เมื่อวานนี้ กระทรวงการคลังแถลงรายละเอียด วิธีการเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
โดยรัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถีง 15 กันยายน 2567
และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ และที่จะต้องติดตามต่อ มีดังต่อไปนี้
1. ความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่างๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
2. พายุหมุนทางเศรษฐกิจ
รมว.คลัง อธิบายว่า เมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่
พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่าย ระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็น
กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอาเภอ ทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ
และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
3. ประเด็นที่ต้องติดตามต่อ
ในส่วนนี้ ประเด็นเรื่องข้อกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ต้องติดตามต่อ คือ จะมีการฟ้องร้องต่อองค์กรตรวจสอบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จะผลอย่างไร?
นอกจากนี้ ประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไป หากโครงการได้ดำเนินการจริงๆ คือ จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องไปกู้ หรือขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมมาใช้จ่ายในโครงการนี้ หรือไม่?
เพราะการอัดฉีดเงินเข้าสู่มือประชาชนผู้บริโภคโดยตรง มูลค่ามหาศาลกว่า 4.5 แสนล้านบาทนั้น ย่อมจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยคึกคักเป็นเรื่องปกติ
แต่จะกลายเป็นพายุหมุน ในความหมายว่าจะนำไปสู่การผลิต การจับจ่ายใช้สอย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายๆ รอบ จนคุ้มกับภาระต้นทุนของโครงการ หรือไม่ นั่นต่างหากที่จะต้องติดตามต่อไป
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เคยตั้งข้อสงเกตน่ารับฟังว่า ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์การคลังของไทยหลังจากนั้น เพราะหากไม่สามารถออกแบบให้เกิดการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ จะยิ่งทำให้งบประมาณของประเทศอยู่ในสภาวะขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่ความอ่อนแอของวินัยการคลัง ที่อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ
“...Worst-case scenario ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ คือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในระยะอันใกล้นี้ จะทำให้งบประมาณของประเทศมีความตึงตัวมาก เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถกู้เพิ่มได้อีกแค่ไหน เพราะช่วงโควิดไทยเราก็ไปขยายกรอบวินัยการเงินการคลังแล้วรอบหนึ่ง ให้สามารถมีหนี้สาธารณะได้มากถึง 70% ของ GDP ฉะนั้น ถ้าเกิดวิกฤตอีกจะไปเพิ่มแรงกดดันในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่วิกฤตฉุกเฉินจริงๆ เช่น วิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลก หรือโรคระบาดเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น...”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นแหล่งเงินในงบประมาณปี 2568 ที่จะต้องปรับลดจากรายการอื่นๆ อีกกว่าแสนล้านบาท ว่าจะกระทบหน่วยงานใดอีกบ้าง จะทำได้จริงหรือไม่?
นี่คือประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป หากโครงการนี้จะดำเนินการจริงๆ
4. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจกแจงรายละเอียดของโครงการ
เป็นข้อมูลสำคัญที่ประชาชนควรทราบ เพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ดังนี้
4.1 คุณสมบัติประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ
เป็นประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน สัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สาหรับปีภาษี 2566
ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) - (5)
ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ และไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
4.2 กำหนดการเข้าร่วมโครงการ
การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการ
ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ ประมาณการไว้จำนวน 45-50 ล้านคน
4.3 การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน -
15 ตุลาคม 2567)
จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
ส่วนการใช้จ่ายนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
4.4 การลงทะเบียนร้านค้า
เบื้องต้น กำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม
จะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติม เพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทาง และวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทราบต่อไป
4.5 การใช้จ่ายในโครงการ เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้า ขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
ในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคาดว่า ซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ (1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
ส่วนการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
4.6 สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่
สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชา และกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้าNegative List เพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการ จะไม่รวมถึงบริการต่างๆ
นี่คือความคืบหน้าล่าสุดของอภิมหาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐา
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี