า เป็นไปได้ จึงอนุมานได้ว่า ข่าวที่สร้างความฮือฮาและงวยงงสงสัย #เป็นปฏิบัติการข่าวของซีไอเอ ที่สร้างกระแสให้เห็นว่า ผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมายเหนือรัฐบาลไทยสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
“ข่าวนี้ถูกปั้นขึ้นมาเพื่อทำลายความก้าวหน้าของอาเซียน” นักวิชาการด้านความมั่นคงผู้คุ้นเคยกับสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กล่าวกับแนวหน้าและอธิบายว่า อาเซียนกำลังคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่า ที่ทำให้ท่าทีของรัฐบาลทหารผ่อนปรนมากขึ้น หลังจาก ท่านอลุนแก้ว กิติคุณทูตพิเศษอาเซียนจาก สปป.ลาว ได้พบปะเจรจากับ พลเอกมิน อ่อง หล่ายและผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายฝ่ายตลอด ถึงได้ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ ในพม่า ตั้งแต่นั้นมาผู้แทนรัฐบาลทหารพม่าได้เข้าร่วมประชุมในวาระต่างๆ ของอาเซียนหลายครั้งจนเป็นที่มาของมติอาเซียนมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพบปะเจรจากับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในพม่า และประเทศไทยได้เริ่มเปิดระเบียงมนุษยธรรม ส่งความช่วยเหลือไปให้กลุ่มต่างๆ ในพม่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“ส่วนเรื่องการพบปะพูดจากับทุกฝ่ายเพื่อแสวงหาข้อยุติโดยสันติวิธีนั้นรองนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาและปฏิบัติหน้างาน..แต่รองนายกฯถูกปลดจากตำแหน่งทุกอย่างเลยชะงัก..” แหล่งข่าวกล่าวและเสริมว่า “การปั่นกระแสทักษิณเข้าพัวพันกับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแผนการทำลายความคืบหน้าของอาเซียน” : สาเหตุที่ต้องขัดขวางความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองพม่าเพราะมหาอำนาจตะวันตกที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารต้องการให้สงครามกลางเมืองพม่ายืดเยื้อต่อไป : ผู้เขียน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ทำการค้ากับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเคยให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจาก Exim Bank 4,600 ล้านบาท เพื่อนำเงินกู้จำนวนนั้นมาซื้อสินค้า และเครื่องมือสื่อสารกับบริษัทครอบครัวผู้นำในยุคนั้นจะพัวพันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ที่สำคัญผู้ถูกปฏิบัติการข่าวอ้างถึงคนนั้น เป็นคนสั่งให้ยกเลิกใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐกันชน : ในยุคสงครามเย็นประเทศไทยใช้กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยเป็นรัฐกันชนป้องกันภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ รัฐบาลทักษิณสั่งยกเลิกรัฐใช้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐกันชนในทศวรรษ 2544 : ผู้เขียน
มีคำถามว่า ทำไมผู้ถูกนำชื่อมาใช้เพื่อสร้างกระแสไม่โวยวาย “มันเป็น win winด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้ถูกอ้างชื่อก็มีแสงเพิ่มว่าเห็นไหม? ไม่เพียงแต่นักการเมือง/ข้าราชการไทยก้มหัวให้ แม้แต่ทุกฝ่ายในพม่า ยังมาซูฮก ฝ่ายปฏิบัติการข่าวซีไอเอก็ได้ใช้ชื่อนายใหญ่สร้างเครดิตให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในสายตาฝรั่ง”
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี