เราอาจจะแบ่งระบบระบอบการเมืองการปกครองของไทย ออกได้เป็น 3 ลักษณะตามกาลเวลา นั่นคือ
1. ระบบพ่อขุน ในช่วงสมัยสุโขทัย ที่ผู้นำหรือองค์ประมุขถูกขนานพระนามว่า พ่อขุน เช่นพ่อขุนรามคำแหง บ่งบอกความเป็นหัวหน้า หรือการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้นำที่ควรแก่การเคารพเชื่อฟัง แต่ก็ปรึกษาหารือขอความช่วยเหลือได้ และจะได้รับความเมตตาและความยุติธรรม เสมือนพ่อปกครองลูก จัดได้ว่าระบบระบอบพ่อขุน เป็นทฤษฎีและการปฏิบัติทางการเมืองที่มีรากเหง้าจากคนไทยกันเอง
2. ระบบเทวราชานั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยสุโขทัย ที่สังคมไทยได้เริ่มมาข้องแวะกับชาวรามัญ ชาวขอม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความคิดความเชื่อถือจากชมพูทวีป ที่ผู้ปกครองเป็นเสมือนเทพเจ้าลงมากำเนิด และฉะนั้นจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความยิ่งใหญ่ น่าเกรงขามควรแก่การเคารพนบนอบและบูชา เทวราชาจึงมีอำนาจประกาศิตและเป็นเจ้ามหาชีวิตและเจ้าของทรัพย์สินในแผ่นดิน
3.ธรรมนูญราชา หรือนัยหนึ่งพระมหากษัตริย์ดำรงพระองค์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการสิ้นสุดของระบบเทวราชา หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ได้เกิดขึ้นที่ยุโรปตะวันตก และไทยเราได้รับอิทธิพลทางความคิดและแนวทางปฏิบัติมาปรับใช้
อย่างไรก็ตาม โดยตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าผู้นำหรือองค์ประมุขของประเทศจะอยู่ในสถานะใด สังคมไทยก็มีหลักปฏิบัติพื้นฐานของผู้ปกครองไว้โดยตลอด อันได้แก่ผู้ปกครองต้องประพฤติตนอยู่ในธรรม และในการนี้ไทยเราก็มีหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นการกำหนดให้ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติตนดังนี้คือ
1.ทาน
2.ศีล
3.บริจาค
4.ความซื่อตรง
5.ความอ่อนโยน
6.ความเพียร
7.ความไม่โกรธ
8.ความไม่เบียดเบียน
9.ความอดทน
10.ความเที่ยงธรรม
แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2475 การเปลี่ยนแปลงที่กำหนดให้อำนาจของบ้านเมือง หรืออำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งก็ถือเป็นอำนาจแห่งธรรมที่ประชาชนพลเมืองได้ถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อช่วยปฏิบัติดูแลผ่าน 3 สถาบันหลักคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ และในกรอบของฝ่ายตุลาการได้มีการจัดตั้งองค์การตรวจสอบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติและอยู่ร่วมกันด้วยหลักธรรมาภิบาล
ณ วันนี้ สังคมไทยมีปัญหามากมาย เพราะการขาดซึ่งหลักธรรม หรือนัยหนึ่งการนำเอาหลักทศพิธราชธรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยทั่วไป และเป็นส่วนสำคัญหลักของการบริหารราชการบ้านเมือง ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายผู้ปกครองบ้านเมืองทุกระดับ นอกจากจะต้องเคารพกฎหมายแล้ว ต้องมีหลักทศพิธราชธรรมอยู่ประจำใจด้วย
ในการนี้ก็หมายความว่า สังคมไทยเราจะคงอยู่แค่กับหลักการอยู่กับ และเคารพกฎหมาย (Rule of Law) แบบฝ่ายยุโรปตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียวก็จะไม่เพียงพอ สังคมไทยจะต้องนำเอาหลักธรรม หรือทศพิธราชธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปในสังคมอีกด้วย และฉะนั้นในการเรียนการสอนว่าด้วยวิชานิติศาสตร์ หรือในการฝึกอบรมข้าราชการ ให้ได้ตระหนักรู้แค่ในเรื่องกฎหมายบ้านเมือง ก็มิเป็นการเพียงพออีกแล้ว สังคมไทยจากนี้ไปจะต้องหันกลับมาทบทวนตนเอง และให้การเรียนการสอน ให้การตระหนักรู้ต้องมีทั้งเรื่องหลักกฎหมายแบบสากล และหลักทศพิธราชธรรม ควบคู่กันไปด้วย
ในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย สังคมไทยเราก็มักจะกล่าวหา และดำเนินการกันด้วยการอ้างอิงกฎหมายต่างๆ ซึ่งก็จะมีเรื่องการผิดและการถูกในแง่ของตัวบทกฎหมาย แต่เหนือตัวบทกฎหมายขึ้นไปก็มีเรื่องศีลธรรม การถูกต้องชอบธรรม ที่การกระทำหนึ่งใดอาจมีการตีความว่า ถูกกฎหมายทุกประการ แต่ผิดหรือไม่ไปด้วยกับหลัก
สังคมไทยต้องกลับมาร่วมกันรณรงค์เรื่องธรรมะ ให้เป็นส่วนหนึ่งและวิถีทางของชีวิตที่ดีงาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี