เรื่อง“กัญชา”ที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยจะนำกลับไปเป็น“ยาเสพติด”ประเภท 5 ตามเดิม ถือว่าเป็นการทิ้งบอมบ์ของพรรคเพื่อไทยที่จะสกัดกั้นพรรคภูมิใจไทยไม่ให้โตไปมากกว่านี้อีกแล้ว หรือจะเรียกว่า ต้องการบอนไซพรรคภูมิใจไม่ให้หยั่งรากลึกแผ่กิ่งก้านจนเติบโตเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในวันหน้าก็ไม่ผิดนัก
เพราะมิอาจปฏิเสธได้ว่า การที่พรรคภูมิใจไทยซึ่งมี“เนวิน ชิดชอบ”อดีตนักการเมืองบ้านใหญ่แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรค มีนายอนุทิน ชาญวีรกูร เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายไชยชนก ชิดชอบ บุตรชายของเนวินเป็นเลขาธิการพรรค เติบใหญ่จากพรรคขนาดเล็กตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งเป็นพรรคขนาดกลางหลังการเลือกทั่วไปในปี 2562 และปี 2566 ก็ด้วยพลัง“กัญชา”ที่พรรคภูมิใจไทยชูเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งมาทั้งสองครั้ง
จาก สส.51 คนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็เพิ่มจำนวนเป็น 71 คนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยชูนโยบาย“กัญชาทางการแพทย์”โดยจะปลดล็อคออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เป็นผลทำให้ผู้สมัคร สส.ของพรรคภูมิใจไทยได้รับเลือกตั้งถึง 51 คน และเมื่อเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมของพรรคพลังประชารัฐ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เดินหน้าเรื่องกัญชาตามที่ได้หาเสียงไว้ จนกระทั่งกัญชาได้รับการปลดล็อคออกจากยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565
จึงกล่าวได้ว่า การที่พรรคภูมิใจไทยได้จำนวน สส.เพิ่มขึ้นมาจาก 51 คนเป็น 71 คน จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ด้วย“พลังกัญชา”ที่พรรคภูมิใจไทยประกาศเดินหน้าจะเข็น“พ.ร.บ.กัญชง กัญชา”ให้ออกมามีผลบังคับใช้ให้ได้ หลังจากที่ถูกพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน“คว่ำ”ไม่ให้กฎหมายนี้คลอดออกมาจากสภาฯในชุดที่แล้ว
นี้จึงเป็นศึกการเมืองเรื่อง“กัญชาภาค 2”ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยหวังผล“ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” คือ นอกจากจะตัดฐานคะแนนนิยมจาก“ประชาชนสายเขียว”ที่เทคะแนนให้พรรคภูมิใจไทยจากการเลือกตั้งทั่วไปทั้งสองครั้งดังที่กล่าวแล้ว อีกประการหนึ่งก็เพื่อต้องการตัด“ท่อน้ำเลี้ยง”ของพรรคภูมิใจไทย ที่เชื่อกันว่ามีทุนหนามาจาก“ธุรกิจกัญชา”
ย้อนกลับไปดูในวันที่ ร่าง“พ.ร.บ.กัญชา กัญชง”ของพรรคภูมิใจ“ถูกคว่ำ”แบบถูก“ฆ่าตัดตอน” จากการพิจารณาในวาระสองของสภาฯชุดที่แล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565
การประชุมในวันนั้น เริ่มจาก นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุทิน คลังแสง ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากเห็นว่าอาจเกิดปัญหาต่อการบังคับใช้กฎหมายได้ และร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างของพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่ร่างของคณะรัฐมนตรี
ประเด็นสำคัญ ที่ สส.พรรคเพื่อไทยและ สส.พรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกขึ้นมาอภิปรายเพื่อ“สกัด”ไม่ให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งผ่านมาแล้วค่อนทาง โดยผ่านมติเห็นชอบรับหลักการของสภาฯในวาระแรกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 และผ่านการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาในวาระสอง-จากที่ได้ประมวลมามีทั้งหมด 4 ประการ
ประการแรก ตั้งแต่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปลดล็อคกัญชาออกยาเสพติด นั้น วงการทางการแพทย์ วงการทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปต่างมีความกังวลต่อเรื่องนี้ เนื่องจากสาระของข้อกฎหมายไม่ได้มีเฉพาะเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น
ประการที่สอง มีเสียงสะท้อนและข้อเสนอมายัง สส.ของทุกพรรคการเมืองว่า ถ้าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากจะไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้แล้ว ยังเหมือนเป็นการส่งเสริม และเปิดช่องให้มีการใช้กัญชานอกเหนือไปจากการใช้ทางการแพทย์
ประการที่สาม มาตรา 3 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นการแก้ไขไม่ให้กัญชากัญชงเป็นยาเสพติดอีกต่อไป เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) อีกทั้งไม่จำเป็นต้องปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด เนื่องจากอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดของสหประชาชาติได้ย้ายกัญชาจากยาเสพติดประเภท 4 ไปเป็นยาเสพติดประเภท 1 และยังอนุโลมให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเขียนมาตรา 3
ประการที่สี่ ร่าง“พ.ร.บ.กัญชา กัญชง”ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนี้ ไม่มีมาตรการป้องกัน หรือห้ามเสพกัญชา แต่เป็นเพียงการบัญญัติว่าห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสามารถตีความได้ว่าไม่ได้ห้ามเด็กปลูกและเสพกัญชากัญชงในบ้าน อันแสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ปล่อยให้ประชาชนและเด็กสามารถเสพกันชงกัญชาได้ แต่เพียงแค่ห้ามไม่ให้เสพในที่สาธารณะเท่านั้น
สรุปก็คือ สส.พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมาย“กัญชา กัญชง”ของพรรคภูมิใจไทยมีผลบังคับใช้ ไม่เพียงแต่มีเจตนาจะให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น ยังสามารถใช้ในกิจกรรมนันทนาการได้ ตลอดจนยังมีการส่งเสริมให้ปลูกในครัวเรือนได้จำนวน 15 ต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการใช้ในการปรุงอาหารหรือการรักษาโรคภายในครัวเรือน จึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายศุภชัย ใจสมุทร สส.พรรคภูมิใจ เป็นประธาน ถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปทบทวนใหม่ แต่นายศุภชัยไม่ยอม
สุดท้ายที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น มีมติเห็นชอบตามญัตติที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เสนอให้ถอนร่าง“พ.ร.บ.กัญชา กัญชง”ออกจากระเบียบวาระการประชุม ด้วยคะแนนเสียง 198 ต่อ 136 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง เท่ากับเป็นการ“ฆ่าตัดตอน”จากสภาฯชุดที่แล้ว และในที่สุดก็กลับมาเป็น“ศึกกัญชาภาค 2”ในสมัยนี้
เป็นศึก“กัญชาการเมือง”ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี