ข้าวสารเก่า 10 ปี จริงหรือไม่? จัดฉากหรือไม่?
ข้าวลอตนี้ มีอะฟลาท็อกซิน หรือไม่?
นี่เป็นคำถามพื้นๆ ที่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่เรื่องความเชื่อ ความรู้สึก หรือความเชื่อมั่นที่จะต้องกินโชว์ หรือด้วยวิธีการตลาดอื่นใด
1. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ออกมานำเสนอหลักฐานใหม่ ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาว่า“พวกคุณไม่ได้กินข้าว 10 ปีจริง”
ระบุว่า
“ผมแปลกใจมาก ทำไมนายภูมิธรรม จึงสั่งยุติการระบายข้าว ลอตสุดท้าย 15,000 ตันในช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามระบายเป็นครั้งที่ 4
ตอนหลังมีภาพการกินข้าวโชว์ ที่จัดถึง 2 ครั้ง คือ กลางเดือนมีนาคม และต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สิ่งที่เป็นคำถามคาใจผม คือ
1.ทำไมเขาถึงกล้าลงทุนกินข้าวสิบปี?? เพราะข้าวแค่สองสามปีก็มีกลิ่นเหม็นหืนแล้ว
2.ที่แปลกใจอีกทำไมกองข้าวดูดี และพลาสติกสีฟ้าที่ล้อมด้านล่างดูดี ปกติแล้วกองข้าวสิบปี ลักษณะของกองข้าว มันต้องยุบตัว หรือเอน หรือล้ม เพราะการกดทับและข้าวเริ่มเปื่อย
เรื่องเริ่มแดงขึ้นมา เมื่อมีเอกสาร สตง. เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล ที่ระบุในการตรวจสินค้าคงคลัง ของอคส. ระบุชัดเจนว่า การตรวจทั้งของเดือนกันยายน 2566 และก่อนหน้านั้น 2565
พบว่า (รายงานในเดือนมีนาคม 2567) “สินค้าดังกล่าวไม่สามารถ อยู่ในสภาพที่ตรวจนับได้ โดยสภาพของสินค้า เป็นข้าวที่เปียกน้ำและข้าวกองล้ม ซึ่งกิจการไม่สามารถตรวจนับ และรายงานผลการตรวจนับของสินค้าคงเหลือ”
ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า มีการตบแต่งกองข้าวขึ้นใหม่ เพื่อมาเล่นละครตบตาประชาชน ตามภาพที่เห็นผ่านสื่อ
แต่ผมก็ยังแปลกใจ ที่นายภูมิธรรมกล้าจัดกินข้าวสิบปีโชว์ แบบอลังการงานสร้าง
จนกระทั่งเมื่อสามวันที่ผ่านมา (คืนวันที่ 10 พ.ค.2567) ผมเห็นคลิปของผมที่แชร์ผ่านโซเชียล เรื่องเอาข้าวที่ดูเน่ามีกลิ่นเหม็น ไปเจาะโชว์ในสภา และผมได้อ่านรหัสข้าวข้างกระสอบ
ทำให้ผมจำได้ว่า ข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ทุกกระสอบ ระเบียบจะถูกข้อกำหนดว่าต้องพ่นสีโค้ดรหัสทุกกระสอบ ที่ระบุจังหวัด อำเภอ เลขสัญญาอคส.หรืออ.ต.ก. รวมทั้งปี และชนิดของข้าว
ทำให้ผมเอะใจ
ผมเลยมาไล่ดูคลิปไลฟ์สดของทีมกระทรวงพาณิชย์ และของสื่อหลายสำนักในยูทูบที่ไปร่วมทำข่าว การแสดงดราม่ากินข้าว 10 ปีของนายภูมิธรรม
และแล้วก็มาเจอ ของจริงตามที่ผมคิดไว้ “อาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอย”
นั่นคือ กระสอบข้าวที่ ทีมงานเขาปีนขึ้นไปรื้อและเจาะ ไม่มีการพิมพ์รหัส หรือโค้ดที่กระสอบ ตามระเบียบการจำนำข้าว
เท่ากับเป็นหลักฐานยืนยันว่า มีการเอาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวสิบปี มายัดไส้ ตกแต่งกอง เพื่อหลอกลวงประชาชน ฟอกขาวจำนำข้าว
และข้าวที่เจาะมากิน ไม่ใช่ข้าวสิบปีจริงทุกกระสอบ
จึงไม่แปลกใจที่พวกคุณ กล้าแสดงละครชุดนี้ กล้าจัดใหญ่และอลังการ
วันนี้ ผมกล่าวหานายภูมิธรรมว่า “พวกคุณไม่ได้กินข้าว 10 ปีจริง”
พวกคุณเล่นละครตบตาประชาชน พวกคุณจะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร?”
2. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า มีตราพบทั้งหมด ไม่มีอะไรต้องปิดบัง อยากให้คนวิจารณ์วิจารณ์ในหลักข้อเท็จจริงไม่ใช่คิดไปเองหรือสร้างนิยายในอากาศ มันไม่เป็นประโยชน์ เพราะข้าวเป็นสินทรัพย์ของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้ส่งออกจำนวนมาก อย่ามาด้อยค่าเขาโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ ก่อนจะย้ำว่าตนพร้อมพิสูจน์ความจริง
นายภูมิธรรม กล่าวต่อได้ว่า ตามขั้นตอนของการประมูลข้าว ผู้ซื้อจะต้องมาตรวจสอบคุณภาพข้าว ซึ่งเขายอมรับได้ ตนไม่ได้ย้อมแมวขาย เพราะเขาจะเอาไปขายในตลาดแอฟริกา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้าวใหม่ ก่อนจะย้อนถามว่าคนที่จะมาซื้อ เขาจะยอมซื้อข้าวเน่าหรือ ธุรกิจเขาเป็นหมื่นๆ ล้าน เขาจะมายอมให้ธุรกิจเขาพังได้อย่างไร
“ที่ออกมาพูดไม่มีความรู้ เท่ากับว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จเข้าไปในคอมพิวเตอร์ ผิดกฎหมาย แต่ผมคิดว่าเจตนาไม่มีอะไร ผมจึงไม่ได้ฟ้อง แต่ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วยังไม่หยุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องไปจัดการให้มันเหมาะสม นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่อย่าด้อยค่าข้าวของประเทศเลย ผมไม่คิดว่าจะต้องมาฟอกข้าวเน่าข้าวเสีย เพื่อมาขายให้ได้ราคาดี ถ้ามันเน่าจริงก็ต้องขายตามสภาพ จะขายเป็นปุ๋ยหรืออุตสาหกรรม ก็อยู่ที่ข้อเท็จจริง ซึ่งมันพิสูจน์ได้ไม่มีอะไรต้องปิดบัง”
นายภูมิธรรม ยังกล่าวต่อด้วยว่า เมื่อมีการประมูลต้องให้ผู้ที่ส่งออกเขามาพูดเองว่าจะเอาหรือไม่เอา หรือจะเอาไปทำอะไร
ส่วนสารอลูมิเนียมฟอสไฟด์ เป็นสารที่เขาใช้รมข้าว ไม่ใช่สารที่จะเอามาพูดกันให้เลอะเทอะ เป็นสารที่ยอมรับกันทั่วโลก ใครๆก็ใช้ไม่มีผลต่อชีวิตของผู้คน
ส่วนสารอะฟลาท็อกซิน ที่เกาะติดอยู่กับรำข้าวและข้าวเปลือก หรือข้าวสาร จะต้องผ่านกระบวนการขัดสีและปรับคุณภาพข้าว ซึ่งก็จะหลุดออกไปเอง
“ผมจะประกาศให้มีการประมูล และให้เข้าสู่กระบวนการจะไม่เกี่ยวกับผมแล้ว
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่ผมไปกินข้าวมาแล้ว ทั้งหมดอยู่ในสายตาของสื่อ ที่ทานน้อยเพราะมีโรคประจำตัว แต่ก็กินข้าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้ง 2 จาน
จะพิสูจน์อะไรอีก ยังมีปัญหาอะไรอีก ยังทำลายประเทศไทยไม่พอหรือ”
นายภูมิธรรมยังบอกด้วยว่า การส่งเข้าตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นกระบวนการที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในการประมูล แต่ถ้ามีปัญหามากจริงๆ ตนก็ไม่ขัดข้อง หรือใครก็สามารถไปยื่นกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าสู่กระบวนการที่มีมาตรฐาน ไม่ใช่นายโน่นนายนี้ มันไม่ใช่หน้าที่ ถ้ามีหน้าที่จริงคือไปยื่นกระทรวง ตนจะไปดำเนินการให้ จะพาเขาไปเกาะเจาะข้าวในโกดัง ที่มีคนกล่าวหาว่าสร้าง Story เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ
3. หากรัฐมนตรีพาณิชย์พร้อมให้พิสูจน์จริงอย่างที่พูด ก็ควรลงมือดำเนินการเลย เพื่อสิ้นสงสัย
แค่รัฐมนตรีพา นพ.วรงค์ เดินทางไปดูข้อเท็จจริงกระสอบข้าวในโกดังที่ว่า มันมีตราเครื่องหมายครบถ้วนหรือไม่?
และส่งตัวอย่างข้าวที่ผ่านการสุ่มอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ส่งให้หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ว่ามีสารอะฟลาท็อกซิน เกินมาตรฐานจริงหรือไม่?
ส่วนที่อ้างว่า “สารอะฟลาท็อกซินที่เกาะติดอยู่กับรำข้าวและข้าวเปลือก หรือข้าวสาร จะต้องผ่านกระบวนการขัดสีและปรับคุณภาพข้าว ซึ่งก็จะหลุดออกไปเอง” นั้น เป็นเพียงความเชื่อของรัฐมนตรี
เพราะศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว Rice Science Center โดย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และทีมศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ระบุว่าเอาไว้ชัดเจนว่า
“...#สารเคมีตกค้างจากการเก็บรักษา การเก็บรักษาข้าวในโกดัง จำเป็นต้องมีการรมด้วยสารเคมีป้องกันมอด แมลง หรือเชื้อรา หากมีการรมหลายครั้งเนื่องจากระยะเวลาในการเก็บรักษาที่นาน อาจมีความเสี่ยงของสารเคมีตกค้าง หากไม่สามารถระเหยไปได้หมด สารเคมีที่มีรายงานว่าใช้ในการรมควันข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง ได้แก่ เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) และสารอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminum phosphide) หรือ ฟอสฟีน
#สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxin) ข้าวที่เก็บไว้นานยังมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนทางเคมีจากสารพิษจากเชื้อรา เช่น aflatoxins และ ochratoxin A ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น ตับอักเสบ การกดภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะหากข้าวไม่ได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม สารเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
แม้ว่าสาร Aluminum Phosphide (AIP) #เป็นสารควบคุมแมลงในโรงเก็บที่ดีอันหนึ่งเพราะเชื่อว่าไม่มีสารตกค้างในเมล็ดข้าว แต่ปัจจุบันพบว่าสาร aip สามารถตกค้างในเมล็ดพืชที่ถูกรมควันได้ ตามปกติปฏิกิริยาเคมีสาร aip จะทำปฏิกิริยากับน้ำจนได้สารHydrogen Phosphine (PH3) และสาร Aluminum Oxide (AO) สาร ph3 ส่วนใหญ่จะฟุ้งกระจายออกไปบางส่วนจะทะลุทะลวงผ่านชั้นเซลล์เมล็ดเข้าสู่เซลล์ชั้นในที่มีแป้งสารอาหารต่างๆ เมื่อเก็บเมล็ดไว้นานจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนทำให้เกิดสารตกค้างที่เรียกว่า phospho-oxyacids และ ortho-phosphate สารตกค้างเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการระบายอากาศและความร้อนสูง
สารตกค้างเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสาร PH3 และความชื้นตั้งต้นของเมล็ดหากมีสาร PH3 สามารถและเมล็ดมีความชื้นสูงจะทำให้เกิดสารตกค้างในปริมาณที่มากขึ้นและทะลุทะลวงเข้าสู่เซลล์ชั้นในได้มากขึ้น สารออกซิเดชันเหล่านี้ 70% สามารถสกัดได้โดยน้ำร้อน นั่นก็หมายความว่าการหุงต้มข้าวที่มีสารตกค้างเหล่านี้จะส่งผลถึงผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่รู้ตัว ส่วนอีก 30% ของสารตกค้างที่ไม่ละลายน้ำยังไม่ทราบโครงสร้างทางเคมีที่แน่นอน
มาตรฐานสากลของสารตกค้างสูงสุด (MRL)เหล่าที่กำกับโดย CODEX อนุญาตให้มี ortho-phosphate ไม่เกิน 0.1 ppm ในวัตถุดิบและ 0.01 ppm ในอาหาร ทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าสารตกค้างจากการรมควันข้าวตลอด 10 ปีจะต้องเกินมาตรฐานโลกอย่างแน่จนไม่สามารถบริโภคและส่งออกได้
สารตกค้างจาก PH3 มีผลโดยตรง ต่อผู้บริโภคอย่างไร? เนื่องจากสารตกค้างเหล่านี้สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารได้ ผู้บริโภคจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหายใจติดขัดในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ตายได้
นอกจากสารออกซิเดชันตกค้างเหล่านี้ยังมีสาร Aluminum Hydroxide (AH) อีกส่วนหนึ่งที่ตกค้างอยู่ในกองเมล็ดที่ถูกรมควัน AH จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงหากบริโภคจะทำให้เกิดการชักกระตุก กระดูกอ่อน และ สมองเสื่อม รวมทั้งความจำเสื่อมตัวสั่นกระตุก และยังทำให้นิสัยเปลี่ยนไปจนถึงขั้นวิกฤต
ในส่วนของสารพิษ (Toxin) ตกค้างที่สำคัญคือสารก่อมะเร็ง Aflatoxins ซึ่งทนความร้อนสูง และล่าสุดการค้นพบสารพิษ Bongkrekic acid (BKA) ในเส้นก๋วยเตี๋ยวใหญ่ในประเทศไต้หวันที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไต้หวัน 2 คนเสียชีวิต ก็เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เนื่องจากสาร BKA เกิดจากเชื้อสาเหตุในกลุ่ม Burkholderia ซึ่งเป็นแบคทีเรียสาเหตุของโรคในพืชหลายชนิดรวมทั้งในข้าว ที่ทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับข้าว 10 ปีที่เก็บไว้เหล่านี้
#จากเหตุผลทั้งหมดที่นักวิชาการหลายๆ สถาบันได้ประมวลขึ้นมา
รัฐบาลควรพิจารณาทบทวน นโยบายบริโภคข้าว 10 ปีและเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เริ่มประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยทางอาหารอย่างรอบคอบก่อนแล้วเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการใช้ข้าว 10 ปีเหล่านี้อย่างมีประโยชน์ ไม่เกิดโทษกับผู้บริโภค และไม่ทำลายชื่อเสียงของข้าวไทยที่ได้ชื่อว่ามีมาตรฐานข้าวที่ดีที่สุดในโลก”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี