นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในวันเข้าปฏิบัติหน้าที่ว่า การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมาได้ดำเนินไปแล้วหลายโครงการ
สำหรับนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย นำร่องรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ MRT สายสีม่วง ทำมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน
โดยในช่วงที่ผ่านมานั้นปริมาณผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นถึง 26.39% และในระยะต่อไปมั่นใจว่าปริมาณผู้โดยสารจะใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดว่าจะมีรายได้เท่ากับก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย
หลังจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสีอื่นๆ จะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาการเดินทาง บนอัตราค่าบริการที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ได้ดำเนินการเร่งรัดติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยเร็วที่สุด
1. ในการประชุมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงในรัฐสภา กรณีเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม เรื่อง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท
รัฐมนตรีว่าการคมนาคม ยืนยันว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรค แต่ก็มั่นใจว่า สามารถหาคำตอบและทำให้สำเร็จได้
“ขอยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท รัฐบาลทำแน่ และทำไปแล้ว ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
ส่วนที่รัฐบาลดำเนินการเดินรถเอง คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต และสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน ก็ดำเนินการ
เสร็จใน 3 เดือน
และส่วนที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่เอกชนเดินรถ ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี
ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่ง 2 เดือน กระทรวงคมนาคมสามารถทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ในสายสีแดงและสายสีม่วงได้ทันที
ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่มีสัญญาสัมปทาน จำเป็นจะต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือประมาณเดือน ก.ย. 2568 จะครอบคลุมในทุกสายทุกสี
...รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างแน่นอน ในเดือน ก.ย. 2568 และเป็นคนละส่วนกับการซื้อคืนสัมปทานจากเอกชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องศึกษาในรายละเอียด และประเด็นนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม
ส่วนที่ฝ่ายค้านถามว่าจะเอาจากไหนมาอุดหนุนนั้น ขอเรียนว่า หลักคิด
ที่ดำเนินการอยู่และจะทำต่อไปคือ การเอาเงินจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.
บริหารระบบตั๋วร่วมฯ และหากจะตอบคำถามนี้ให้ชัดเจน ในความเป็นจริงยังมีเงินจากหลายส่วน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษีจากประชาชน โดยสามารถขอจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการขอเงินจากผู้ขับรถส่วนตัวและผู้ที่ขับรถเข้ามาในบริเวณที่จราจรติดขัดมาใช้ ไม่ต้องใช้ภาษีสนับสนุน” – นายสุริยะกล่าว
2. ท่าทีและถ้อยแถลงของรัฐบาล ยืนยันชัดเจนว่า จะดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
แน่นอน โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
รถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานผูกพันกับเอกชน
บางสาย เอกชนลงทุนก่อสร้าง และเดินรถ
บางสาย เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและเดินรถ
ค่าโดยสารต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผูกพันอยู่เดิม
รัฐบาลจะให้มีอัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่าสัญญาที่มีอยู่ ก็จะต้องจ่ายชดเชยเอกชน หรือไม่ก็จะต้องซื้อสัญญาสัมปทาน แล้วให้เหลือแค่สัญญาเดินรถ โดยมีรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสารได้เอง
ไม่ว่าจะทางใด ล้วนต้องใช้เงินทุน และการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับเอกชนคู่สัญญา
เบื้องต้น ถ้ารัฐบาลทำในปี 2568 ระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล ประเมินว่า น่าจะใช้เงินทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท (ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เงินจากแหล่งใดมาชดเชย)
3. ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อมูลประกอบข้อคิดความเห็นน่าสนใจว่า “ปูเสื่อรอ...รถไฟฟ้า 20 บาท “ทุกสาย ทุกสี”
ระบุว่า
“..น่าตื่นเต้นที่กระทรวงคมนาคมจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2568 เป็นต้นไป
แย้มว่า มีเงินชดเชยให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้ 2 ปี จนสิ้นสุดวาระของรัฐบาลนี้
จะทำได้จริงหรือไม่ ? และหลังจาก 2 ปีผ่านไปแล้ว รัฐบาลหน้าจะหาเงินมาจากไหน ? ต้องติดตาม !
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย หมายความว่า
ผู้โดยสารจ่ายเพียง 20 บาท จะขึ้นลงรถไฟฟ้าสายไหน สีไหน กี่เที่ยวก็ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 2 ชั่วโมง เป็นต้น
หลังจากมีการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย
มาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ผ่านไปเกือบ 1 ปีแล้ว กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะใช้อัตราค่าโดยสารนี้ให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี ไม่เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงที่เป็นการลงทุนโดยภาครัฐ 100% ซึ่งสามารถลดค่าโดยสารได้ง่าย เพราะไม่กระทบต่อรายได้ของเอกชนดังเช่นรถไฟฟ้าสายที่มีเอกชนร่วมลงทุน
ในกรณีรถไฟฟ้าสายที่มีเอกชนร่วมลงทุน หากกระทรวงคมนาคมจะลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย รายได้ของเอกชนจะลดลง เป็นผลให้รัฐจะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงคืนให้เอกชน มิฉะนั้น เอกชนจะไม่ยอมลดค่าโดยสารแน่นอน
กระทรวงคมนาคมคำนวณว่าจะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนปีละประมาณ 8 พันล้านบาท แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะพอ คาดว่าจะต้องใช้เงินมากกว่าปีละ 8 พันล้านบาท
กระทรวงคมนาคมแจงว่าในขณะนี้มีเงินพอที่จะชดเชยเอกชนได้ 2 ปี เป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้จากการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยได้รับส่วนแบ่งมาจากเอกชนผู้รับสัมปทาน
ผมได้ตรวจสอบส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวแล้ว พบว่าตั้งแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคือปี 2547 รฟม.มีส่วนแบ่งรายได้ ดังนี้
(1) ถึงสิ้นปี 2566 มีส่วนแบ่งรายได้ 17,705 ล้านบาท
(2) ถึงสิ้นปี 2567 มีส่วนแบ่งรายได้ 21,517 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)
(3) ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2568 (ก่อนเริ่มเก็บ 20 บาท ทุกสายทุกสีในเดือนกันยายน 2568) มีส่วนแบ่งรายได้ 24,860 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)
ด้วยเหตุนี้ หากจะต้องชดเชยให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาทจริง ก็มีเงินใช้พอประมาณ 3 ปี แต่ผมคาดว่าจะต้องชดเชยให้เอกชนมากกว่าปีละ 8 พันล้านบาท
และคาดว่าจะสามารถชดเชยให้เอกชนได้ปีเศษถึง 2 ปีเท่านั้น
หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะหาเงินมาจากไหน เพราะเมื่อเริ่มใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้ว รฟม.จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเอกชนอีกต่อไป มีแต่จะต้องชดเชยรายได้ให้เขาเท่านั้น
อีกทั้ง หากกระทรวงคมนาคมต้องการจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนจะต้องใช้เงินอีกก้อนใหญ่
ดูไปแล้วกระทรวงคมนาคมจะต้องแบกภาระทางการเงินหนักจริงๆ จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติดที่เรียกกันว่าค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing) ตามที่กระทรวงคมนาคมคิดไว้ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
ที่สำคัญ หากกระทรวงคมนาคมจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน จะต้องเลิกขยายสัมปทานให้เอกชนทุกราย รวมทั้งเอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนด้วย เพื่อทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าผ่านทางด่วนถูกลง เป็นการลดภาระค่าครองชีพ
ของพี่น้องประชาชน
โดยสรุป ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ผมยังไม่แน่ใจ หรือยังมีคำถามดังนี้
(1) จะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี 20 บาทตลอดสาย ได้ทันเดือนกันยายน 2568 เป็นต้นไปจริงหรือ ?
(2) การคำนวณเงินชดเชยรายได้ให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาท ถูกต้องหรือไม่ ? ประเด็นนี้คงไม่ง่ายที่จะเจรจาตกลงกันได้ เพราะจะต้องคำนวณหา
รายได้ที่ลดลงของเอกชนแต่ละรายให้เป็นที่ยอมรับของทั้งกระทรวงคมนาคมและเอกชนผู้รับสัมปทาน
(3) จะทำอย่างไรให้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ยั่งยืน ? ไม่ใช่ทำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ อยากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกปัจจัยอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่จะทำให้นโยบายเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย ล้มเหลว และที่สำคัญ จะต้อง
ไม่ทำให้คนที่ปูเสื่อรอต้องผิดหวัง !”
สรุป
พิจารณาข้อมูลรายละเอียดแล้ว หรือว่า นโยบายนี้ จะแค่ “ขายฝัน” อีกแล้ว ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี