ชัดเจนว่า “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต” จะเปลี่ยนแปลงไป
โดยจะเริ่มเติมเงิน 10,000 บาท แก่กลุ่มผู้ถือสิทธิในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้พิการก่อน รวมจำนวน 14.5 ล้านคน
1. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า คาดว่าจะโอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มเป้าหมายแรก หลังจากวันที่ 20 กันยายนเป็นต้นไป
เบื้องต้น กลุ่มแรกที่จะได้รับเงิน 10,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคนนี้ ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ และสามารถใช้เงินได้ทุกพื้นที่ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในอำเภอ จังหวัดใดและสามารถซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคได้ทุกรายการ ใช้ชำระหนี้ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟค่าโดยสาร ก็สามารถทำได้
เงินหมื่นจะเข้าบัญชีของกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดความชัดเจนทั้งหมด จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ก.ย.นี้
2. หากเงิน 10,000 บาท ลอตแรก เปิดให้เบิกถอนเป็นเงินสดได้จริงๆ
เท่ากับว่า แจกเงินสดนั่นเอง
จะแตกต่างกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม ที่ให้ใช้ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสด อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยารักษาโรค ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม กะปิ น้ำปลา ซอสปรุงรส ฯลฯ
บัตรลุงตู่เดิม ไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้ (ปัจจุบันไม่ใช้บัตรแล้วเติมเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนเลย)
ข้อดีของการไม่ให้เบิกถอนเป็นเงินสด คือ จะเอาไปใช้ซื้อสินค้าอบายมุขไม่ได้
นอกจากนี้ ยังป้องกันมิให้เจ้าหนี้จะมาทวงหนี้ เอาเงินจากชาวบ้านไปเก็บไว้เอง ไม่เกิดการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ข้อดีของการให้เบิกถอนเป็นเงินสดได้ ก็คือ มีสภาพคล่องสูงสุด
แน่นอนว่า ชาวบ้านที่ได้รับเงิน จะชอบเงินสดมากกว่า
แต่คำถาม คือ อย่างไหนจะเกิดผลบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระบบมากกว่ากัน?
3. กลุ่มคนที่จะได้รับเงินหมื่นลอตแรก จำนวนประมาณ 14.5 ล้านคน ประกอบด้วย
กลุ่มที่ลงทะเบียน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลเดิมตั้งแต่ปี 2565 ที่ให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียน
โดยข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 13,534,692 คน แบ่งเป็น
ภาคเหนือ จำนวน 1,763,437 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5,500,002 คน
ภาคกลาง จำนวน 2,959,716 คน
ภาคตะวันออก จำนวน 611,801 คน
ภาคตะวันตก จำนวน 622,414 คน
ภาคใต้ จำนวน 2,077,322 คน
นอกจากนี้ กลุ่มผู้พิการในประเทศไทย ที่ลงทะเบียนไว้กับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพม. ข้อมูลเดือน ก.ย.2567 จำนวน 2,215,079 คน
โดยในจำนวนนี้ มีข้อมูลที่ซ้อนกับคนพิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 1,200,000 คน จึงเหลือข้อมูลคนพิการที่เข้าเกณฑ์ได้รับอีกจำนวน 1,000,000 คนเศษ
สรุป รวมจำนวนกลุ่มแรกที่ได้รับสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13,534,692 คนกับคนพิการที่ไม่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000,000 คน รวม 14.5 ล้านคน
4. การอภิปรายในสภาเมื่อวานนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ความเห็นน่าสนใจเกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่น ระบุว่า
“...วันนี้ไม่ว่าจะเป็นระบบดิจิทัล หรืออนาล็อก ประชาชนไม่สนใจ
แต่สนใจเพียงอย่างเดียวว่าเงิน 10,000 บาท จะถึงมือเมื่อไหร่
แล้ววันนี้ต้องขอขอบคุณรัฐบาล ที่ทราบว่าจะจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือ “บัตรลุงตู่” ที่ชาวบ้านเข้าใจ ถ้าจ่ายเงินสดไปก่อนในปลายเดือนก.ย.หรือต้นเดือนหน้า ตนเชื่อว่ากว่า 14 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะได้ประโยชน์ วันนี้ต้องยอมรับว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อนจริงๆ...
...ไม่ว่าเงินจะหมุนกี่รอบ ไม่ว่าจะเป็นทอร์นาโด หรืออะไร จะเป็นแค่ความกดอากาศต่ำก็ตาม ผมเชื่อว่าประชาชนไม่สนใจ แต่สนใจแค่ว่า จะมาเมื่อไหร่ วันนี้กว่า 14 ล้านคนที่ถือบัตรจะได้ปี’67 ส่วนอีก 30 กว่าล้านคนในปี’68 ก็ว่ากันไป ผมไม่ขัดข้องเลย
...แต่ที่เป็นห่วง อยากจะฝากไว้คือเรื่องหนี้สาธารณะของไทย ตอนนี้ชนเพดานแล้ว
ปี’68 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 68% ซึ่งตามกรอบกำหนดไว้ที่ 70% จึงเป็นห่วงเรื่องความยั่งยืนด้านการคลัง ส่วนตัวเข้าใจเรื่องการใช้เงิน เพราะประชาชนเดือดร้อน ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องคิดเรื่องการหาเงินเข้าประเทศ ซึ่งต้องวางยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกัน ทั้งมาตรการภาษี หรือการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักต้องมีการปรับเรื่องการหารายได้ด้วย...” - สส.ธนกร กล่าวในสภาฯ
5. ข้อจำกัดเรื่องจำนวนงบประมาณ มีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินช่วยเหลือ สนับสนุน พัฒนา อีกจำนวนมาก
ความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้เงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท อาจไม่จำเป็นทั้งหมด
คุณชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนบทความให้ข้อมูลและมุมมองที่น่าสนใจ
บางส่วน ระบุว่า
“...หลายท่านคงรู้สึกขัดใจ เวลาที่ได้ยินว่า จีดีพีของไทยฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะคนที่ยังต้องเคร่งเครียดทุกวันกับการทำมาหากิน และเห็นจำนวนเงินในมือที่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง
จีดีพีเป็นตัวเลขที่บอกภาพรวมการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ถ้าแยกดูในรายละเอียดเราจะเห็น “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน” มีทั้งกลุ่มที่ยังไปได้ดี ขยายตัวได้ ธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่อง กลุ่มที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ และกลุ่มที่กำลังลำบาก
ความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับว่า คนคนนั้นอยู่ในกลุ่มไหน และอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์แค่ไหนด้วย วันนี้จึงอยากยกตัวอย่างของสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีลักษณะฝนตกไม่ทั่วฟ้าแบบนี้มาเล่าให้ฟังกัน
ฟื้นตัวดี มีความหวัง ยังไปต่อ
ธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดีเป็นภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวและพลังงาน ซึ่งคิดเป็น 60% ของจีดีพี และจ้างงานประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด ทำให้คนที่ทำธุรกิจหรือทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านคนพอยิ้มได้บ้าง โดยเฉพาะร้านอาหารและที่พัก (4.3% ของจีดีพี) เพราะนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่ฟื้นตัวกลับมาทำให้ยอดขายและราคาทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ที่เน้นลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง และนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ เช่นเดียวกับธุรกิจปิโตรเลียม (3.6% ของจีดีพี) ที่การฟื้นตัวของการขนส่งคนและสินค้าช่วยให้มีการผลิตและการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยิ้มได้เหมือนกันหมด เพราะธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวเด่นๆ โรงแรม 3 ดาวลงมา จนถึงที่พักขนาดเล็ก ยังลำบากจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ขึ้นราคาได้ยาก จนบางแห่งต้องปิดตัว และอาจไม่ได้รู้สึกถึงการฟื้นตัวเท่าที่ควร...
ตลาดบนไปต่อ ตลาดล่างท้อใจ
สำหรับธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศ อย่างภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ (5.1% ของจีดีพี) ที่จ้างงานมากกว่า 2 ล้านคนนั้น ตลาดบนในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปยังพอไปได้ แต่ตลาดกลาง-ล่างไม่สู้ดีมาพักใหญ่แล้วโดยเฉพาะที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้มีที่อยู่อาศัยรอขายจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและการฟื้นของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งมีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อ
รวมถึงการที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็ส่งผลต่อภาคก่อสร้าง ซึ่งเมื่อกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้ว ต่อไปน่าจะมีเม็ดเงินเข้าไปเติมให้ภาคก่อสร้างมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังกังวลกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าแรงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
อนาคตไม่สดใส เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้าง
การเข้ามาของสินค้าจีนเป็นปัญหาที่บั่นทอนความสามารถการแข่งขันของไทยในตอนนี้ ตัวอย่างที่ชัดคือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (1% ของจีดีพี) ซึ่งไทยเราไม่อาจสู้กับของถูกจากจีนได้ แถมยังมี e-Commerce ที่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาง่ายขึ้น ...
ดูแลเฉพาะจุด ช่วยคนสะดุดให้กลับมายืนได้
จากกลุ่มฟื้นดีที่มีจีดีพีสัดส่วนสูง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังดูไปได้ แต่ถ้าดูลงไปในภาพย่อย ก็จะเห็นว่ายังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข นอกจากการดูแลสภาวะเศรษฐกิจการเงินและอัตราเงินเฟ้อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว
การให้ความช่วยเหลือคนเดือดร้อนผ่านมาตรการเฉพาะจุดก็สำคัญเช่นกัน แบงก์ชาติจึงมีเกณฑ์ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง โดยลูกหนี้สามารถเจรจาเพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะกับศักยภาพและรายได้ในแต่ละช่วงเวลาได้
สำหรับธุรกิจที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการแข่งขัน เราก็มีนโยบายให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนปรับ Business Model ให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งในแง่ตัวเลขและคุณภาพต่อไป..”
ข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่า ความจำเป็นของการเข้าช่วยเหลือ อัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้จำเป็นต้องแจกแบบเหวี่ยงแห หากพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม จะตรงจุด แม่นยำ และลดภาระทางการเงินการคลังแผ่นดินไปได้ไม่น้อยกว่าสองแสนล้านบาท
ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ หรือเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก ก็ยังได้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี