เมื่อต้นปีนี้เอง ประเทศอียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยืนยันเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ไปแล้ว
ทำให้กลุ่ม BRICS อันเป็นการรวมกลุ่มกันของ 5 ประเทศสมาชิกเดิม ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้
เพิ่มมาอีก 5 ประเทศ ทำให้ขณะนี้ BRICS มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศแล้ว
เป็นการขยายขนาดเศรษฐกิจ และพลังอำนาจต่อรองมากขึ้นไปอีก
1. ก่อนหน้านี้ เคยมีการแย้มๆ ว่า มีมากกว่า 20 ประเทศที่แสดงความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRICS
ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ แอลจีเรีย โบลิเวีย รวมถึงไทยเราด้วย
ไทยเริ่มผลักดันกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างจริงจังตั้แต่สมัยรัฐบาลลุงตู่
ต่อเนื่องมาจนรัฐบาลเศรษฐา
ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ค. (สัปดาห์ที่แล้ว มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS
มีโอกาสสูงมากที่ไทยจะเป็นสมาชิก BRICS ประเทศแรกในอาเซียน
2. ความน่าสนใจของการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
การได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศใดๆ ก็ตาม หมายถึงการได้เพิ่มบทบาท แบ่งปันความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกลุ่มนั้นๆ
การขยายตัวของประเทศสมาชิกของ BRICS เติบโตที่รวดเร็วมาก สัดส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มในโลก มีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 31% ไปสู่ 35% เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
ลองคิดดูว่า กำลังซื้อของกลุ่มประเทศเหล่านี้มหาศาลขนาดไหน
จีดีพีของกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนเกือบ 30% ของจีดีพีโลก สูงกว่ากลุ่มประเทศ G7 ไปแล้ว
มีประชากรรวมกันประมาณ 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% ของประชากรโลก
นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS มีกำลังผลิตน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วน 40% ของกำลังผลิตน้ำมันโลก
แน่นอน กลุ่ม BRICS เป็นผู้นำของตลาดเกิดใหม่ และเป็นส่วนสำคัญของภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ตำแหน่งประธานของ BRICS ได้ผลัดมือจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มาเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย
นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ระบุว่า ต่อจากนี้ประเทศรัสเซียจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ความร่วมมือให้เป็นไปตามฉันทามติและความต่อเนื่องในการสร้างบทบาทขององค์กร BRICS ในระดับโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในความสัมพันธ์พหุภาคีในการพัฒนาและการสร้างความมั่นคงในระดับโลก
อันที่จริง การประชุมสุดยอด BRICS ได้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2552 ที่เมืองเยคาเตรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย
BRICS ได้พัฒนาไปจากเดิมที่เป็นความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ มีไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
แต่ปัจจุบัน ได้พัฒนาความร่วมมือและกลไกการเจรจาที่หลากมิติมากขึ้น มีทั้งความร่วมมือด้านนโยบายความมั่นคง เศรษฐกิจ เงินตราแลกเปลี่ยน วัฒนธรรมและด้านมนุษยธรรม
ประการสำคัญ มิได้หมายว่า เป็นสมาชิกกลุ่มนี้แล้ว จะต้องไปร่วมรบกับรัสเซีย หรือแหกมติยูเอ็น
แต่ละประเทศยังมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง
วิสัยทัศน์ของกลุ่ม ไม่ได้ต่อต้านตะวันตก ดังปรากฏในการประชุมสุดยอดที่นครโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปีนี้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ณ เมืองคาซานทิศทางสำคัญ คือ การจัดการระบบอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้ผูกติดกับดอลลาร์ (de-dollarization) โดยเพิ่มบทบาทเงินตราของประเทศสมาชิก BRICS (ซึ่งมีทองคำหนุนหลัง) เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
3. เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อรัสเซียประโคมข่าวใหญ่โตว่า ประเทศไทยจะยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS
สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ ใช้คำว่า Asian powerhouse ในการพาดหัวข่าว “Asian powerhouse declares intention to join BRICS”
รายงานยังระบุถึงศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยด้วย ว่าจะมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
รวมทั้งอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงความประสงค์ฯ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทยตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ครม.ได้พิจารณาในด้านประโยชน์และผลกระทบ เช่น
“1. การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
โดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต
โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุม และไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด
2. ความร่วมมือในกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสา ได้แก่ (1) เสาด้านการเมืองและความมั่นคง (2) เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และ (3) เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม
โดยนอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้ว แต่ละเสายังมีการจัดประชุมในระดับต่างๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่างๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน
ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยมีความพร้อม การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น
ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม
การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
สาธารณสุข
การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี
การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
การท่องเที่ยว
การส่งเสริมบทบาทของยาวชนและสตรี
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
5. แน่นอนว่า อีกด้านหนึ่ง คือ ฝั่งสหรัฐและพวก กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ย่อมจะไม่ต้องการให้ไทยไปใกล้ชิดกับฝ่ายที่ตนมองว่าเป็นคู่แข่ง
แต่รัฐบาลไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ภายใต้ระเบียบโลกใหม่เป็นสำคัญ
ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติอยู่แล้ว และดำเนินนโยบายตามแนวทางสหประชาชาติมาโดยตลอด
การเข้าเป็นสมาชิก BRICS ไม่ได้เป็นการเลือกข้างทางการเมือง แต่เป็นการเข้ากลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของไทยเราเอง (เช่นเดียวกับที่สหรัฐและพวกก็มีกลุ่มความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง)
เราไม่ต้องกราบขออนุญาตจากใคร ที่จะตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ
แต่ขอให้ดูพรรคการเมืองบางพรรคเถิด... พรรคฝ่ายค้านที่อ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่นั้น แท้จริง มีอำนาจสหรัฐคอยบงการ หนุนนำแกนนำและเครือข่ายอย่างไรบ้าง
อะไรก็ตามที่สหรัฐและพวกสูญเสียผลประโยชน์ พรรคการเมืองพรรคนี้ก็จะออกมาขัดแข้ง ขัดขา ขัดขวาง โดยตลอด ทุกทีไป!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี