ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567ว่า สหรัฐส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เร่งเครื่องโค้งสุดท้ายดัน F-16 Block 70 เสนอเงินกู้ยืม 9 ปี แต่เสียดอกเบี้ย-การค้าต่างตอบแทนกับไทย ผบ.ทอ. เผยไม่รู้เรื่อง ลั่น ทอ.คัดเลือกแบบให้มีความคุ้มค่าในทุกด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือทางทหารในการเสนอขายเครื่องบิน F-16 Block 70 ของ บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ให้หลังจากสหรัฐปฏิเสธขายเครื่องบินรบแบบ F-35 A ให้กองทัพอากาศไทยเมื่อปีกลาย
ดังที่ พลอากาศโทประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ว่านายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทราบว่าสหรัฐฯไม่สามารถขายเครื่องโจมตี F-35A ให้กองทัพอากาศไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากไทยยังไม่พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานรองรับเครื่องบินรบ F-35A
พลอากาศโทประภาส แถลงตอนนั้นว่า “เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-35A ถูกออกแบบด้วยแนวความคิดใหม่ด้านเทคนิคและด้านปฏิบัติการ มีคุณลักษณะพิเศษในการซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) จึงต้องวางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และระบบรักษาความปลอดภัยตามเงื่อนไขของสหรัฐ”
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านความมั่นคงกล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่สหรัฐไม่ขายเครื่องบินรบ F-35A ให้กองทัพอากาศไทย เพราะอเมริกากลัวจีนล้วงความลับเทคโนโลยีล้ำยุคไป เนื่องจากกองทัพไทยซื้ออาวุธทั้งจากจีนและสหรัฐที่แลกเปลี่ยนความรู้กันไปมาซึ่งเสี่ยงที่ความลับเทคโนโลยีล้ำสมัยรั่วไหลไปจีน
เมื่อสหรัฐปฏิเสธขายเครื่องบินรบ F-35A ให้กองทัพอากาศไทย จำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินรบใหม่มาแทน F-16 A ที่คร่ำคร่าเป็นขยะสงคราม ซึ่งประเทศนาโตขออนุมัติจากสหรัฐส่งมอบเครื่องบินรบ F-16 ที่ตกยุคล้าสมัยเพื่อยูเครนนำไปล่อเป้าขีปนาวุธรัสเซียช่วยทำลายขยะสงครามให้ และกองทัพอากาศไทยแถลงหลังสหรัฐไม่ขาย F-35A ให้ว่า
กำลังพิจารณาซื้อเครื่องบินรบ กริพเพน (Gripen) ของสวีเดน หรือไม่ก็ F-16 Block 70/72 ของสหรัฐ เพื่อนำมาทดแทนฝูงบินเก่าจำนวน 12 ลำ อันได้แก่เครื่องบิน F-16 A และ F-16 ADF โดยกองทัพอากาศไทยได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในสมุดปกขาวเมื่อช่วงต้นปีนี้เพื่ออธิบายการประเมินความปลอดภัยสำหรับปี 2567-2580
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมไทยระบุว่า กองทัพอากาศไทยใกล้จะต้องสรุปข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการซื้อ หรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงของไทย มีกำหนดตัดสินใจในเดือนมิถุนายนว่าจะอนุมัติการจัดซื้อเครื่องบินจากประเทศใด คงเป็นเพราะกองทัพอากาศไทยจะพิจารณาภายในเดือนมิถุนายนจะซื้อเครื่องบินรบจากประเทศไหน ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยถึงพล่านเหมือนไฟลนก้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือทางทหารในการเสนอขายเครื่องบิน F-16 Block 70 ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังไม่มีรายงานว่าเนื้อหาในหนังสือที่ส่งให้นายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดอย่างไร คาดว่า เป็นการแจ้งข้อเสนอในเรื่องของความช่วยเหลือเพิ่มเติม ที่นอกจากโปรแกรมการซื้ออาวุธในโครงการความช่วยเหลือกับมิตรประเทศ และ ข้อมูลการค้าต่างตอบแทนที่มีกับไทย พร้อมกันนั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยังได้เชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไปเยือนสหรัฐด้วย
ทางด้าน พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุลผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกองทัพอากาศจีนอย่างเป็นทางการ ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องที่ทูตสหรัฐส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของกองทัพอากาศกำลังดำเนินการตามขั้นตอนในการคัดเลือกแบบให้มีความคุ้มค่าในทุกด้าน และเป็นไปตามนโยบายการตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยยังต้องรับฟังข้อเสนอที่เพิ่มเติมจากทั้ง 2 ชาติ
จึงต้องรอดูว่า วอชิงตันจะกดดันวิธีไหนให้กองทัพอากาศไทย ซื้อเครื่องบินรบล้าสมัยจากอเมริกา ในขณะที่รัสเซียสร้างเครื่องบินรบตระกูล มิก กับ ซูคอย และ ประเทศสวีเดนสร้างเครื่องบิน กริพเพน (Gripen) ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า F-16A ของอเมริกาหลายช่วงตัว
เครื่องบินรบซูคอย ซู-57 คือ เครื่องบินรบไอพ่น รุ่นที่ 5 ของรัสเซียที่สามารถปฏิบัติการได้หลากหลายในสมรภูมิ โดยเริ่มการผลิตเมื่อปี 2022 ส่วนเครื่องบินขับไล่ MiG-35 ถูกออกแบบเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธรุนแรงสูงมาก ภายใต้ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่หนาแน่นและหลายชั้นของศัตรู
ส่วนเครื่องบินรบ F-35A ถูกออกแบบมาให้เป็น Fighter แต่ F-35A เน้นไปที่งานแบบค้นหา และ โจมตี โดยมันสามารถโจมตีศัตรู ก่อนที่ศัตรูจะตรวจพบมันทาง RADAR ที่สหรัฐขาย F-35A ให้พันธมิตรที่แนบแน่นเท่านั้น
วันที่ 13 กันยายน 2565 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้แจ้งต่อสภาคองเกรส ว่าพวกเขาไฟเขียวขายเครื่องบินขับไล่ F-35A ที่ผลิตโดย บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน จำนวน 25 ลำ แก่เกาหลีใต้ เช่นเดียวกับเครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ เตรียมซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-35A จำนวน 8 ลำเข้าประจำการแทนเครื่องบิน F-16 รุ่นเก่าขณะที่ภัยคุกคามในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
เอิง เอ็ง เฮน ( Ng Eng Hen ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิงคโปร์ กล่าวว่า กองทัพอากาศสิงคโปร์ (RSAF) จะซื้อ F-35A ซึ่งเป็นรุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า และพิสัยการบินไกลกว่า จากบริษัท Lockheed Martin Corp (LMT.N) จำนวน 8 ลำ จากเดิมที่ได้สั่งซื้อ F-35B จำนวน 12 ลำ F-35B ลำแรกจะถูกส่งมอบให้กับสิงคโปร์ในปี 2026 โดยเครื่องบิน F-35B มีความสามารถในการบินขึ้น และลงจอดในแนวตั้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติการนอกเรือ หรือ ในสถานที่ที่ไม่มีรันเวย์
ในขณะที่พันธมิตรแนบแน่นวอชิงตันในเอเชีย อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ซื้อเครื่องบินรบ F-35A ไว้ประจำการเต็มพิกัด แต่สหรัฐกลับยัดเยียดขาย F-16 ตกยุคล้าสมัยเป็นขยะสงคราม ให้ประเทศไทย มันไม่เข้าท่านะ Ugly Americans
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี