รัฐบาลเศรษฐายังประกาศผลักดัน “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ต่อไป
แต่ไม่มีทางทำได้โดยไม่ต้องกู้อย่างแน่นอน
และถึงขนาดจะต้องกู้ หรือขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ก็ยังต้องปรับแผนการคลังจนพรุนยับ
1. รัฐบาลเศรษฐาได้ทบทวนแผน “แผนการคลังระยะปานกลาง” มาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อเปิดทางให้มีการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลโดยสรุปว่า
1.1 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ครม.มีมติเห็นชอบ “แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 1”
ปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2568 เป็น 3.752 ล้านล้านบาท จากเดิม 3.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.527 แสนล้านบาท
โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 1.527 แสนล้านบาท จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2568 เป็น 3.752 ล้านล้านบาทในขณะที่ประมาณรายได้ของรัฐบาลสุทธิยังคงเท่าเดิม คือ มีรายได้สุทธิ 2.887ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลังในปีงบ 2568 จำนวน 8.65 แสนล้านบาทจากเดิมแผนการคลังฯ ฉบับเดิมที่ขาดดุลการคลัง จำนวน 7.13 แสนล้านบาท
ณ สิ้นปีงบ 2568 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 66.93% โดยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 12.84 ล้านล้านบาท
เทียบกับแผนการคลังฯฉบับเดิม ที่คาดว่า ณ สิ้นปีงบ 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 63.73% โดยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 12.66 ล้านล้านบาท
1.2 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ครม.มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2
ปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 เป็น 3.602 ล้านล้านบาท จากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 ที่งบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 อยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเช่นกัน
โดยจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท
จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีอยู่ที่ 65.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทั้งหมดนี้ ภายใต้สมมุติฐานที่รัฐบาลตั้งความหวังว่า การใช้จ่ายเม็ดเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแต่ในข้อเท็จจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นที่หวังไว้
2. หนี้จุกคอหอย รัฐบาลหน้าสาหัส
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยว่า ในแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังภาครัฐได้ปรับลดขนาดจีดีพีของประเทศไทย ในปี 2568-71 ลงจากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1
ได้แก่
ปีงบ 2568 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 19.289 ล้านล้านบาท จากเดิม 19.570 ล้านล้านบาท
ปีงบ 2569 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 20.178 ล้านล้านบาท จากเดิม 20.568 ล้านล้านบาท
ปีงบ 2570 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 21.154 ล้านล้านบาท จากเดิม 21.596 ล้านล้านบาท
และปีงบ 2571 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 22.175 ล้านล้านบาท จากเดิม 22.719 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ แผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 ยังปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2568 เป็น 67.9% (เดิม 66.93%)
ปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2569 เป็น 68.8% (เดิม 67.53%)
ปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2570 เป็น 68.9% (เดิม 67.57%)
และปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2571 เป็น 68.6% (เดิม 67.05%)
ในขณะที่ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดว่า “สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ (70)”
ไม่เพียงเท่านั้น แผนการกู้เงินฯ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล ที่ปรากฏอยู่ในแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว ยังไม่ได้รวมเงินที่ได้จากการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ วงเงิน 1.72 แสนล้านบาท ที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะปรากฏเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต
สำนักข่าวอิศราชี้ว่า “เท่ากับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หลังจาก “รัฐบาลเศรษฐา” พ้นวาระไปแล้วนั้น แทบจะไม่มี “พื้นที่ทางการคลัง”หรือ “กระสุน” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหลืออยู่เลย
และอาจมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อขยาย “เพดาน” การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต”
3.3 หน่วยงานเศรษฐกิจ ให้ข้อสังเกตพึงระวัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ที่น่าสนใจ
3.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แม้ ธปท. ไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2567
“...ทั้งนี้ รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลของการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อเสถียรภาพการคลัง และจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย
โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ พื้นที่ทางการคลัง (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้
ในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายด้านการคลัง จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และดำเนินนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”
3.2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาพัฒน์ มีข้อสังเกตว่า
“...มีการปรับเพิ่มการขาดดุลการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.67 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 67.98
โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 68.92 ในปี 2570
ทำให้พื้นที่ทางการคลังมีความเสี่ยงในการรองรับผลกระทบ หากในระยะถัดไปเกิดความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ดังนั้น สำนักงาน จึงมีความเห็นว่า ในการจัดสรรงบประมาณประจำปีในช่วงถัดไป สำนักงบประมาณควรปรับเพิ่มการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ
รวมทั้งควรมีการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะที่เหมาะสม เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง
นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณส่วนราชการควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด ทั้งนี้ การปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนเพื่อความรอบคอบในการดำเนินการ”
3.3 สำนักงบประมาณ
สำนักงบประมาณ แจ้งว่า “...ควรคำนึงถึงการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยการลดการขาดดุลการคลังในระยะยาว รวมทั้งพิจารณาแนวทางการเพิ่มการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป”
4. แม้ทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของประเทศจะไม่คัดค้าน
แต่ข้อสังเกตก็สะท้อนว่า “เต็มกลืน” กับการแก้ไขแผนการคลังฯในยุครัฐบาลเศรษฐา เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต
ตอกย้ำว่า โครงการนี้ ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงตั้งแต่แรกว่า จะแจกถ้วนหน้า จะสามารถแจกได้โดยไม่ต้องกู้
การพยายามฝืนจะเดินหน้าต่อ คือ การเอาการเงินการคลังประเทศเข้าไปเสี่ยง
แบบเทหมดหน้าตัก หนี้จุกคอหอย
ถามว่า คุ้มค่ากันหรือไม่?
จะฝืนทำแบบทุลักทุเล แบบไม่ตรงปกไปเพื่ออะไร?
ที่ควรทบทวน น่าจะเป็นการทบทวนแผนการเมืองของรัฐบาล ปรับแผนทำเพื่อบ้านเมืองแท้จริง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องแจกเงินขนาด 5 แสนล้านบาท ควรกระตุ้นเฉพาะจุดที่เป็นปัญหา อย่างแม่นยำ
เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง จะต้องมาจากความสามารถในการแข่งขันด้วยการเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มความสามารถของการผลิต เพิ่มสกิลการทำงานของคน สอดรับกับการส่งเสริมการลงทุนการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดึงดูดเงินลงทุนที่มาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย มิใช่เพราะการแจกเงินหมื่น
ยังไม่สายเกินไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี